อ่านตาเธอไม่ออก: โอบกอดในช่องว่างระหว่างวัฒนธรรม

Can't Read Your Eyes: an embrace in the space between cultures

Written By

วริศ ลิขิตอนุสรณ์ | Varis Likitanusorn

Translated by

ปาลิน อังศุสิงห์ | Palin Ansusinha

ฝ่าเท้าจุ่มลงน้ําควันฉุย กระดูกคลายปวดหนาว เลือดสูบฉีดจากเอวขึ้นใบหน้า อุ่นยะเยือก อะไรที่ร่างกายไม่เคยรู้สึกที่บ้านเกิด ได้รู้สึกขึ้นที่นี่

1

เมื่อเดือนกรกฎาคม 2019 Democrazy Theatre Studio คณะละครโรงเล็กในกรุงเทพฯ เดินทางไปโยโกฮามาเพื่อแสดงงานชิ้นหนึ่งชื่อ The Retreat ผมติดสอยห้อยตามไปเป็นพยานในการแสดงครั้งนั้น รู้ตัวอีกทีแสตมป์บนหนังสือเดินทางก็บอกว่าสถานะของพวกเราคือ ‘Entertainer’ และมีป้ายชื่อเรียกพวกเราว่า ‘Artist’ ไม่แน่ใจ ความรู้สึกแปลกๆ ยังคงเกิดขึ้นจนทุกวันนี้ ทุกครั้งที่นึกว่าเอกสารเหล่านั้นกำลังพูดถึงตัวผมเอง

The Retreat เป็นงานเต้นที่นักเต้นกับนักออกแบบร่วมกันค้นหาความเป็นไปได้และข้อจำกัดทั้งในและนอกร่างกายของพวกเขา งานเต้นชิ้นนี้ต้องการจะเต้นจนเผชิญหน้ากับ ‘ความเป็นอื่น’ ที่ซ่อนอยู่ในความเคลื่อนไหวของชีวิตประจำวัน ในขณะที่ทุกคนร่วมกันค้นหาเป็นเวลาข้ามปี บทบาทของผมคือนั่งดูและพูดคุยถึงมัน เราเรียกบทบาทนี้ว่า ‘dramaturg’ (ดรามาเติร์ก-ไม่มีคำแปล)

ดรามาเติร์กมักจะหายใจอยู่ข้างๆ ศิลปินในฐานะ ‘ผู้เชี่ยวชาญด้านศิลปะการละคร’ แต่ผมไม่มีคุณสมบัติใดๆ ที่จะเรียกได้ว่าเชี่ยวชาญ ไม่ใกล้เคียงแม้จะเป็น ‘คนใน’ ต่อโลกศิลปะหรือการแสดง ผมเพียงแค่รับหน้าที่นำอากาศจากที่อื่นมาหายใจร่วมกับมัน คุยกับมันด้วยโลกทัศน์แบบอื่นๆ ภายใต้คำเรียกว่าดรามาเติร์ก สถานะจริงๆ ของผมต่องานชิ้นนี้คือคนนอกที่อยู่ข้างใน เหมือนทูตที่ปลอดภัยแม้จะไม่เป็นเหมือนคนใน และได้ไปอยู่ข้างในเพราะเป็นคนนอก นั่นคงเป็นต้นตอความรู้สึกแปลกที่ผมมีต่อการถูกนิยามว่าเป็น Entertainer หรือ Artist เหมือนกับคนอื่น เพราะมันกำลังยกเลิกความเป็นคนนอกของผม ยกเลิกความแตกต่างที่เคยทำให้เรามาเป็นเพื่อนกันตั้งแต่แรก

หนึ่งสัปดาห์ในโยโกฮามา พวกเราใช้ชีวิตอยู่กับศิลปิน นักเต้น นักแสดง ผู้จัด ภัณฑารักษ์ คนนานาชาติในเทศกาลละครนานาชาติที่ต่างคาดหวังว่าทุกคนจะเป็นคนในจากที่ไหนสักแห่งเหมือนๆ กัน มันแสดงออกผ่านการถามไถ่กันด้วยคำถามซ้ำๆ ว่า คุณกำลังทำโปรเจกต์การแสดงเรื่องอะไรอยู่ คุณมีพื้นที่สำหรับการแสดงไหม สนใจโชว์อะไรเป็นพิเศษในเทศกาลนี้ (ซึ่งผมไม่สนใจอะไร) คุณสมัคร residency1 ทุนมอบให้ศิลปินพำนักเพื่อสร้างงานศิลปะหรือวิจัยค้นคว้าเกี่ยวกับ/ด้วยวิธีการแบบศิลปะ ที่ไหน คําถามเหล่านี้ผมไม่มีอะไรจะตอบ การตอบว่าไม่รู้ ไม่เข้าใจ ไม่ได้ทํา กลายเป็นเหมือนความผิดบาปที่ลุกโชนอยู่ในดวงตาของพวกเขา

เมื่อป้ายชื่อติดคำว่า Artist เอาไว้ ผมหมดสถานะทูตที่จะแตกต่างอย่างปลอดภัยหรืออยู่ข้างในเพราะเป็นคนนอก ตอนนี้ผมถูกนับรวมเป็นคนใน ถูกคาดหวังแบบคนใน อยู่ข้างในเพราะเป็นคนใน และดูน่าผิดหวังในฐานะคนในที่ล้มเหลว เรื่องน่าประหลาดคือผมกลับค่อยๆ รู้สึกว่าตัวเองเป็นคนในที่น่าผิดหวังและล้มเหลวตามไปด้วย ความรู้สึกนี้เข้าขั้นวิกฤติ หนึ่งสัปดาห์ในโยโกฮามา ผมไม่หลุดพ้นออกจากคำถามวกวนว่าตัวเองเป็นอะไรกันแน่ ทั้งที่ก็เป็นแบบเดียวกับตอนที่เราเป็นอยู่ในกรุงเทพ และเราหรือใครก็ไม่ได้มีปัญหากับมัน

ทำไมสิ่งเดิมในสภาพแวดล้อมอื่นถึงได้มีคุณค่าต่างกันเหลือเกิน?

สีแดงคงจะจ้าขึ้นเมื่อมันอยู่ใกล้สีเขียว นึกย้อนกลับไปก่อนหน้านั้นในกรุงเทพ ผมหายใจอยู่ในอากาศเดียวกับคนที่ต่างก็ดูมีความสุขกับร่างกายของตัวเอง นักเต้น พวกเขาใช้ร่างกายเป็นอาชีพหรือเรื่องสนุก ปรากฏตัว เคลื่อนไหว สัมผัส และตอบรับกันไปมาได้อย่างวิจิตร ในเวลาเหล่านี้ผมไม่รู้สึกถึงปัญหาที่ตัวเองไม่ได้เป็นศิลปิน แต่กลับน้อยใจที่ร่างกายไม่ได้เป็นเหมือนกลุ่มกายตรงหน้า ผมเป็นคนเฉื่อยชาไม่ได้สัดส่วน ยิ่งพวกเขาใช้ร่างกายได้ดี ผมก็ยิ่งรู้สึกว่าตัวเองมีปัญหา ยิ่งมองพวกเขากอดรัดฟัดเหวี่ยงกันด้วยความสนุกสนานบ่อยครั้งเข้า ก็ยิ่งเห็นว่าตัวเองไม่เคยกล้ายอมรับสัมผัสจากคนอื่นเลย ตอนนั้นไม่มีใครคาดหวังให้ผมเป็นเหมือนเขา แต่แค่การสัมผัสอยู่กับความเปรียบต่างที่เข้มข้นก็อาจส่งผลให้ตัวเราอ่อนไหวได้เช่นกัน

สัมผัสจากคนอื่นมีความหมายผกผันไปตามคุณค่าที่เรามอบให้ร่างกายตัวเอง2 เช่น เมื่อตำรวจจับแขนเราในโรงพัก แต่เรารู้ว่าวันนี้เรามาเป็นผู้เสียหาย เราก็จะไม่รู้สึกตกใจมากเท่าคนที่เป็นผู้ต้องหา หากเราเป็นคนจน สัมผัสกับทองก็จะรู้ห่างไกล หรือรู้สึกถึงการเลื่อนสถานะของตัวเอง ในขณะที่คนรวยหรือพนักงานร้านทองที่จับทองที่ไม่ใช่ของตัวเองทุกวันก็จะไม่รู้สึกอย่างเดียวกัน ในขณะเดียวกัน คุณค่าของเราก็เกิดจากภาพสะท้อนในสายตาอื่นด้วย เราไม่อยากรับรู้ภาพสะท้อนของเราในสายตาใดๆ ที่จะทำให้เห็นขึ้นมาว่าตัวเราเองน่าผิดหวัง การกอดคนอื่นเป็นไปได้ยากในวันที่เรารู้สึกรังเกียจตัวเอง รังเกียจเหงื่อไคลที่ยังไม่ได้ล้างออก มันน่ากลัวถ้าเขาจะมีอาการให้เรารับรู้ได้ว่า เขาก็รังเกียจเราเหมือนกัน

ร่างกายของผมก็ไม่ได้สัดส่วนเหมือนเดิม แต่มันอ่อนไหวจนรู้สึกแย่ลงทุกครั้งที่เฝ้ามองร่างกายของนักเต้น ผมไม่เคยมีคุณสมบัติอะไรที่จะเป็นคนในต่อโลกศิลปะ มันเคยเป็นจุดเริ่มต้นของมิตรภาพ แต่ก็อ่อนไหวจนกลายเป็นปัญหาเมื่ออยู่ในสภาพแวดล้อมที่ทุกคนถูกคาดหวังให้เป็นคนใน เราต่างอ่อนไหวต่อช่องว่างที่เกิดขึ้นจากความแตกต่าง และบางครั้งก็อ่อนไหวจนต้องทำอะไรสักอย่าง

2

ย้อนกลับมาที่กรุงเทพ หญิงวัยประมาณสามสิบนั่งลงข้างๆ ผมในงานเลี้ยง เธอมาช้า ยังหาเพื่อนไม่เจอ และตอนนั้นยังไม่มีที่นั่งที่ดีกว่านั้น โอเค เราต้องคุยกัน เธอเป็นภัณฑารักษ์ชาวฮ่องกง สำเนียงอเมริกัน มารยาทเหมาะสม ทำงานนานาชาติ ไม่ต้องบอกก็รู้ ส่วนผมแนะนำตัวเองตามงานที่ทำอยู่ตอนนั้นคือเป็นนักวิจัย กำลังวิจัยเรื่องการสื่อสารระหว่างวัฒนธรรมที่เกิดขึ้นในศูนย์ฝึกเยาวชน3 เรียกลวกๆ ว่าคุกเด็ก เธอถามว่าระหว่างวัฒนธรรมอะไรกับอะไร? ผมตอบว่าบางทีก็ระหว่างรุ่น บางทีก็ระหว่างภูมิภาค บางทีก็ระหว่างชนชั้น บางทีก็ระหว่างคนกับสิ่งของ สบู่ ห้องน้ำ4 สบู่และน้ำที่ไม่ดีส่งผลต่อสภาพผิวของเยาวชนในศูนย์ นั่นทำให้พวกเขาคัน เกา เกิดโรคระบาด และทำให้รักษาวินัยตามที่ศูนย์ฯ คาดหวังไม่ได้ เพราะกำลังเกาอยู่ตลอดเวลา

เธอไม่เข้าใจว่าสิ่งนี้หมายถึง ‘ระหว่างวัฒนธรรม’ ได้อย่างไร วัฒนธรรมสำหรับเธอคือระหว่างไทยกับกัมพูชา ศรีวิชัยกับล้านนา อาจจะไม่ อาจจะมากกว่านั้น มันต้องระหว่างจีนกับอเมริกา ส่วนคนแถวๆ นี้ในย่านสุวรรณภูมิและรอบๆ ที่ผิวไคลใบหน้าคล้ายๆ กัน กินเหมือนๆ กัน เล่นทะเลน้ำเดียวกัน มันจะมีอะไรต่างกันให้ศึกษาไปเสียได้ เธอคงคิดในใจว่าผมไม่แม่นคำศัพท์ และดูเหมือนจะส่งสายตามาถามย้ำว่า มึงทำอะไรอยู่กันแน่

วันนั้นนึกขึ้นได้ว่าคำว่า ‘วัฒนธรรม’ ที่ผมใช้มันเล็กเกินไปในสายตาของแวดวงนานาชาติ (แวดวงที่มักจะเห็นอะไรจาก ‘bird eyes’ view’ หรือมองเห็นอะไรจากที่ไกลๆ สูงๆ จากมุมนั้นพวกเราจะกลายเป็นจุดเล็กๆ ที่เหมือนๆ กันไปหมด) แต่เสียงในงานเลี้ยงมันดังจอแจ เธอแต่งตัวดี มีมารยาทบนโต๊ะอาหารเรียบร้อย องค์ประกอบเหล่านี้ ชวนให้คิดไปเองได้ว่าไม่มีใครพร้อมจะแลกเปลี่ยนกันอย่างจริงจัง ผมจึงไม่อธิบายว่าทำไมผมถึงใช้มันอย่างนั้น เธอคงคิดว่าผม ‘ทำเป็นอวดดีทั้งที่ยังไม่เข้าใจคำง่ายๆ อย่างวัฒนธรรมด้วยซ้ำ’ ในขณะที่ผมขอความร่วมมือกับคนไทยคนข้างๆ แกล้งคุยกันเหมือนมีธุระท้องถิ่น ขาดสำนึกในความเป็นพลเมืองโลก แล้วปล่อยให้การแลกเปลี่ยนที่ควรจะเกิดขึ้น หายไป

ความเคยชินกับการใช้คำว่า ‘วัฒนธรรม’ ในความหมายที่เล็กแบบนั้น น่าจะเกิดขึ้นเพราะผมเคยหมกมุ่นอยู่กับความคิดกระแสหนึ่งที่ชื่อว่า the ontological turn5 ผมแปลมันว่ากระแสภววิทยาร่วมสมัย เข้าใจว่าเริ่มเป็นบทสนทนาตั้งแต่ปี 2010 จนปัจจุบัน ลองดู Bruno Latour, We have never been modern และ The Power of Association และดูเกี่ยวกับ Actor-Network Theory. Philippe Descola, Beyond Nature and Culture. และ ดูเกี่ยวกับ STS (Science and Technology Studies). นี่ไม่ใช่ทั้งหมด แต่เป็นย่านที่ผมนึกถึงบ่อย แนวคิดนี้พูดถึงการกลับเข้ามาตั้งคำถามต่อสิ่งต่างๆ ว่า ‘มันคืออะไร?’ หรือ ‘มันเป็นอย่างไร?’ ก่อนจะก้าวออกไปตั้งคําถามอื่นๆ มากกว่านั้น6 เช่น เราอาจตั้งคำถามว่า วัวคืออะไร? คำตอบหนึ่งน่าจะเป็น มันเป็นสัตว์ สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม หรือคำตอบที่ดูเหมือนจะเป็นวิทยาศาสตร์ แต่ถ้าเราตั้งคำถามอีกครั้งโดยให้วัวเกี่ยวข้องกับความหมายอื่นๆ ด้วยว่า ‘วัวคืออะไรสำหรับชาวนา’ วัวอาจเป็นทั้งสินค้า เป็นทั้งเพื่อน เป็นทั้งอาหาร เป็นทุกอย่างพร้อมๆ กัน และเป็นความสับสนสำหรับชาวนาที่ผูกพันกับวัวมากเกินไปจนในวันหนึ่งเศรษฐกิจล้มต้องขายวัวครึ่งตัวและอีกครึ่งตัวเก็บไว้กิน ชาวนาคนนี้ไม่รู้จะขอบคุณหรือขอโทษเพื่อนดี หรือว่า ‘วัวคืออะไรสำหรับแมลงตัวเล็กๆ ที่ตอมขี้’ วัวก็คงจะไม่ใช่อะไรเลยที่มีความหมาย มันคงใหญ่เกินไป มันมีชีวิต มีความร้อน และเมื่อมีสิ่งนี้อยู่ใกล้ๆ แมลงก็จะพบกับสิ่งที่ตัวเองต้องการในพื้นที่และเวลาใกล้เคียง นี่คือวัวสำหรับแมลง การมองสิ่งต่างๆ บนพื้นฐานความเป็นไปของ ‘มัน’ มากกว่าการตัดสินมันตามประเภทหมวดหมู่ (ที่พวกเราเป็นคนตั้งให้มันเอง) ทำให้ ‘มัน’ เหล่านั้นถูกมองได้ว่าต่างกำลังอาศัยอยู่ในวัฒนธรรมส่วนตัวของมันเอง บุคคล ต้นไม้ มวลในก้อนหิน หรือจุลชีพ ต่างกําลังมีความเป็นไปหรือวัฒนธรรมของตัวเองที่ซับซ้อนและเฉพาะตัวมากกว่าประเภทหรือสถิติที่เราจัดไว้ให้ การมีหรือไม่มีอารยธรรมมนุษย์เข้ามาเกี่ยวข้องไม่ได้เป็นลักษณะพิเศษที่จะทําให้สิ่งใดเกิดความพิเศษมากไปกว่าความพิเศษของสิ่งอื่น วัฒนธรรม ธรรมชาติ พฤติกรรม จึงถูกมองอยู่ในระนาบเดียวกัน ทุกสิ่งเหลือเพียงความเป็นไปที่เฉพาะตัวของมัน

ในแนวคิดแบบนี้ การมอบหมายประเภทให้กับสิ่งต่างๆ และตัดสินมันอย่างชัดเจนจนเกินไปเป็นสิ่งที่หยาบคาย เหมือนกับคุณไปถามเพื่อนเกย์ของคุณว่า ‘ไหนวันก่อนว่าชอบผู้หญิง’ หรือไปถามชู้รักของคุณว่า ‘เวลาอยู่กับลูก ทำแบบนี้หรือเปล่า’ มันคือการ ‘ขัง’ พวกเขาให้อยู่แต่ในนิยามที่คุณสร้างขึ้นมา ความเป็นไปอันซับซ้อนของเขาไม่ได้ถูกคุณมองเห็นเลย

สงสัยผมคงจะใช้คำว่า ‘วัฒนธรรม’ แทนการหมายถึง ‘ความเป็นไป’ จนเคยชิน การให้ความหมายว่าสิ่งต่างๆ มีวัฒนธรรม ทำให้ผมรู้สึกว่าเรากำลังจะศึกษามันเหล่านั้นด้วยความระมัดระวังเท่าๆ กับที่เราศึกษาวัฒนธรรมของมนุษย์ ลองพูดว่า ‘เราจะศึกษาพฤติกรรมของสุนัข’ หรือ ‘เราจะศึกษาธรรมชาติของสุนัข’ ทั้งสองอย่างนี้ให้ความหมายไปในทางวิทยาศาสตร์ แต่หากเราบอกว่า ‘เราจะศึกษาวัฒนธรรมของสุนัข’ มันกลับดูเหมือนว่าการศึกษาสุนัขครั้งนี้มีความระมัดระวังแบบมนุษยศาสตร์หรือสังคมศาสตร์อยู่ด้วย ความระมัดระวังนี้เองที่ผมจินตนาการเอาไว้ว่าจะทำให้เรามองเห็น ‘คำถามใหม่’ ในการศึกษาสิ่งต่างๆ ส่วนคำว่าวัฒนธรรมของเธอ มันอาจเป็นคำที่ใช้แยกสภาวะที่มนุษย์เป็นผู้จัดการทุกอย่างได้ (culture) ออกจากธรรมชาติที่มนุษย์จัดการไม่ได้ (nature) และยังแบ่งย่อยเข้าไปอีกว่าคำวัฒนธรรมคือคำที่ใช้เรียกกลุ่มสังคมและอารยธรรมใหญ่ๆ เท่านั้น คำว่า culture มีความหมายแบบนี้ในโลกวิชาการตะวันตก และดูเหมือนกับว่าความต้องการจะอยู่ในระบบความหมายแบบนั้นจะทำให้เธอต้องจัดระเบียบคำว่าวัฒนธรรมของผม ก่อนที่จะ (ไม่ได้) ถามว่า ผมกำลังใช้คำว่าวัฒนธรรมพูดถึงอะไร

การแยกธรรมชาติออกจากวัฒนธรรมเป็นหนึ่งในแนวคิดที่ถูกวิจารณ์ว่าทำให้เราตาบอดจากการมองเห็นความเป็นไปที่เกิดขึ้นตรงหน้า แทนที่เราจะแบ่งประเภทสิ่งต่างๆ แล้วมองมันได้ละเอียดขึ้น เรากลับมองมันได้หยาบลง เพราะเห็นมันผ่าน ‘แว่นของประเภท’ มากกว่าเห็นตรงไปที่ ‘ตัวมันเอง’ เราจึงจะไม่เจอ ‘คำถามใหม่’ ในการศึกษา (อย่างที่เราไม่เจอมาพักใหญ่ๆ ในแวดวงวิชาการไทย7 ทุกครั้งที่รัฐบาลทหารมีความเคลื่อนไหว นักวิชาการไทยก็จะออกมาพูดอะไรที่เดาได้เหมือนเดิม จนใช้หุ่นยนต์แทนก็ได้) การไม่เจอคำถามใหม่ไม่ได้หมายความว่าเราพบคำตอบแล้ว แต่หมายความว่าเรากำลังเผชิญหน้ากับทางตัน กับตรรกะที่วกวนไปมาในตัวเอง เพราะเราไม่เคยยอมมองเห็นผู้เล่นที่แท้จริงในแต่ละปัญหาซึ่งจะซับซ้อนกว่าสิ่งที่เรามองเห็นผ่านแว่นของประเภทเสมอ การกลับมาถามคำถามว่า ‘มันคืออะไร/เป็นอย่างไรกันแน่?’ จึงเป็นหัวเชื้อที่สำคัญต่อการเกิดคำถามใหม่นั้น และเธอ (ภัณฑารักษ์) ก็จะไม่มีวันได้พบกับคำถามใหม่ หากยังคงให้ความสำคัญกับแว่นของประเภท (จัดระเบียบคำว่า ‘วัฒนธรรม’ ที่ผมใช้) มากกว่าความเป็นไปของตัวมัน (หาความหมายของคำว่า ‘วัฒนธรรม’ ที่ผมกำลังสื่อสาร)

ไม่แน่ว่าเธออาจเป็นแบบที่ผมว่า หรือไม่ใช่?

ผมอาจลืมไปว่าเธอก็เป็นคนที่รู้และมีอีกตัวตนอยู่ในอีกภาษาหนึ่ง หรือเธอก็แค่กำลังพยายามจะเข้าใจผมมากขึ้น แต่การไปตัดสินเธอแบบนั้นทำให้ผมไม่มีวันได้เข้าใจเธอเลย หรือไม่ใช่? เป็นเรื่องแปลกที่คําว่า ‘วัฒนธรรม’ คําเดียวนี้ ดูเหมือนจะไม่เคยถูกเข้าใจตรงกัน วิธีคิดเรื่องอะไรคือ ‘วัฒนธรรม/ไม่ใช่วัฒนธรรม’ แบบตะวันตกของเธอ ไม่เคยมีอยู่ในญี่ปุ่นจนกระทั่งปลายยุคเมจิ8 Jensen, Casper Bruun and Atsuro Morita (2017), ‘Introduction: Minor Traditions, Shizen Equivocations and Sophisticated Conjunctions,’ Social Analysis (Special issue: Multiple Nature-Cultures, Diverse Anthropologies) 61(2): 1-15. ญี่ปุ่นพบกับปัญหาในการแปลคําว่า nature มาเป็นภาษาของตัวเองเพราะคําที่พูดถึงธรรมชาติอย่างเดียวโดยไม่มีมนุษย์อยู่ในนั้นเลย ไม่เคยมีอยู่ในภาษาญี่ปุ่น ต้องใช้เวลาเกือบ 50 ปีในการหาคําที่ลงตัวจนมีความหมายเท่ากับ ‘ธรรมชาติล้วนๆ’9 แปลออกมาเป็น shizen (自然, ziran ในภาษาจีน) แปลว่า ธรรมชาติ ซึ่งเป็นคู่ตรงข้ามของ ‘sakui’ ((作為) ) ที่แปลว่า ‘วัฒนธรรม’ หรือ ‘สิ่งสร้าง’ สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นถึงโลกทัศน์ที่แตกต่างอย่างถึงราก การสื่อสารที่ถูกบันทึกไว้ด้วยความเข้าใจภาษาจาก คนละโลกย่อมกําลังเล่าถึงสิ่งที่แตกต่างกันอย่างเด็ดขาดอีกด้วย10 เช่น งานเขียนมานุษยวิทยาญี่ปุ่นบางชิ้นไม่มีการสรุปหรือตีความตามโครงสร้างฝรั่ง มีแค่เพียงการบันทึกเอาไว้ว่าผู้บันทึกมองเห็นอะไรเฉยๆ ขออภัยที่ผมจำไม่ได้แล้วว่าจะหาเอกสารชิ้นนั้นได้ที่ไหน เพราะไม่ใช่แค่คํา แต่เป็นโลกทั้งใบที่ไม่เหมือนกัน

ในภาษาไทย เรามีคําว่าธรรมชาติที่หมายถึงความเป็นไป ส่วนคําว่าวัฒนธรรมที่มาทีหลังหมายถึงความเป็นไปที่มีวิวัฒนาการขึ้นแล้วโดยมนุษย์ คล้ายว่าเรากําลังอยู่ในเรื่องราวการแปลที่ใกล้เคียงกับญี่ปุ่น ‘วัฒนธรรม’ คงถูกสร้างขึ้นมาล้อคู่ไปกับ culture แต่คําว่าวัฒนธรรมที่ถูกใช้จริงในภาษาไทยกลับหมายถึงระบํารําฟ้อนราชาศัพท์ สิ่งที่แม้แต่คนไทยเองก็ไม่ได้ผูกพันในชีวิตประจําวัน ตลาดเพศยามค่ำคืนในสีลมพัทยากลับดูตลกเมื่อเรา ‘จะไปท่องวัฒนธรรมพัทยาคืนนี้’ (แม้มันจะเป็นวัฒนธรรมไทยที่ใหญ่ที่สุดในสายตาโลก)

ช่องว่างระหว่างภาษา ขนบ ร่างกาย หรือสิ่งใดๆ เกิดขึ้นเพราะความแตกต่างอย่างเด็ดขาดมีอยู่ระหว่างกัน และมีอยู่แม้ในคําว่า ‘วัฒนธรรม’ ที่ดูเหมือนจะเป็นคําตายตัว น่าแปลกที่ความแตกต่างอย่างเด็ดขาดเหล่านี้กลับไม่ใช่สิ่งที่มองเห็นได้ชัดเจนในทันที ในทางกลับกัน ความชัดเจนที่เห็นกลับกลายเป็นเพียงภาพสะท้อนของสิ่งที่เรา กําลังมองอยู่ภายในดวงตาของเราเอง ไม่ใช่การสัมผัสกับสิ่งนั้นอย่างที่มันเป็น ความชัดเจนกลายเป็นมายา แต่ช่องว่างกลับบ่งชี้ถึงความเป็นไปของแต่ละสิ่งที่กําลังมีอยู่

ในช่องว่างเหล่านี้เอง สิ่งใหม่จะมีอากาศหายใจ

3

เทศกาลโยโกฮามามอบบัตรเครื่องดื่มเอาไว้ให้พวกเราใช้สังสรรค์กับเพื่อนๆ บาร์แห่งนั้นเปิดรออยู่ทุกคืน แต่ผ่านมาจนคืนสุดท้ายบัตรก็ยังเหลืออยู่เต็มมือ ผมตอบตัวเองไม่ได้ว่าจะไปทําอะไรที่บาร์ อย่างที่ว่า สถานะทูตที่จะเป็นคนนอกอย่างปลอดภัยไม่มีอยู่แล้ว ตอนนี้ผมเป็นเพียงคนในที่ล้มเหลว ไม่มีอะไรจะถามและไม่มีอะไรจะตอบ ไม่มีอะไรอยากได้และไม่มีอะไรจะให้ ผมยกบัตรให้เพื่อน ส่วนตัวเองคงจะเดินเล่นดูอะไรไปเรื่อยในคืนนี้

ใน Blued11 แอพพลิเคชั่นเข้าสังคมของเกย์ ครึ่งหนึ่งเป็นคนที่เข้ามาร่วมงานเดียวกัน อีกครึ่งหนึ่งเป็นคนพื้นที่ที่ไม่พูดภาษาอังกฤษ ผมเปิดหน้าจอนั้นสลับกับผลการค้นหาสถานที่ของเกย์ในโยโกฮามา เลื่อนดูไปเรื่อยๆ ว่าจะมีใครหรืออะไรอยู่รอบๆ ให้พอพูดคุยได้ พูดคุยคนละแบบกับที่ต้องคุยในบาร์แห่งนั้น อาจจะพบกับคนธรรมดาสักคนที่มากินดื่มอยู่ที่นั่น ไม่ได้มีโครงการอะไร ไม่แน่ว่าคนที่นี่อาจมีรสนิยมทางเพศต่างออกไปจากคนในกรุงเทพ ผมอาจบรรเทาความอ่อนไหวได้ ด้วยการเห็นเงาสะท้อนของตัวเองที่ดีกว่าอยู่ในดวงตาของคนอื่นจากอีกซีกโลกหนึ่ง เราต่างจะเป็นคนใหม่ในสายตาของกันและกัน อาจจะลืมสิ่งที่ไม่อยากจํา

ผมกลับห้อง ทําตัวให้ดูดีขึ้นนิดหน่อย รอคอยเสียงจากโทรศัพท์ที่ไม่มีอะไรตอบรับกลับมา สิ้นไร้ไม้ตอก ข้อสันนิษฐานและความฝันเฟื่องเดิมๆ เลือนรางลง ‘คนญี่ปุ่นคงไม่ค่อยสุงสิงกับคนต่างชาติ’ ผมคิด ตอนนั้นคงอ่อนไหวจนต้องการมากกว่าบทสนทนา ผมต้องการอะไรสักอย่างมาทําให้ข้อสันนิษฐานสักข้อเป็นจริง Google Map บอกว่าให้เดินออกจากโรงแรม ข้ามสะพานไปฝั่งตรงข้าม ใช้เวลาไม่ไกลเกินห้านาที ถึงหมุด ที่ตรงนี้ควรจะมีบาร์ชื่อ (สมมติ) ว่า Lazer แต่ไม่มี เดินเอะใจวนไปวนมาแถวนั้นราวครึ่งชั่วโมง ถอนหายใจ เดิน แล้วก็ถอนหายใจ บาร์ที่ว่าคงย้ายไปแล้ว ผมกลับมายืนตั้งหลักที่หมุด จุดบุหรี่แล้วตั้งใจจะเดินกลับห้อง เรื่องราวคงจบลงเพียงเท่านี้

ย่างเท้าแค่ก้าวเดียว แสงสีรุ้งสาดลงพื้นหนึ่งระยิบแล้วหายไป ชาวญี่ปุ่นผิวขาวใส่ผ้าปิดปากเดินเลียบตึกแถวมาหยุดอยู่ข้างหลังผม เขามองซ้ายมองขวาก่อนเปิดประตูหายเข้าไปในบันไดมืด ท่าทางของเขาไม่เหมือนคนกลับบ้าน ผมขยับมายืนอยู่ตรงหน้าประตูบานนั้น มองใกล้เข้าไป เห็นตัวอักษรขนาดเล็กกว่าวันหมดอายุบนกล่องนม อ่านว่า ‘L a z e r’

สรุปว่าเป็นที่นี่ มันมีอยู่ ซ่อนตัว แต่ก็ไม่ได้อยากจะหายไป เพียงแต่ ‘บอกใบ้’ ถึงความมีอยู่ของมันเท่านั้น ไม่รู้ว่าสถาปัตยกรรม พื้นที่ หรือตัวอักษรเหล่านี้กําลังเล่าอะไรเกี่ยวกับสังคมเกย์ในญี่ปุ่นอยู่หรือไม่ หรือมันกําลังเล่าอะไรเกี่ยวกับสถานที่ของคนชายขอบทั่วๆ ไป ที่ไม่สามารถถูกมองเห็น แต่ก็ไม่สามารถสูญหายไป

ในเรื่อง Shoplifters (2018) ณ ชานเมืองโตเกียว คนชายขอบกลุ่มหนึ่งมารวมตัวกันคล้ายครอบครัวอยู่ในบ้านเพิง คุณยายเจ้าของบ้านตกลงให้สมาชิกในบ้าน12 คนขายบริการทางเพศ ขโมย แรงงานราคาถูก คนงานก่อสร้าง เด็กกำพร้า ฯลฯอยู่อย่างหลบๆ ซ่อนๆ จากเจ้าหน้าที่รัฐเพื่อรับเบี้ยคนชราและหลีกหนีค่าใช้จ่ายกับบทลงโทษอื่นๆ วันหนึ่งคุณยายตาย ไม่มีใครสามารถไปแจ้งอะไรได้ พวกเขาต้องขุดหาที่ซ่อนร่างกายของคุณยายจนเหมือนฆาตกรรมอําพรางมากกว่าการอาลัยรัก

คู่รักคู่หนึ่งฝึกเด็กกําพร้าให้ช่วยที่บ้านด้วยการลักเล็กขโมยน้อยจากร้านค้า พวกเขาผูกพันกันด้วยกิจวัตรเหล่านี้ วันหนึ่งเด็กถูกจับ คู่รักไปประกันตัว แต่ไม่สําเร็จ พวกเขาหลบหนีจากโรงพัก เด็กคนนั้นกลับคืนพ่อแม่เดิม และถัดมาได้รับอภิสิทธิ์ที่จะไม่ต้องทําผิดหลบๆ ซ่อนๆ อีกต่อไป เลื่อนสถานะกลับเป็นคนชั้นกลางในเมือง ส่วนคู่รักถูกจับตัว เป็นเรื่องปวดหัวใจที่ภาพยนตร์แสดงให้เห็นถึงความคิดของคู่รักคู่นี้ที่จินตนาการไปแล้วว่าตัวเองกําลังเป็นพ่อหรือแม่ และกําลังจะมีภาพของครอบครัวที่สมบูรณ์เกิดขึ้นในหัวได้ แต่พวกเขาก็กลับมารู้ตัวอีกครั้งว่าทั้งลูก บ้าน และข้าวของ ไม่มีอะไรเป็นของพวกเขาเลย คนอย่างพวกเขาไม่สมควรจะเป็นพ่อหรือแม่ใคร ผู้คนในเรื่องนี้ไม่เคยแน่ใจได้ว่าพวกเขาได้เคยรักกันจริงๆ แม้แต่สิทธิที่จะมีความรักก็ยังต้องหลบๆ ซ่อนๆ อยู่ในความผูกพันของคนชายขอบเหล่านี้ ความเคลื่อนไหวหลบๆ ซ่อนๆ ของพวกเขาไม่ได้ต่างจากของสัตว์ประหลาดในเทพนิยาย มีตัวตนอยู่เสมอ แต่ไม่อยากให้มนุษย์มองเห็น

น่าแปลกที่สิ่งที่ถูกมองว่าประหลาดในสังคมญี่ปุ่นอย่าง ‘บาร์เกย์’ มีลักษณะคล้ายความยากจนใน Shoplifters คนจนกับการมีชีวิตบันเทิงของเกย์กลายเป็นสัตว์ประหลาดสําหรับมนุษย์ที่นั่น นึกขึ้นได้ว่าผมเองก็มายืนอยู่หน้าประตูบานนี้ เพราะหนีความยากจนมาจากเทศกาลละคร

4

ผมหมุนลูกบิด ย่ำขึ้นไปตามบันไดแคบๆ ได้ยินอึกน้ําลายกระทบใบหู เสียงดนตรีเล็ดรอดออกมา ใครสักคนเพิ่งเดินสวนลงไป ผมเผชิญหน้ากับกระจกเงาใบเล็กสะท้อนครึ่งบนของตัวเอง มีช่องอยู่ด้านล่าง หลังกระจกบานนั้น ใครสักคนมองออกมาและพูดภาษาญี่ปุ่น เขากดเครื่องคิดเลขยื่นให้ดูผ่านช่องด้านล่าง เป็นราคาค่าเข้า ไม่ถูกไม่แพง ผมจ่ายแลกกลับมาด้วยพวงกุญแจล็อกเกอร์ ผ้าเตี่ยว13 ผ้าแผ่นสี่เหลี่ยมสีขาวใบเดียวที่มีเชือกเอาไว้ผูกรอบเอว ปิดเพียงอวัยวะเพศด้านหน้า และผ้าเช็ดตัวผืนเล็กๆ หนึ่งผืน ผมรับ และเดินตามลูกศรบนพื้นเข้าไปข้างใน ห้องโถงเล็กๆ ตรงนี้เปิดหนังโป๊ญี่ปุ่น หนังสือโป๊จํานวนหนึ่งวางอยู่ เครื่องทําความชื้นและเครื่องทําความร้อนกําลังทํางาน ชาวญี่ปุ่นสองสามคนจัดการตัวเองอยู่กับล็อกเกอร์ คนหนึ่งเพิ่งใส่ผ้าเตี่ยว เอาพวงกุญแจรัดข้อมือ แล้วเดินขึ้นบันไดมืดๆ ไป ทุกคนที่นี่ดูเงียบและกดดัน ผมที่ยังใส่เสื้อผ้าอย่างหนาอยู่เดินตามขึ้นไปดู พบกับห้องสีดําเปิดไฟสีแดง พื้นที่ถูกกั้นด้วยแผงเตี้ยๆ ซอยเป็นห้องเล็กๆ หลายห้อง มีโถงใหญ่หนึ่งโถง ผู้คนนุ่งผ้าเตี่ยวเดินไปมา สายตาหลบหลีกสอดส่องมองหาอะไรสักอย่างและหลีกหนีจากบางอย่าง บ้างทําอะไรกันอยู่ในห้องเล็ก และบ้างนอนรอใครสักคนอยู่ในโถงใหญ่ เงียบ และกดดัน ผมเดินกลับลงมาทําใจ อ่านป้าย

ทุกคนต้องนุ่งผ้าเตี่ยวอย่างเคร่งครัด การโป๊เปลือยในที่สาธารณะเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมายญี่ปุ่น14 ห้องโถงเหล่านี้ยังคงเป็นที่สาธารณะ ส่วนถ้าปิดประตูเข้าไปในห้องซอยเล็กๆ มันจะไม่ใช่ที่สาธารณะอีกต่อไป

ป้ายบอกว่าเราต้องไม่เปลือย แต่ดูจากคนอื่นแล้ว เราก็คงต้องไม่ใส่เสื้อผ้าด้วยเช่นกัน

ตอนนั้นผมเดาว่าผู้คนในสถานที่แบบนี้อาจไม่มีเงื่อนไขอะไรมากนัก ทุกคนแก้ผ้าอยู่แล้ว การมั่วไม่น่าจะเป็นอะไรที่เกินความเป็นไปได้ และนี่อาจเป็นโอกาสให้คลายความอ่อนไหวที่เราเผชิญมาโดยตลอด ในที่ที่มีการมั่ว เราไม่ต้องเป็นใคร เราจะโอบกอดกันได้โดยไม่มีเงื่อนไข ผมกลับลงมานั่งสูบบุหรี่ทําใจ ก่อนจะจัดการให้ตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของสังคมนั้นโดยการนุ่งผ้าเตี่ยวตามกฎหมาย

พวงกุญแจไว้ที่แขนซ้ายเป็นรุก พวงกุญแจไว้ที่แขนขวาเป็นรับ
พวงกุญแจไว้ที่ข้อเท้าขวาคือไม่มีการสอดใส่ พวงกุญแจไว้ที่ข้อเท้าซ้าย … (จําไม่ได้)

ตรงนั้นมีชายใส่แว่นนอนหลับตาอยู่นิ่งๆ พวงกุญแจรัดรอบข้อเท้าขวาของเขา ผมนอนลงใกล้ๆ สะกิดขาหนึ่งทีเป็นคําถาม เขาลืมตาขึ้นมองเห็นผม แล้วหลับตาหนีไป ก่อนที่จะทําแบบนี้ ผมเดินวน คัดเลือก และทําใจอยู่ก่อนแล้วหลายนาน เขาคนนั้นไม่ได้เป็นเป้าหมายจนกระทั่งผมเริ่มเหนื่อยและคิดว่าไม่ควรมาเสียเที่ยว พวกเราหลายคนเดินวนเป็นวัฏจักรอยู่อย่างนี้ไม่จบสิ้นเพราะยังไม่เลือกใครหรือไม่มีใครเลือก และยังจะไม่เลือกกันเองด้วย ไม่นานชายใส่แว่นคนนั้นก็ลงเอยกับชายอีกคนที่ผมเพิ่งเดินผ่านโดยไม่ได้ให้ความสนใจ พวกเขาช่วยเหลือกันอยู่ตรงนั้น นั่นเป็นภาพสุดท้ายที่จําได้ในห้องสีดําแดง

ดูเหมือนว่าภายใต้เนื้อหนังที่ปลดเปลื้อง เสื้อผ้าข้างในของเราก็ยังคงอยู่ คนเราไม่ได้กลายเป็นคนไม่มีเงื่อนไข หรือ ‘มั่ว’ ได้ เพียงเพราะแก้ผ้าอยู่ในที่ที่ทุกคนแก้ผ้า สถานะ ชนชั้น ทั้งหมดนั้นของสังคมยังคงอยู่ในเนื้อตัวเราจนหยดสุดท้าย การเปิดเผยร่างกายไม่ได้หมายถึงการปลดปล่อยหรือเปิดใจเสมอไป บ่อยครั้งมันทําให้การแสดงออก กฎเกณฑ์ การตัดสิน หรือ ‘เสื้อผ้า’ ของเราหนักหนากว่าเดิม ไม่นานผมก็พบว่าห้องดําๆ ห้องนี้ไม่ต่างอะไรจากเทศกาลละคร คุณค่าของผมยังมีเท่าเดิม เป็นสัตว์ประหลาดจนๆ ตัวหนึ่ง

ผมใส่เสื้อผ้า เก็บของ บุหรี่หมดก้นหลายมวนก่อนจะกลับไปเผชิญหน้ากับกระจกบานเดิมตรงทางเข้า ทิ้งผ้าเช็ดตัว คืนผ้าเตี่ยวและพวงกุญแจกลับเข้าไปในช่องเดิม คนข้างหลังกระจกพูดขอบคุณออกมาเป็นภาษาญี่ปุ่น

ผมพยายามพูดภาษาอังกฤษกับเขา “Can you find me a prostitute?”
เขาไม่เข้าใจว่ากําลังถูกขอให้ “หากะหรี่ให้หน่อยได้ไหม” อย่างสุภาพ
ผมหยิบโทรศัพท์ขึ้นมาพิมพ์ประโยคเดิม แปลเป็นภาษาญี่ปุ่น
“私の売春婦を見つけることができますか?”
เขาหัวเราะออกมา แล้วตอบว่า “NO”.

5

จําไม่ได้ว่าพิมพ์อะไรลงใน Google ผมเจอเว็บไซต์สามภาษา ญี่ปุ่น อังกฤษ เกาหลี มีสถานที่ให้เลือกตั้งแต่ โตเกียว นาโกยา โอซากา ฟูกูโอกะ และ โยโกฮามา ระบุเอาไว้ข้างล่างสุดว่า ‘ออกไปถ้าอายุยังไม่ถึง 18’

เมื่อเลือกโยโกฮามาแล้วเราจะพบกับสารบัญภาพ ‘เพื่อนชาย’ นับร้อย ถ่ายทําอย่างดี ถูกนําเสนอด้วยอุปนิสัยแตกต่างกัน เมนูประกอบด้วย Boys (สารบัญภาพ) Policy (นโยบายของเขา) System (ราคาและข้อตกลง) Photo (ภาพตัวอย่างสถานที่) Access (แผนที่) และ Contact (ช่องทางติดต่อ)

คุณลองดู ถ้ามันเป็นเว็บหลอกลวง พวกเราก็ควรอับอายที่เว็บหลอกลวงของญี่ปุ่นเข้าถึงและเข้าใจได้ง่ายกว่าเว็บราชการของไทย นโยบายต่างๆ ถูกเขียนเอาไว้อย่างละเอียดยิบเป็นสิบๆ ข้อ แบ่งแยกราคายิบย่อยจนเราไม่มีอะไรจะถามเพิ่ม ทิ้งช่องทางการติดต่อสํารองครบถ้วน รับบัตรเครดิต ถ้าเลือกเพื่อนชายสักคนจากสารบัญ เราจะเห็นชื่อ ส่วนสูง น้ําหนัก อายุ ขนาด เพศวิถี (Sexuality) ความสามารถในการพูดภาษาอังกฤษ รวมถึงความยินดีที่จะเป็นรุกหรือรับ (หรือทั้งคู่) มันเป็นเว็บไซต์ที่อ่านไม่กี่นาทีก็เข้าใจได้ทันทีว่าจะต้องทําอะไรต่อไป

อุตสาหกรรมเพศ (Sex industry) ไม่ใช่สิ่งเดียวกับการค้าประเวณี (Prostitution) ในกฎหมายญี่ปุ่น อย่างแรก ทําได้ อย่างที่สองห้าม อย่างแรกทําได้จนถึงอาบน้ํา แต่อย่างที่สองมีการสอดใส่ (มากหรือน้อยกว่านั้น) นั่นหมายความว่าความเป็นมืออาชีพ การส่งต่อองค์ความรู้ และระบบระเบียบต่างๆ ไหลเวียนอยู่ในอุตสาหกรรมเพศของญี่ปุ่นอย่างเปิดเผย มันเติบโตได้อย่างถูกกฎหมาย เว็บไซต์ที่เรากําลังมองอยู่นี้ก็อาจเป็นเพียงประตูแรกของการบริการทั่วๆ ไปที่ไม่มีจุดบกพร่องและต้องเรียบร้อยแบบญี่ปุ่น

แต่การมีข้อห้ามค้าประเวณีที่ต่างจากอุตสาหกรรมเพศแค่สัมผัสเดียว ทําให้เรามองได้ยากว่าขณะไหนที่เรากําลังเป็นผู้บริโภคที่มีกฎหมายคุ้มครอง และขณะไหนที่เราได้กลายเป็นเพียงคนซื้อขายใต้ดิน เว็บไซต์ที่เรากําลังเผชิญหน้าอยู่นี้เป็นกิจการสุจริตหรือวงจรอันตราย ผมพยายามอ่านให้ครบถ้วน

นโยบายข้อหนึ่งของเขาว่า

‘We do not accept asking the boys about the personal information, real name, address, phone number, e-mail ad, and so on … Moreover; please, do not tell your own information to the boys.’
(การถามข้อมูลส่วนตัวของเพื่อนชาย ชื่อจริง ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ ที่อยู่อีเมล และอื่นๆ เป็นสิ่งที่เราไม่ยอมรับ มากกว่านั้น โปรดไม่บอกข้อมูลส่วนตัวของคุณเองให้กับเพื่อนชาย)

หมายความว่าอะไร? หมายความว่าทุกอย่างปลอม การมีชีวิตอยู่ในเรื่องแต่งกลายเป็นข้อบังคับของการให้และรับบริการที่นี่ สีขาววาบขึ้นกลางอก ตอนนั้นผมลืมเรื่องความปลอดภัย จริยธรรม และกฎหมาย ตลอดหลายวันที่ผ่านมา เงื่อนไขของการอาศัยอยู่ในความเป็นจริงในแต่ละที่มันยากเกินไป ผมเป็นทั้งคนจนและสัตว์ประหลาดอยู่แล้วในกรุงเทพ และได้เห็นมันชัดเจนขึ้นจนอ่อนไหวในโยโกฮามา แต่แล้วจู่ๆ ก็มีบริการชนิดหนึ่งมาบอกเราว่าสิ่งเหล่านั้นจําเป็นจะต้องหายไปในขณะที่กําลังใช้บริการ นี่ใช่ความฝันอันฝังลึกของเราหรือไม่ ทุกบางขณะหลังดูหนังจบสักม้วน ทุกบางบรรทัดจากเรื่องราวของคนอื่นในวรรณกรรม เราอยากเป็นอิสระจากความจริงและตัวเอง เราอยากกลายเป็นคนอื่น เป็นอะไรก็ได้ที่ดีกว่า

ผมสอบถามเข้าไปตามไอดีไลน์ที่ให้ไว้ เขาตอบ บอกชื่อเพื่อนชายมาสองสามคนที่พร้อมอยู่ในคืนนี้ ผมตกลงใจกับคนหนึ่ง เขาแจ้งข้อตกลงมาไม่มากไม่น้อย เรานัดหมายกัน เขาขอให้ผมบอกลักษณะการแต่งกาย ท่าทางที่จะทําเป็นสัญลักษณ์เพื่อให้รู้ว่าเป็นผม เรียบร้อยแล้วจึงปักหมุดบอกสถานที่บน Google Map แผนที่บอกว่าเดินจากตรงนี้ไปเพียงสิบนาที แถวๆ นั้นเคยเป็นมื้อแรกของพวกเราตั้งแต่มาถึงโยโกฮามา

บางทีผมก็ถามตัวเองอยู่เหมือนกันว่าทําไมทุกอย่างถึงดูพอดีเหมือนมีคนเขียนบทจัดวางเอาไว้ให้ หรือเป็นเพียงเพราะผังเมืองและการคมนาคมของญี่ปุ่นดีกว่าไทยมากเท่านั้นเอง บางทีฉากเหล่านี้ก็คล้ายเรื่องราวของคนที่กําลังจะถูกหลอกไปฆ่า ชิงทรัพย์ ทรมานอย่างสาหัส ไต่เต้าไปเป็นยากูซ่า หรือหายไปในโลกประหลาดที่เขาร่ําลือกันว่าซุกซ่อนอยู่ในสังคมญี่ปุ่น แต่สุดท้ายแล้วผมก็ไปตามนัด ยืนสูบบุหรี่อยู่ข้าง 7-eleven ไม่นานเขาก็มาถึง เดินล้วงกระเป๋าขึ้นมาจากรถไฟใต้ดิน ดูใจดี ยิ้ม สดใสและเรียบง่าย ความเป็นไปได้ประหลาดๆ ก่อนหน้านี้ ผมลืมไปหมด และกําลังจะกลายเป็นลูกแกะ

“Did you call?”
“Yes”

ดวงตาของเขาดําใสจนผ่อนคลาย ยิ้มของเขาทําให้ผมยิ้มอยู่ข้างใน คุณอย่าเพิ่งขํา คนเราในเวลาอ่อนไหวมันก็เหลืออยู่เท่านั้น เขาขอดูว่าผมสูบบุหรี่อะไร ทําตาโตแล้วบอกว่าบังเอิญสูบยี่ห้อเดียวกันเลย “So sweet!” เขายิ้มอุ่นและขําเล็กๆ

ผมรู้แล้วว่าเขากําลังทํางานอยู่ แปลกดีที่ความรู้นี้ไม่ได้ทําให้ผมรู้สึกกังวลว่าเขากําลังเสแสร้ง ผมแค่รู้สึกว่าเขากําลังทํางานได้ดีเท่านั้น และเรารู้สึกดีกับเพื่อนร่วมงานที่ทํางานดีๆ ให้กับเรา พวกเราเดินข้ามถนน เขาเอาตัวเองไปเดินฝั่งที่รถวิ่ง โอบไหล่แตะหลังคอยระวังนู่นนี่ พยายามพูดคุยทั้งๆ ที่พูดภาษาอังกฤษไม่ค่อยได้ เดินไม่นานก็ถึงตึกแถว เขากดรหัส เปิดทางให้ผมเดินขึ้นลิฟต์ไปถึงชั้นบนสุด จูงมือผมเข้าไปในห้อง

เขาถอดรองเท้าแล้วหันหัวมันออกไปนอกห้องแบบคนญี่ปุ่น ผมทําตาม เขามองและมีสีหน้าแปลกใจ “โอ้!” ชื่นชมที่ผมถอดรองเท้าแล้วทําแบบนั้นเหมือนกับที่เขาทํา “เก่งจังเลย!” อะไรประมาณนั้น ผมเหมือนเด็กตัวเล็กๆ ในเกมของเขา และยินดีที่จะเป็นแบบนั้น เขาเดินไปปิดประตู เข้ามาช่วยถอดเสื้อโค้ท ออก จัดแจงแขวนเอาไว้ให้เรียบร้อย ตบฝุ่นออกสองสามที ยิ้มให้มัน ดูพอใจในสิ่งที่กําลังทําอยู่

“Sit here?” เขาแตะหลังผมเบาๆ แล้วชวนพวกเรานั่งลงบนโซฟา ผมลองแปลบทสนทนาตอนนั้นจากความทรงจํา เขาเริ่มก่อน

: (เงียบ) คุณมาจากไหนเหรอครับ
: ผมมาจากแคลิฟอร์เนีย
: ว้าว! จริงหรอครับ? ผมก็เคยอยู่แคลิฟอร์เนียเหมือนกันนะครับ เคยไปเรียนที่นั่นด้วย
: จริงหรอครับ? ถึงว่าพูดภาษาอังกฤษได้เยอะจัง คุณอยู่แถวไหนเหรอ?
: แย่จัง … ผมจําไม่ค่อยได้แล้ว … เรียนไม่นานก็ออกมาก่อนน่ะครับ
: อ้อ นั่นสินะครับ
: อ้อ! คุณชื่ออะไรหรอครับ
: (ผมจําไม่ได้ว่าตัวเองใช้ชื่ออะไร)
: ผมซูซูมุนะครับ ยินดีที่ได้รู้จักนะครับ อ้อ! แล้วมาทําอะไรในโยโกฮามาเหรอครับ
: ผมมาทํางานครับ
: งาน?
: ออ … มาทํางานที่คานากาวาเธียร์เตอร์ตรงโน้นน่ะครับ
: โอ้! จริงเหรอครับ! โรงละครนั่นเลยเหรอครับ? คุณเป็นนักแสดงเหรอครับ หรือเป็นผู้กํากับ? น่าสนใจมากเลย!
: ผมมาเป็นดรามาเติร์กครับ
: ดรามา … ดรามาเติร์ก?
: มันคือ … เหมือนกับเป็นเพื่อน เหมือนเป็นที่ปรึกษาของผู้กํากับน่ะครับ
: ที่ปรื…? หือ?
: อ่า เป็นเหมือน … เหมือน … ครูของผู้กํากับน่ะครับ
: ครูของผู้กํากับ! โอ้ๆ น่าดีใจจังเลย ผมกําลังคุยกับครูของผู้กํากับอยู่เลยนะเนี่ย!
: แหะๆ ครับ
: ผมเนี่ย ผมเองก็เป็นนักแสดงเหมือนกันนะครับ เป็นนักร้องด้วย
: ว้าว จริงเหรอครับ
: ผมใฝ่ฝันอยากเป็นดาราหนังน่ะครับ ตอนนี้ก็กําลังพยายามเรียนรู้อยู่ ทั้งการแสดง ทั้งการร้องเพลง ผมร้องเพลงเก่งมากเลยนะ
: จริงเหรอครับ ดีจังเลย
: สักวันหนึ่ง ผมอยากไปแสดงที่คานากาวาเธียร์เตอร์บ้างจังเลยครับ
: โอ … ไฟต์โตะนะครับ!
: อา … ไฟต์โตะ! มันเป็นคําเดียวกันกับในภาษาอังกฤษเหรอครับ?
: อ้า ครับ ไฟต์ติ้ง ไฟต์โตะ ใช้เหมือนกัน
: ดีจังเลย เรามีอะไรคล้ายกันหลายอย่างเลยเนอะ
: ครับ … ก็ ขอให้โชคดีกับความฝันนะครับ
: ครับ!
ภาพโดย วริศ ลิขิตอนุสรณ์

ผมจํามันได้ประมาณนี้ บทสนทนาจริงๆ มันเป็นภาษาขาดๆ เกินๆ ของเราทั้งคู่ที่พยายามจะสื่อสารกัน พูดอะไรออกไปก็หวังว่าสิ่งที่อยากสื่อสารจะถ่ายทอดออกไปผ่านน้ําเสียงและท่าทาง ความพยายามที่ต้องใช้มากขึ้นกว่าปกติเล็กน้อยแบบนี้ทําให้บทสนทนาธรรมดาเกิดแรงดึงดูดเกินกว่าที่มันควรจะเป็นอย่างน่าประหลาด เรื่องง่ายๆ กลายเป็นอะไรน่าสนใจไปหมด ช่องว่างและความแตกต่างอย่างเด็ดขาดกําลังมีบทบาทที่สดใสเกินคาดอยู่ในบทสนทนาของเรา

คุณจะไม่ดีใจมากนักที่คนไทยฟังคุณพูดรู้เรื่อง คนญี่ปุ่นก็คงจะไม่ชมคนญี่ปุ่นที่ถอดรองเท้าแบบญี่ปุ่นได้ แต่ใครบางคนจะถูกด่าอยู่ในใจถ้าทําไม่ได้อย่างที่ควรทํา บทสนทนาระหว่างเรามี ‘แต้มต่อ’ ที่เกิดขึ้นจากการรับรู้ถึงความแตกต่างอย่างเด็ดขาดจากกันและกัน รับรู้ถึงช่องว่าง และความน่าจะไม่เข้าใจกันเป็นปกติ เมื่อมันคล้ายว่าเราจะเริ่มเข้าใจกันได้นิดๆ หน่อยๆ ช่องว่างเหล่านั้นก็ดูเหมือนจะค่อยๆ เปลี่ยนรูปรสกลิ่นเสียงไปเป็นโอบกอด การรับรู้ว่าเรากําลังสัมผัสถึงอีกฝ่ายได้ใกล้ชิดขึ้นเรื่อยๆ เป็นรางวัลเสมอในการสื่อสาร โอบกอดเหล่านี้เกิดขึ้นได้เมื่อมีช่องว่างระหว่างวัฒนธรรมเป็นเงื่อนไข และในบางบทสนทนาบนโลก คนบางคนก็กอดกันได้เพียงในช่องว่างเหล่านั้น

‘ความแตกต่างอย่างเด็ดขาด’ หรือ ‘ช่องว่าง’ ที่จะนําไปสู่โอบกอดเหล่านี้ มันอยู่ที่ไหน และคืออะไรกันแน่? มันเกิดได้ขึ้นเพียงระหว่างคนต่างชาติเท่านั้นหรือไม่? แต่คําถามน่าจะเป็น เรากับสิ่งใกล้ๆ ตัวไม่ได้ ‘แตกต่างกันอย่างเด็ดขาด’ อยู่แล้วหรอกหรือ? แต่อะไรทําให้โอบกอดแบบนั้นเกิดขึ้นยากเหลือเกินระหว่างเรากับอะไรที่ดูเหมือนจะอยู่ใกล้ตัว

ช่องว่างที่มีอยู่แต่ไม่ถูกรับรู้ (เราต่าง แต่เราไม่รู้ว่าเราต่าง) ทําให้เรามีความคาดหวังต่อสิ่งต่างๆ ว่าจะเหมือนกับตัวเอง และตัดสินมันบนมาตรฐานนั้น แต่เป็นไปได้ไหมว่าเราอาจเห็นช่องว่าง ไม่ใช่เพียงระหว่างเรากับสิ่งที่ดูแตกต่างจากเรามากๆ แต่เป็นกับอะไรก็ตามที่อยู่ใกล้ๆ และเป็นไปได้ไหมที่เราจะโอบกอดกับพวกมันใหม่อีกครั้งในนั้น

6

สามเดือนหลังในปี 2018 จนถึงตอนที่เขียนอยู่ ผมมีธุระให้เดินทางประมาณอาทิตย์ละจังหวัด และพบว่า ‘ช่องว่าง’ เหล่านั้นมีอยู่มากเหลือเกินระหว่างร่างกายที่เราคิดว่าเป็นพวกเดียวกันกับเรา ระหว่างวัตถุที่เราคิดว่าอยู่ในความคุ้นชินของเรา ระหว่างบทสนทนาที่เราเข้าใจว่าแสนจะธรรมดา

ผมอยู่ในหมู่บ้านใจกลางหุบเขาสุดขอบแม่ฮ่องสอน เผ่าปกาเกอะญอเป็นเจ้าของบ้านที่นี่ ช่วงที่ภารกิจเสร็จสิ้นแล้ว พวกเราเห็นห้วยน้ําใสไหลเย็น น่าลงไปแช่เท้าเล่นก่อนกลับ

: ห้วยตรงนี้ลงไปยังไงครับพี่?
: อะไรคะ?
: ลงไปยังไงเหรอครับ มันลงทางไหนได้บ้าง
: อ้อ ก็ลงไปเลยค่ะ
: เอ่อ หมายถึง ทางลง มีตรงไหนที่พอจะลงได้ง่ายๆ ไม่ลื่น อะไรแบบนี้ไหมครับ
: อ้อ (เกาหัว) ก็ตรงนั้นก็ได้ค่ะ ต้นมันสําปะหลังน่ะค่ะ
: อ้อ … ต้นมันสําปะหลังเป็นยังไงนะครับ?

เป็นเรื่องน่าตื่นเต้นที่ประโยคง่ายๆ ของเราทั้งคู่ไม่มีความหมายต่อกัน อย่างแรกคือคําถามว่าลงห้วยอย่างไรไม่มีความหมายสําหรับชาวเขา คนกรุงถามหาทางลงที่ออกแบบไว้อย่างสะดวก หรือ ‘บันได’ ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่ชาวเขาต้องการเมื่ออยากลงเล่นน้ํา ทําไมต้องถามว่าลงยังไง? ตรงไหนลงได้ก็ลงตรงนั้น และลงไปอย่างนั้นแหละ ในขณะที่คําระบุสถานที่อย่าง ‘ต้นมันสําปะหลัง’ ก็ไม่มีความหมายเลยสําหรับคนกรุง พวกเราที่ไม่ได้มีสายตาที่คุ้นชินกับการจดจําสถานที่ด้วยต้นไม้ ต้นมันสําปะหลังบอกทางให้เราไม่ได้เลย

คิดเล่นๆ ว่าช่องว่างแบบนี้อาจเกิดขึ้นได้เช่นกันเมื่อชาวเขาวัยชราถามวัยรุ่นชาวกรุงว่า ‘อินเทอร์เน็ตเล่นยังไง?’ คําถามนี้กลายเป็นคําถามยาก เพราะมันกว้างขวางจนเหมือนไม่มีความหมายสําหรับวัยรุ่นชาวกรุง อินเทอร์เน็ตก็เล่นอย่างนั้นแหละ อยากเล่นอะไรก็เล่นอันนั้น ทําไมต้องถามว่าเล่นยังไง

ร่างกายของชาวเขาไม่ได้เล็กเตี้ย แต่หัวของพวกเขาไม่เคยชนคานบ้านเหมือนคนกรุงที่เข้าไปอาศัยและส่งเสียงหัวโขกกระทบไม้ทุกนาทีเพราะก้มไม่ทันในเวลาโพล้เพล้ ในขณะที่ความรับรู้เรื่องแสงของคนเมืองอยู่บนหัว เป็นทังสเตนหรือนีออนตลอดชีวิต บ้านไม้ของชาวเขาที่ไม่ติดหลอดไฟบนเพดานจะมีแสงเข้ามาแค่จากด้านข้าง ร่างกายและสายตาของพวกเขาเคยชินกับวิถีชีวิตที่รับแสงจากทิศตะวันออกและตก เคยชินกับการก้มเงยและทํากิจวัตรด้วยแสงเหล่านี้ ตรงข้ามกับคนกรุงที่ก้มเงยอะไรไม่เคยถูกเมื่อไม่มีแสงอยู่บนหัว

ผมพบว่าร่างกายของชาวเขาไม่ได้เบาไปกว่าคนกรุง แต่เท้าของพวกเขาไม่เคยเกรงกลัวการเดินบนพื้นเพิงไม้ไผ่กลางหุบเขา ในขณะที่คนกรุงจะเกร็งทั้งตัวเมื่อต้องยืนอยู่บนนั้นและมองเห็นทั้งหุบเขาอยู่ในร่องไม้ ภาพในหัวมีแต่เท้าของตัวเองที่กําลังจะทะลุลงไปในเหวอยู่ตลอดเวลา แรงเกร็งจากจินตนาการเหล่านั้นเองที่ทําให้คนกรุงมีโอกาสที่จะย่ำไม้ไผ่จนหักทะลุลงไปได้จริงๆ ในขณะเดียวกัน ผมไม่อยากจะนึกว่าชาวเขาจะปวดหัวขนาดไหนเมื่อเดินอยู่ในสยามพารากอน

ดูเหมือนว่าเราจะไม่ได้ต่างกันแค่สําเนียงภาษา แต่ต่างกันกระทั่งทุกวัฒนธรรมในกล้ามเนื้อที่มีอยู่ ตั้งแต่หัวจรดเท้าที่ดูคล้ายกันไปหมด และด้วยภาษาที่เหมือนจะเข้าใจกันได้ ร่างกายและจิตใจของเรากลับมีความหมายร่วมกับสิ่งต่างๆ ไม่เหมือนกันเลย นอกจากนี้เท่าที่พอจะจําได้ ผมยังพบว่าชาวนาทักทายและมองเห็นกันแต่ไกลลิบตา ในขณะที่ชาวเมืองที่ต้องตัวติดกันบนรถไฟฟ้าจะทําเหมือนมองไม่เห็นกัน หูของชาวสวนจับเสียงพูดคุยธรรมดาจากที่ไกลๆ ได้ ในขณะที่คนเมืองไม่ได้ยินสิ่งที่ไม่อยากได้ยินในที่ประชุม คุณลุงคนหนึ่งรู้สึกว่าตัวเองกําลังลิ้มรสหวานของแสงแดดผ่านมะม่วง เขาควบคุมความหวานผ่านการสื่อสารกับจังหวะแดดที่ตกกระทบลงบนผลไม้ นิ้วมือของหญิงชราลากแหเล็กหาปลาจนรับรู้ถึงชนิดของปลาได้ผ่านแรงกระตุก

สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นช่องว่างที่ดูเล็กน้อยเมื่อมองจากที่ไกลๆ (เช่น แวดวงศิลปะ สายตานานาชาติ) แต่เป็นไปได้ไหมว่าแท้จริงแล้วสิ่งเล็กๆ เหล่านี้กําลังมีบทบาทสําคัญเสมอในการสื่อสารทุกอย่าง ตั้งแต่ระหว่างคุณกับผม ไปจนถึงระหว่างกลุ่มก้อนทางการเมือง ไม่ต่างจากที่คุณภาพชีวิตของแบคทีเรียในลําไส้ของเราจะส่งผลต่อร่างกายและอารมณ์ของเราในเช้าวันนี้ และมันจะเลยเถิดไปกําหนดสิ่งที่จะเกิดขึ้นบนโต๊ะประชุมในช่วงบ่าย

7

ในบทสนทนาระหว่างเขากับผม คุณจะเห็นว่าทั้งผมและเขาโกหกว่าตัวเองมาจากแคลิฟอร์เนีย และผมยังโกหกที่ว่าดรามาเติร์กเป็นครูของผู้กํากับ ถ้ายังจําได้ นโยบายของเว็บไซต์นั้นยังบอกให้พวกเราใช้ตัวตนสมมติมาเจอกัน ‘การสมมติ’ เป็นอีกอย่างที่กําลังทําหน้าที่เหมือนประกันในความสัมพันธ์ครั้งนี้ มันทําให้ความเสี่ยงที่ความเป็นจริงจะน่ากลัวหายไป

ถ้าเราทํางานอยู่ในโรงละครและเป็นครูของผู้กํากับจริงๆ แล้วก็เพิ่งมารู้เอาในวินาทีสุดท้ายว่าคนที่เรากําลังจะนอนด้วย เป็นนักแสดงที่หวังจะไต่เต้าเข้าไปแสดงในโรงละครนั้น ค่ำคืนนี้จะกลายเป็นอะไรสําหรับเรา? แต่สิ่งน่ากลัวเหล่านี้ไม่มีโอกาสเกิดขึ้นได้ เพราะไม่มีอะไรจริงตั้งแต่ต้น เราต่างรู้ว่าบทสนทนานี้เป็นการให้บริการสําหรับคนหนึ่ง และเป็นการรับบริการสําหรับอีกคนหนึ่ง เบื้องหลังร่างกายสมมติในความสัมพันธ์ครั้งนี้ไม่มีประวัติศาสตร์อะไรให้นํามา  คํานวณความเสี่ยง การนําเอาความจริงออกไปทําให้เกิดช่องว่างมหาศาล และในช่องว่างนั้น ร่างกายสมมติของเราจะรักหรือร้าวเท่าไรก็ได้ ความเป็นจริงยังปลอดภัย15  ‘Striking Vipers,’ Black Mirror (2019) ใน Netflix เพื่อนคู่หนึ่งร่วมเพศกันผ่านตัวละครสมมติที่ให้ความรู้สึกเหมือนจริงมากๆ ในเกมต่อสู้เสมือนจริง (virtual reality) คล้าย Street Fighter ทั้งสองรู้สึกไม่แน่ใจต่อกันในภายหลัง กระวนกระวาย และเกิดปัญหากับความสัมพันธ์ ‘ความปลอดภัย’ ที่เกิดจากการใช้ตัวตนสมมติเข้าหากันอาจไม่ได้เป็นจริงเสมอไปในเงื่อนไขต่างๆ เมื่อผมอยู่ในประเทศอื่นเพียงไม่กี่วัน มันหมายความว่าผมน่าจะไม่ได้พบเจอกับเขาอีกแล้ว โอกาสที่จะเผลอไปรู้สึกผูกพันด้วยตัวจริงก็มีน้อยลงจนไม่เหลือเลย ต่างจากที่เกิดขึ้นใน ‘Striking Vipers’ เพื่อนคู่นี้ต่างรับรู้ว่าตัวจริงของกันและกันเป็นใคร และเคยผูกพันกันในความเป็นจริง แต่สำหรับผม เรารับรู้ต่อกันแต่เพียงด้วยร่างกายสมมติเท่านั้น ตัวจริงของเรายังไม่มีโอกาสได้พบเจอกันเลย ไม่มีอะไรให้เผลอใจ

เรารู้ว่ามันง่ายกว่าที่จะโกหกพกลมด้วยคําพูด แต่การบิดเบือนความจริงที่เกิดขึ้นกับร่างกายแทบจะไม่ใช่สิ่งที่ทําได้ วิ่งก็เหงื่อออก ใบหน้าตึงถ้าฝืนยิ้ม ตาดําขยายตอนดูหนังผี ร่างกายดูเหมือนจะแสดงออกอย่างเป็นสากลอยู่เสมอ แต่คืนนี้ ในขณะที่ความสัมพันธ์ทางร่างกายของเราเกิดขึ้น ผมเริ่มตระหนักว่าที่จริงแล้วผมกําลังอ่านตาของเขาไม่ออก

เขาขอให้เราอาบน้ําด้วยกัน ผมยื่นนิ่งเป็นอัมพาต ส่วนเขาดูร่าเริงกระตือรือร้น สอนให้ผมลองใช้น้ํายาบ้วนปากแบบญี่ปุ่น (หรือแบบของเขาก็ไม่รู้) พอทําตามก็ได้รับคําชมอีก ผมผ่อนคลายลงเล็กน้อย ส่วนเขาดูผ่อนคลายอยู่แล้ว แต่ใช่อย่างนั้นหรือไม่? ในขณะที่ผมรู้ว่าร่างกายของผมแสดงออกชัดเจนว่าประหม่า ผมกลับไม่เห็นสิ่งที่ควรจะเห็นจากร่างกายของเขา ไม่สามารถรับรู้ได้เลยว่าเขากําลังลังเลหรือต้องใช้ความพยายามที่จะปฏิสัมพันธ์กับผมที่มีร่างกายแบบนี้

คุณเคยได้ยินวลีในเพลงฝรั่งที่ร้องว่า ‘You bring out the best in me’ หรือ ‘คุณดึงส่วนที่ดีที่สุดในตัวฉันออกมา’ ไหม เวลาที่ใครสักคนรักกัน โดยเฉพาะรักกันใหม่ๆ ภาพสะท้อนในดวงตาของพวกเขาจะดีกว่ากันและกันในความเป็นจริงเสมอ พวกเขาจะพบเจอส่วนที่ดีที่สุดของกันและกันที่คนอื่นๆ มองไม่เห็น ภาพสะท้อนเหล่านั้นทําให้เจ้าของเงาเกิดความรู้สึกใหม่กับตัวเองได้ด้วย เพราะบางส่วนที่ดีในตัวเขาเองไม่ใช่สิ่งที่เขาเคยมองเห็นเช่นกัน แปลกดี ผมมั่นใจว่าคืนนี้ไม่มีความรักหรือความปรารถนาจริงๆ เกิดขึ้น เงาสะท้อนของผมในดวงตาของเขาไม่ใช่ส่วนที่ดีที่สุดในตัวผม แต่มันเป็นอะไรที่ผมไม่รู้จักเลย

ตั้งแต่จําได้ผมก็ไม่อยากจะมองเห็นตัวเองในบางมุมมาโดยตลอด ไม่เคยอยากรับรู้ว่าร่างกายสัตว์ประหลาดของตัวเองมีอยู่จริง แต่เขาคืนสัมผัสอื่นให้กับมัน ร่างกายของผมมีความหมายผกผันในสัมผัสและภาพสะท้อนจากดวงตาของเขา ผมไม่ใช่สัตว์ประหลาด แต่กลายเป็นอะไรที่ยังตัดสินไม่ได้ แปลกดีที่สภาวะแบบนี้ทําให้ผมรู้สึกเหมือนถูกปลดปล่อยออกจากสถานะยากจน ไร้คุณภาพ หรือสัตว์ประหลาดที่เคยเป็นมาก่อนหน้า มันเหลืออยู่แต่เพียงร่างกายที่กําลังถูกสัมผัส

ทําไม? น่าจะเป็นเพราะผมอ่านข้อมูลอะไรจากร่างกายและสายตาของเขาไม่ออก มันแตกต่างอย่างเด็ดขาด ไม่เหมือนกับที่เราอ่านคนไทยหรือคนในสังคมเดียวกันออก การพยายามมองหาว่าเขากําลังตัดสินผมอย่างไรจึงเป็นเรื่องที่แทบจะเป็นไปไม่ได้16 หรือเขาตัดสินอะไรแบบนี้หรือไม่? เป็นไปได้ว่าเขาอาจมีสำนึกต่อหน้าที่ที่ลึกซึ้งจนฝังกลบตัวตนที่แท้จริงลงไปหมดเวลาทำงาน นี่อาจเป็นการปลูกฝังรุ่นสู่รุ่นของบริการทางเพศในญี่ปุ่นจนระดับของคำว่า ‘มืออาชีพ’ จะล่วงล้ำไปเกินจินตนาหาร ใครจะไปรู้ได้ เพราะผมไม่มีตัวรับสัญญาณที่ละเอียดพอจะรับรู้ข้อมูลเหล่านั้น ตัวรับสัญญาณที่ว่านั้นคือความสามารถที่จะรับรู้ความเป็นอยู่ของวัฒนธรรมและสภาพแวดล้อมที่กําหนดทุกหน่วยทั่วทั้งร่างกายของเขาจนประกอบสร้างออกมาเป็นสีหน้า สายตา และความรู้สึกในแบบของเขา ผมไม่อาจมองเห็นและสัมผัสโลกใบที่เขากําลังอาศัยอยู่ได้มากพอที่จะเห็นการสื่อสารที่เป็นข้อมูลที่ละเอียดแบบนั้น ไม่แน่ว่าเขาอาจกําลังสื่อสารอะไรแย่ๆ ออกมาแล้วมากมาย แต่มันกลับหายไปเฉยๆ สําหรับผม และในขณะเดียวกัน สิ่งที่ผมสื่อสารออกไปก็อาจหายไปเฉยๆ สําหรับเขา เหมือนกับที่ต้นมันสําปะหลังไม่เคยมีความหมายในการใช้บอกทิศทางสําหรับคนเมือง

8

คุณคงกําลัง ‘เผชิญหน้า’ กับตัวอักษรเหล่านี้อยู่ คุณอ่านมันเข้าไปผ่านดวงตา จากตัวอักษรกลายเป็นเสียงในหัว เรารับรส ได้กลิ่น มองเห็น และเก็บภาพอยู่รอบๆ ใบหน้า เราหน้าแตก หน้าหนา หน้าบาง และเสียหน้า ความรู้สึกทรงจําสั่งสมประมวลกันอยู่บนนี้มากกว่าส่วนอื่นๆ ของร่างกาย17 หากคุณเป็นคนตาบอด ความรู้สึกที่ใกล้เคียงกับได้การมองเห็นของคุณคงแปรผันไปอยู่ในสัมผัสอื่นๆ เช่นการได้กลิ่นหรือการสัมผัส คุณอ่านภาษาเข้าไปในหัวได้ด้วยนิ้วมือไม่ใช่ใบหน้า เป็นไปได้หรือไม่ว่าความรับรู้ต่อตัวตนของคุณก็ได้ขยับขยายจากใบหน้าและศรีษะไปอยู่ที่อื่นมากขึ้นกว่าคนมองเห็นด้วย ในชั่วโมงเร่งรีบ แขนขาของเราอาจติดเบียดอยู่กับคนอื่นบนรถไฟฟ้าที่แน่นขนัดได้ แต่ใบหน้าของเราต้องห้ามติดกัน มันคือการปฏิเสธการพบเจอรู้จักมักใคร่เกินไปกับ ‘คนพวกนี้’ ที่ไม่มีประโยชน์ใดๆ ให้รู้จักกันเลย (สําหรับคนเมือง) ใบหน้าในบริบทนี้กําลังทําหน้าที่เป็น ‘นายหน้า’ ของเราที่จะปฏิเสธหรือตอบรับการมีปฏิสัมพันธ์ต่างๆ อย่างเคร่งครัด

เขาเช็ดตัวให้ พาผมนั่งลงบนเตียง กดเปิดเพลงอะไรสักอย่างจากโทรศัพท์มือถือ เขาเริ่มด้วยการประกบใบหน้า เข้ามาอย่างไม่ลังเลถึงความสําคัญของมัน และจูบ

ในประเทศไทย เราปฏิเสธที่จะใช้ลิ้นและริมฝีปากปฏิสัมพันธ์กับคนชั่วข้ามคืน ปากเรากับปากเขาเป็นอวัยวะที่ถูกสงวนเอาไว้เป็นลําดับสุดท้าย การจูบมีราคาแพงหรือไม่ใช่สิ่งที่ ‘มีไว้ขาย’ ในการให้บริการทางเพศ ในความสัมพันธ์ประเภทนี้ เราไม่เคยต้องการคนจริงๆ ที่จะรู้จักและเป็นภาระผูกพัน เราต้องการเพียงวัตถุคลายกําหนัดที่รู้สึกเหมือนร่างกายของคนจริงๆ เท่านั้น ในขณะที่ลิ้น ปาก และใบหน้า เป็นอวัยวะที่มีความหมายมากเหลือเกินในคําอธิบายนี้ของคนไทยแบบผม มันอาจแตกต่างอย่างเด็ดขาดสําหรับเขา นั่นหมายความว่าการจูบของเขาได้กลายเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่สําหรับผม ทั้งๆ ที่เขาเองไม่ได้รับรู้ถึงความยิ่งใหญ่นั้นเลย

หรือว่าที่จริงแล้วความหมายที่เรามีต่อลิ้น ปาก และใบหน้า จะไม่ได้ต่างกันมากนัก? อาจไม่ใช่ที่นั่น ช่องว่างอาจเกิดขึ้นระหว่างความเข้าใจต่อ ‘การบริการ’ ที่ต่างกันอย่างเด็ดขาดระหว่างคนไทยกับญี่ปุ่น (และคนไทยกับญี่ปุ่นต่อคนชาติอื่นๆ) การบริการของเขาอาจจะเป็นหน้าที่ที่ยิ่งใหญ่กว่าการบริการแบบที่คนไทยเรารู้จัก ปากและใบหน้าที่เขาเห็นว่าสําคัญเท่าๆ กับที่เราเห็น จึงกลายเป็นสิ่งสําคัญที่เขาจะต้องใช้ในการเปิดการบริการ เพราะมันแสดงถึงความจริงใจที่สุดที่เขาจะมีให้กับลูกค้าได้

แต่นอกเหนือไปจากข้อสันนิษฐานเหล่านี้ ความจริงเป็นอย่างไร? ไม่มีใครรู้ และคงจะเป็นอย่างนั้นต่อไป เป็นช่องว่างที่เกิดขึ้นระหว่างเรา คืนนั้นจบลง เราสวมกอดเป็นการจากลา ผมไม่เคยและไม่มีวันได้รับรู้อะไรเกี่ยวกับเขาอีก ในเวลาที่กําลังเขียนอยู่นี้ ภาพยิ้มแย้มดูใจดีของเขาได้หายออกไปแล้วจากสารบัญ

9

หลังกลับจากโยโกฮามา ผมพบว่าตัวเองไม่อยากจะเป็น ‘คนใน’ ที่อาศัยอยู่ในวัฒนธรรมของแวดวงศิลปะ การละคร หรือใดๆ อีกต่อไป

ในแวดวงวิชาการไทย นักวิชาการในเมืองหลวงและเมืองใหญ่มักจะถกเถียงกัน เผยแพร่งานในวารสาร ใช้ศัพท์แสงคุ้นหู วนเวียนพูดคุยอยู่กับคนเดิม หัวข้อเดิม และบูชาเทพเจ้าองค์เดิมทั้งที่ตายแล้วและยังมีชีวิตอยู่ เรากอดกันแน่นอยู่แบบนี้ วงจรเหล่านี้แสดงตัวต่อผมในวัยรุ่นว่าเป็นวัฒนธรรมสากลของ ‘นักวิชาการ’ คนที่ทําหน้าที่สร้างสรรค์ความรู้และแก้ไขปัญหาร่วมกับคนอื่น

ช่วงหนึ่งผมพยายามจะเป็นจะตายให้ตัวเองได้เป็นส่วนหนึ่งของมัน จนบางครั้งทําทุกอย่างยกเว้นสร้างสรรค์ความรู้และแก้ปัญหาร่วมกับคนอื่น ไม่กี่วันก่อนจะเขียนจบ ผมเดินออกมาจากศูนย์ฝึกเยาวชนบ้านปราณี ฝนตก ยืนรอ อ่านผังโครงสร้างบุคลากร มีตําแหน่งของคนสองคนเขียนเอาไว้อยู่ข้างล่างสุดของผังว่า ‘นักวิชาการชํานาญการพิเศษ’ ผมขําในใจ สองคนนี้ที่เพิ่งเจอไปเมื่อสักครู่ ทั้งรูปแบบและเนื้องานที่เขาทํา ท่าทีและคําพูดที่เขามี สิ่งที่ผมเห็นทั้งหมดไม่ใช่อะไรที่ใกล้เคียงกับวัฒนธรรมของนักวิชาการในเมืองหลวงและเมืองใหญ่เลย ในขณะที่อาจารย์ในเมืองสร้างบรรยากาศว่าตนเองเป็นฐานที่มั่นของวัฒนธรรมวิชาการ รัฐบาลกลับเรียกคนที่ทํางานต่างจากนั้นว่า ‘นักวิชาการ’ ได้ฉะฉานพอๆ กับพวกเขา และยังคงมีคนอื่นในประเทศนี้ที่เรียกคนในคุณสมบัติอื่นๆ ว่า ‘นักวิชาการ’ หรือ ‘อาจารย์’ เช่นกัน ในขณะที่ ‘อาจารย์ในเมืองใหญ่และเมืองหลวง’ นั่งถกเถียงกันเพียงว่าอะไรใช่หรือไม่ใช่วิชาการด้วยจินตนาการที่ว่าการถกเถียงนั้นมีอิทธิพลมากมาย แม้แต่คําว่า ‘นักวิชาการ’ สําหรับ ‘นักวิชาการ’ ในรัฐเดียวกัน ความหมายของมันก็ไม่เคยเป็นสิ่งเดียวกันเลย และการถกเถียงที่ยิ่งใหญ่สําหรับคนกลุ่มหนึ่ง เมื่อมองให้เหลื่อมออกไปเล็กน้อย มันก็กลายเป็นการถกเถียงที่ไม่มีอยู่เลย

สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นคล้ายๆ กันในแวดวงต่างๆ การฝังตัวเป็น ‘คนใน’ ในวัฒนธรรมใดวัฒนธรรมหนึ่งมากจนเกินไป การเป็น ‘ใครสักคน’ หรือ ‘อะไรสักอย่าง’ มากเกินไป ทําให้เราไม่สามารถสัมผัสถึงความแตกต่างที่เด็ดขาดได้แม้มันจะมายืนอยู่ตรงหน้า เราเป็นตัวรับสัญญาณที่ไม่อ่อนไหวต่อสัญญาณอื่น และจะรับรู้ถึงสิ่งอื่นผ่านแว่นกรองที่กรองให้โลกทั้งใบหยาบเท่ากับที่วัฒนธรรมของเราให้ความหมายเอาไว้เท่านั้น ไม่ก็ไม่รับรู้ถึงความมีอยู่ของมันเลย เช่น เขาไม่ใช่นักวิชาการอีกแบบหนึ่งที่เราไม่รู้จัก แต่เขาเป็นนักวิชาการปลอม เขาไม่ใช่ศิลปินอีกแบบหนึ่งที่เราไม่รู้จัก แต่เขาเป็นศิลปินปลอม นั่นไม่ใช่สัตว์ชนิดที่เรายังไม่รู้จัก มันเป็นแค่หมาปลอม คนคนนั้นไม่ได้ทะเลาะกับเรา เพราะเขามีเหตุผลที่เรายังไม่เข้าใจ เขาทะเลาะกับเราเพราะเขาเป็นคนเลว ชาวต่างชาติคนนั้นไม่ได้ส่ายหน้าให้เรา ในความหมายที่เราไม่รู้จัก เขาส่ายหน้าให้เราเพราะเขาปฏิเสธเรา สิ่งเหล่านี้คือการมองโลกด้วยแว่นกรองจากแวดวงหรือวัฒนธรรมของตัวเอง ไม่มีการเผื่อใจเอาไว้ว่าอาจมีความแตกต่างกําลังเกิดขึ้นตรงหน้า

เมื่อความแตกต่างอย่างเด็ดขาดถูกตัดสินว่าเป็นเพียงอย่างใดอย่างหนึ่งด้วยแว่นกรองของวัฒนธรรมหนึ่ง ช่องว่างของความไม่ลงรอยก็จะไม่ถูกรับรู้ว่ามีอยู่ และเมื่อไม่มีช่องว่าง สิ่งใหม่ก็ไม่มีอากาศจะหายใจ เราต่างกันอย่างเด็ดขาด หวังว่าคุณจะพบทั้งช่องว่างและโอบกอดในนั้น.

I dip my feet into the smoky water, soothing my bones. Blood rushes from the waist to my face, sending across a warm chill. What sensation my body never felt at home, I felt it here.

1

In July 2019, Democrazy Theatre Studio, a small theatre company based in Bangkok, travelled to Yokohama to perform a piece called The Retreat. I was tagging along to witness their performance and, before I knew it, found that my passport had a stamp that identified us as ‘Entertainers’ and a card that labelled us as ‘Artists’. That strange feeling occurs every time I recall what those documents said about me.

The Retreat is a collaboration between dancers and choreographers exploring the possibilities and limits within and outside their bodies. This choreographic piece requires one to dance and discover the ‘Otherness’ hidden within the movements one performs in everyday life. In over a year, while everyone else was searching, my role was to observe and discuss what was encountered along the way. In other words, I was their dramaturg.

Deemed as the ‘expert of performance art’, the dramaturg often breathes alongside artists. But neither was I qualified as an ‘expert’ in any way, nor was I close to being ‘inside’ the world of art or performance. My role was simply a ventilating body migrating air from other worlds to conspire and converse with these two worlds. Put simply, I was the outsider within; a harmless ambassador, an outsider who was allowed inside for the very reason that I was the outsider. That perhaps explains that strange feeling of being identified as the ‘Entertainer’ or ‘Artist’ like everyone else, when my status as the outsider, and the differences that initially bridged our friendship, were stamped out.

We spent one week in Yokohama among artists, dancers, actors, producers, curators and international theatre festival goers who assumed that everyone were ‘insiders’ of somewhere. This assumption translated into a formulaic set of questions people asked each other: What performance project are you working on? Do you have a space yet? Which show are you most interested in? (None for me in that festival.) Which residency1 Grant given to artists to live and work outside their usual environments, providing the time for them to research or produce work. did you apply to? I had no answers to these questions. Saying ‘I don’t know’, ‘I don’t understand’ or ‘I’m not part of it’ were abominable in their eyes.

The ‘Artist’ tag revoked my status of the harmless ambassador, an outsider within, and brought with it all the expectations it had for an insider. I was now allowed inside because I was seen as an insider and, as I eventually found out, a disappointment and failure. Strangely enough, I started to feel like one and this feeling slowly intensified into a personal crisis. My week in Yokohama was spent macerating in the existential question about who I really was when, in fact, I was exactly the same as when I was in Bangkok. I never had any problem with it, neither did everyone else.

How can the value of something change so drastically in a different environment?

Red burns brighter next to green. I recall the time in Bangkok when I was breathing alongside those who seemed so comfortable with their bodies. Dancers, they move professionally and playfully; they appear, steer, touch and react to each other with fierce nimbleness. This time, it was not the imposter syndrome of being labelled an artist that I had to deal with, but it was my body feeling out of place from the agile assembly before me. I am slow and disproportional. And so, the more they moved, the more I felt flawed; the more they wrestled with each other, the more I realised how I winced at being touched by others. While no one had expected me to be like them, being in close contact with a concentrated amount of differences may also render us sensitive.

Being touched by others takes on different meanings depending on the values we give to our body2 For example, we are less surprised to be touched by a police officer on the arm, if we know we are the victim as opposed to the suspect. If we are poor, the touch of gold feels distant or we feel that it elevates our status, whereas a rich person or someone who works at a gold shop might feel differently. At the same time, those values are derived from the image of ourselves as reflected in the eyes of others and, sometimes, we turn away when that image is of disappointment. It’s difficult to embrace others on days when we feel disgusted with our clammy and cumbersome bodies, but it’s more terrifying to be responded with the slightest twitch that confirms that they, too, are disgusted by us.

My body was disproportionate, just as it’s always been, but this sensitivity made me feel worse about myself as I watched those dancers move. I don’t have the attributes of an ‘insider’ from the art world, but it was a lack that grew into my friendship with the people from that world. But sensitivity stings in an environment where everyone expects you to be that insider. We are sensitive to that space carved out of the differences between us, so much so that it feels like something needs to be done.

2

Returning to Bangkok, a woman in her thirties sat next to me at a party. She was late and couldn’t find her friends, but there weren’t any better seats available either. OK. Now we have to talk to each other. She was a curator from Hong Kong, American accent, well-mannered, and it was obvious she works internationally. I introduced myself according to what I was currently working on, which was researching cross-cultural communication in youth centres3 Juvenile prison, in short.. She asked me, between which cultures? I told her, at times it’s between generations, regions, classes, other times between human beings and objects, soaps, bathrooms4 The soaps and water at the youth centres are harmful to the youth’s skin. It causes itchiness, irritation, contagious diseases and prevents them from following the behavioral conducts because they keep scratching themselves all the time. , and so on.

She didn’t understand how these things were ‘between cultures’. Culture, for her, meant something like Thai and Cambodia, Srivijaya and Lanna, or perhaps something bigger, like China and America. As for the people in and around Suvarnabhumi region who all look the same, eat the same food, swim in the same ocean water—what kind of differences could you possibly study between them? She must have thought that I was lousy with my words and her eyes seemed to read: what in hell’s name are you really doing?

One day, I realised that my word for ‘culture’ was too small for the eyes of those who flock the international circle (those who tend to adopt a ‘bird’s eye view’, or a distant and hovering perspective that pixelates us all into small, identical dots). But it was noisy inside the party, she was well-dressed and her manners were impeccable—all of these elements were enough to indicate that no one in that party was here to engage in any real conversation. I didn’t bother to explain to her what ‘culture’ really meant for me, so she must have thought to herself, ‘What a show-off. He doesn’t even understand a simple word like culture’. Meanwhile, I desperately asked for the cooperation of the Thai person sitting next to me, pretending like we were so engaged in local matters that we have forgotten our roles as model global citizens, thus letting the exchange that could have happened dissipate in the commotion.

My familiarity with the word ‘culture’ in the diminutive sense was perhaps due to my past obsession with the conceptual trend of the ‘ontological turn5 A discourse that emerged from 2010 until present. See Bruno Latour’s We have never been modern and The Power of Association, as well as the Actor-Network Theory. See Philippe Descola, Beyond Nature and Culture and STS (Science and Technology Studies). These are the references I often reach for. ,’ a concept which prods us to return to question ‘what’ and ‘how’ things are before going any further6 For example, asking the question ‘what is a cow?’ might elicit answers such as an animal, a mammal, or any other kind of scientific explanation. Try asking the question once more but, this time, the cow is associated with other meanings. For example, the question ‘what is a cow for a farmer?’ might prompt answers like a product, a friend, food, or everything all at once—if that is the case, the farmer would be confused by is intimacy with the cow that, if the economy collapse one day, he might have to sell half of it, eat half of it, and he would not know whether to thank or apologise to his friend. If we ask ‘what is a cow to a tiny fly’, the answer would probably be that the cow is meaningless; the cow is probably too big, it’s a live and emanates heat, something that indicates to the fly that it is in close proximity to what the fly wants (cow dung). . To look at the being of ‘it’, rather than the categories imposed onto it (by us), allows us to see that ‘it’, too, has its own culture. People, trees, masses of rocks, microbes all have their own terms of being or culture that are far too complicated and idiosyncratic to be contained within the categories or statistics we have assigned for them. And the existence of human civilisation played no part in deeming certain things more extraordinary than the other, since culture, nature and behaviour are all regarded on a horizontal plane. What’s left for us to regard them with is nothing more than their own terms of being.

In this way of thinking, to categorise is considered rude. It’s like asking your male gay friend, ‘I thought you liked women,’ or asking your mistress, ‘Do you do this when you’re with your kids?’ Doing so ‘confines’ them inside the cage constructed out of your own definitions and casts aside from your field of vision the complex ways that they ‘are’.

Perhaps I have been using the words ‘culture’ and ‘being’ so interchangeably. But being able to see that everything has their own culture requires us to handle them with the same amount of care as we do with human culture. Saying ‘We will study the behaviour of dogs’, or ‘We will study the nature of dogs’, is scientifically connoted, but saying ‘We will study dog culture’, suddenly carries an anthropological or sociological weight of care which, in turn, would allow us to come up with those ‘new questions’ to examine things further. As for the thirty-year old curator, her sense of the word ‘culture’ might be one that isolates the conditions which can be controlled by humans (culture) from that which exists beyond our control (nature). Even narrower, the word is strictly reserved for large societies and civilisations. Such is the scope of the word culture in Western academia. It seems that she had projected her desire to organise its definition as such onto me, without asking me what my ‘culture’ really meant.

Separating nature from culture blinds us towards the different ways of being unfolding before our eyes. Categorisation coarsens our sight rather than magnifying the intricate details. It filters everything we see through its ‘lense’ rather than allowing us to look right at ‘it’, hence ‘new questions’ never arise in education (and have been particularly absent for a while in the academic circle in Thailand7 With every action the military government takes, one can expect Thai academics to say something banal, so much so that they could hire robots to speak for them.). However, the absence of new questions doesn’t mean that all the answers are present. It means that we are hitting a dead-end with a set of logic that chases its own tail, because the real players who are weaving the nets of all problems remain elusive from our field of vision filtered through the lenses of categorisation. Therefore, questions like ‘what is it/how it is’ becomes the leavening agent for new forms of inquiry to rise. She (the curator) may never be able to find them, not until she removes the lenses that categorise (and not until she defer from organising my definition for ‘culture’) and instead focus on how things ‘are’ (to find the definition of ‘culture’ that I was trying to get across).

Perhaps she’s just like what I thought she was… or not?

I might have forgotten that she, too, knows and exists in another language, or that she, too, was trying her best to understand what I had meant. So, drawing such a conclusion about her might be the opposite of understanding her? It’s interesting that the word ‘culture’ could not pertain to a single meaning. In fact, her western mode of delimiting culture was nonexistent in Japan up until the late Meiji8 Jensen, Casper Bruun and Atsuro Morita (2017), ‘Introduction: Minor Traditions, Shizen Equivocations and Sophisticated Conjunctions,’ Social Analysis (Special issue: Multiple Nature-Cultures, Diverse Anthropologies) 61(2): 1-15. era. Before that, there was no word for ‘nature’ in Japanese that excludes human beings from its definition and it took almost 50 years to find an accurate enough word that strictly means ‘pure nature9 Translated into shizen (自然, ziran) in Chinese means ‘Nature’, it is an opposition of ‘sakui’ (作為) which means ‘Culture’ or ‘Construct’ ’. This shows how the two worldviews differ down to its core. Communication recorded via a different understanding of language often tells of completely different things10 For example, some anthropological papers from Japan do not comply with the Western mode of summarising or interpreting, but only entails a written record of what the anthropologist sees. However, I cannot remember the exact source I am referring to, and for that I apologise. . Not only do words differ, but also worlds.

In Thai, the word for nature means being while the word for culture, which came later, means being evolved by humans. It seems like we share a similar translation story to Japan where the word for ‘culture’ in Thai [วัฒนธรรม] was invented to mimic ‘culture’ in the western sense. Yet, culture in the Thai context often refers to things that are detached from everyday life, like traditional dances or royal language. Sex tourism in Silom and Pattaya suddenly seems comedic when we say, ‘Let’s explore Pattaya’s culture tonight’, (although it’s one of the largest Thai culture known internationally).

The space in between languages, traditions, bodies, or anything else for that matter, is carved out of categorial differences, and this space even cleaves its way into a seemingly peremptory word like ‘culture’. It’s ironic that such stark differences are not obvious at first glance, but what is obvious is merely the reflection of the thing we are looking at. Not the palpable textures of the thing itself. What is obvious is illusory, while empty spaces lend a breathing space for all things to ‘be’ and ‘become’.

3

The Yokohama theatre festival gave us drink vouchers to use at a bar that opened every night. Yet a handful of them remained with me even on the very last night, since I could not possibly think of anything I wanted to do at that bar. As mentioned, I was no longer the harmless ambassador, but a disappointing insider with no questions or answers, with nothing to give or take. I decided to give my vouchers to my friends and spend my last night strolling aimlessly.

Half of the people in Blued11 A gay social networking and online dating application. were festival attendees while the other half are locals who couldn’t speak English. My phone screen switched between that and search results for gay landmarks in Yokohoma. I scrolled my way through them, trying to look for something interesting nearby or someone that I could engage in a different kind of conversation from the ones inside that bar. Perhaps I might meet someone who happened to come for a drink there with no particular project in mind. I wonder how different are people’s sexual preferences here compared to Bangkok. It might help to alleviate my sensitivity if I saw a better version of myself reflected in the eyes of those who live on the other side of the world. We all become a new person in each other’s eyes and we might even forget the things we don’t want to remember.

I returned to my room to freshen up and wait for a notification from my phone that would never come. In my private moment of despair, all my assumptions and fantasies withered. ‘Japanese people don’t really mess with foreigners’, I thought. I must have felt so fragile to the point where conversations no longer would suffice. I needed to do something to prove that at least one of my assumptions were right. Google Maps told me to leave the hotel, cross the bridge on the opposite side of the road and, within five minutes, I would reach a bar called Lazer (made up name), which I eventually found was not there. I circled around the area for about half an hour, sighing profusely. That bar probably moved somewhere else. I returned to the pinned location once again and lit a cigarette to anticipate the end of this episode where I would be walking back to my room.

As soon as I took a step, a rainbow flashed and disappeared on the ground. A light-skinned Japanese man wearing a face mask was walking along the row of buildings and stopped behind me. He looked left and right before entering a door leading to a dark staircase. It didn’t look like he was heading home. I made my way to the front of that door, peered inside and saw letters smaller than the expiration date printed on a milk box that read ‘L a z e r’.

So this was it. It was there, hiding but refusing to disappear, only ‘hinting’ at its own existence. The architecture, the area or the way these letters were written were probably telling of the gay community in Japan, or even communities for marginalised people in general: invisible but always there.

In Shoplifters (2018), a group of marginalised people gather, like a family would, in a rundown house in the suburbs of Tokyo. An elderly woman, who was the house owner, agreed to let her tenants12 Sex workers, burglars, cheap labour, construction workers, orphans, etc. hide from government officials while she could keep receiving state pension and evade other payments and punishments. One day, the elderly woman died and no one could report her death. Instead, they had to find a hidden spot to bury her body, making it seem like a murder cover-up than a mournful farewell.

To help with the house, a couple trained an orphaned kid to shoplift and the three of them bonded over these training sessions. When the kid got arrested, the couple was unsuccessful in trying to bail him out, so the three of them broke out of prison. The kid eventually returned to his parents where he could live a privileged middle-class life in the city. However, the couple was arrested in the end. It was heart wrenching to see how the couple had imagined for themselves the ideal image of raising a perfect family, only to realise that nothing—the child, house and their possessions—belonged to them, only to realise that people like them are not worthy to parent anyone. The characters in this film are never sure that their love for each other is real, even loving someone had to be done in secret for these marginalised communities. These people move discreetly, no different from the monsters in fairy tales; they always exist but refuse to be seen by humans.

It’s strange to think that things like ‘gay bars’ is regarded as monstrous in Japanese society the same way poverty is regarded in Shoplifters. It made me realise that the reason I was standing in front of that door was because I, too, had fled from the theatre festival that forced me to confront my own lack.

4

I turned the door knob and climbed up the narrow staircase. A swallowing noise brushed past my ears. Music pulsed through the walls. I walked past someone descending down the steps before I was confronted with my upper half reflected in a mirror with an opening at the bottom. Someone peered out behind that mirror, speaking japanese and pressing on a calculator that he then shoved through the opening to show the entry fee. It was moderate. I paid the fee and was given a locker keychain, a loincloth13 A single piece of cloth wrapped round the hips, typically worn by men in some hot countries as their only garment. and a small towel, before following the arrows on the floor inside. There was a small common room with Japanese porn playing on the screen, a stack of porn magazines on the floor, and a running humidifier and heater. A few Japanese men were readying themselves by the lockers. One man had just put his loincloth on, strapped his keys around his wrist, before ascending up a dark staircase. Everyone here seemed quiet and under pressure. I, still fully clothed, followed him up the stairs and found a black room lit under a red light. There were low panels that divided the room into smaller rooms. There was a large common room where people wearing loincloth were walking around, shooting wary gazes across the room, as if they were either looking for something or hiding from someone. Some were attending to their businesses in the smaller rooms while others were lying down to wait for someone in the large common room. Quiet and under pressure. I came back down the stairs to gather my nerves. A sign reads:

Everyone is strictly required to wear a loincloth. Public nudity is illegal in Japan14 These common rooms, like their namesake, are a public space. The little divisions with closed doors are considered private..

The sign forbids us to be naked. But, apparently, being fully clothed was also unacceptable.

At the time, I had assumed that people in this kind of place weren’t so constrained to anything. Everyone was already naked so orgies weren’t unimaginable. This could be the moment to ease the insecurities I have always had. In orgies, we are allowed to be anonymous. We could embrace each other unconditionally. I sat down to smoke, before legalising myself into that community by putting on a loincloth.

Keychain on left wrist = Dom. Keychain on right wrist = Sub.
Keychain on right ankle = no penetration. Keychain on left ankle … (I can’t remember)

There was a man with glasses lying on the floor with his eyes closed, his keychain strapped to his right ankle. I lied down next to him and nudged his leg. He opened his eyes, saw me, then closed them. I had previously circled around, trying to take my pick and steady myself for a long while. I hadn’t taken an interest in him until I started feeling tired and thought to myself that this opportunity should not be wasted. All of us were walking in endless loops, either because we haven’t picked anyone or haven’t been picked, and it seemed like we weren’t going to pick each other anytime soon.

Not long after, the man with glasses ended up with another man that I had just walked past without paying much interest to him. They started to jerk each other off. That was the last thing I saw in that black room with red light.

It seems that we are still clothed even beneath our bare skins. Being naked in a place where everyone else is doesn’t make us less constrained or tied to certain conditions that forbids us from launching ourselves into ‘orgies’. Social status, class and all kinds of social categories run deep under our skins until their very last drop. Exposing our bodies neither liberates us nor does it broaden our attitudes; rather, it burdens our expressions, rules, judgement or our ‘clothes’ with even more weight. Soon, I realised that this black room is no different to the theatre festival I had just come from. My value plateaued as a poor and monstrous creature.

I put my clothes back on, gathered my things and chain-smoked until I could muster enough courage to confront my upper half reflected in the mirror by the entrance. I tossed away my towel, and returned my loincloth and keychain into the opening. The person behind the window thanked me through the mirror in Japanese.

I tried to speak English to him, “Can you find me a prostitute?”
He didn’t understand that I was politely asking him, “Can you pimp me a rent boy?”
I picked up my phone and typed in the same sentence to translate into Japanese:
“私の売春婦を見つけることができますか?”
He laughed and replied, “NO”.

5

I don’t remember what I had typed into Google when I opened a trilingual site  in Japanese, English and Korean. You can pick the provinces out of Tokyo, Nagoya, Fukuoka and Yokohama. A warning message was written at the bottom of the page: ‘Leave if you are under 18’.

After choosing Yokohama, there was a content page of a hundred ‘male friends’. They all had professionally taken pictures that presented them with different personalities. The site menu consists of ‘Boys’ (images), ‘Policy’, ‘System’ (price and agreement), ‘Photo’ (examples of locations), ‘Access’ (maps) and ‘Contact’.

Take a second to consider this: if this website was fake, we should be ashamed that a fake Japanese website is more accessible and navigable than official websites administered by the Thai government. Their policies were listed clearly and in detail, their different prices were so thoroughly explained that it was impossible to have any further inquiry, multiple contact channels, and credit cards were accepted. If we choose one of the male friends from the content page, we would be given information about their name, height, weight, age, size, sexuality, English proficiency, as well as willingness to be dom or sub (or both). It was one of those websites that you could easily understand within minutes and know what to do next.

According to Japanese law, the sex industry is different from prostitution. The former is legal up until bathing each other, whereas the latter is not because it entails penetration (more or less). This means that professionalism, the transfer of knowledge, rules and regulation circulate openly in the Japanese sex industry; it grows under legal protection. This website I was scrolling through might just be the first portal into Japan’s many faultless and meticulously controlled services.

Yet, the line that differentiated prostitution from the sex industry can be crossed by a single touch, a touch which straddles dubiously between the moment you are considered a legally protected consumer and the moment you surf the black market. This website could be a legitimate enterprise or a dangerous circuit. I tried to read everything thoroughly.

One policy reads:

‘We do not accept asking the boys about the personal information, real name address, phone number, e-mail ad, and so on … Moreover; please, do not tell your own information to the boys.’

What does this mean? It means that everything is fake. Living fictionally becomes compulsory to offer and receive this kind of service. A white light spread through my chest. At that point, safety, ethics and the law were suddenly thrown out the window. During the past days, the conditions of living in reality were too difficult to bear. Being in Yokohama had forced me to confront the poor and monstrous being that I was in Bangkok. Then, all of a sudden, these things were suddenly required to disappear. Isn’t this a salvage for a sunken dream? In some moments after finishing a film, in some sentences describing a character’s life in literature, I wanted to be free from reality and myself. I wanted to become someone else, someone better.

I sent my request to the LINE ID on the website. A response came with a few names of the male friends that were available that night. After I had chosen one, I was sent a moderate amount of the terms and conditions. We scheduled a meeting place and I had to let them know what I was wearing and a signaling gesture to identify myself. Google Maps told me that it was only a ten minute walk to the pinned location, which happened to be around the area where I had my first meal after arriving in Yokohama.

Sometimes I ask myself why everything seemed like it was scripted, or was this coincidence simply the product of Japan’s more advanced urban planning and transportation system in comparison to Thailand. Sometimes these sequence resembled a plot leading someone to their murder, robbery, torture, Yakuza initiation or disppearance into a bizarre underworld of Japanese society. Still, I was punctual. I stood smoking next to a 7-eleven and, soon, he walked up the steps from the underground with his hands tucked inside his pockets. He seemed kind, smiley, lively and simple. All the scary things I had imagined earlier were completely forgotten. I was about to turn into a baby lamb.

“Did you call?”
“Yes”

His beady black eyes were calming to look at. His smile made me smile a little inside. Don’t laugh. Sensitivity strips us down to our pitiful minimum. He asked me what cigarettes I was smoking and acted surprised that we smoke the same brand of cigarettes. “So sweet!” He giggled warmly.

I knew that he was working. Yet, I wasn’t bothered that he was faking it. I thought he was good at his job, similarly to how I felt when my colleagues produced good work for me. While we were crossing the road, he shielded me from the traffic, cautioned me by putting his arms around my shoulders and handling me here and there, as we tried to talk to each other in broken English. A short walk and we reached a townhouse. He pressed the door code, showed me up the lift to the top floor, and held my hand as we entered the room.

He took off his shoes and turned them outwards like most Japanese people do. I followed him and he exclaimed, “Oh!”. Then he complimented the way I took my shoes off like he did, “Very good!” Something along those lines. I was willing to be the child in his game. He closed the door and helped me with my coat, hanging it neatly, tapping the dust off it a few times, and smiled at it in satisfaction.

“Sit here?” He gently touched my back and invited me onto the sofa. I will try to recall our conversation from memory. He started,

: (silent) where are you from?
: I’m from California.
: Wow! Really? I used to live in California too. I studied there.
: Really? That explains how you speak English very well. Where did you live in California?
: Too bad… I can’t really remember … I didn’t study for long and had to come back.
: Oh, I see.
: Oh! What’s your name?
: (I can’t remember what my name I had used)
: I’m Suzumu. Nice to meet you. Oh! What are you doing in Yokohama?
: Working.
: Work?
: Oh… I’m working at Kanawa theatre.
: Oh! Really? That theatre? Are you an actor or a director? So interesting!
: I’m a dramaturg.
: Drama… Dramaturg?
: It’s umm… it’s like the director’s friend, like his advisor.
: Advi… ? Huh?
: Umm.. It’s like… like… the director’s teacher.
: The director’s teacher! Oh wow! That’s great! I’m talking to the director’s teacher!
: Ha… Yes.
: You know, I’m an actor too. I’m also a singer.
: Wow! Really?
: I dream of becoming a moviestar. I’m trying to learn, both acting and singing. I can sing very well, you know?
: Really? That’s great
: I wish I could perform at Kanawa theatre one day.
: Oh… Fighto!
: Ah… Fighto! It’s the same word in English.
: Really?
: Ah, yes. Fighting. Fighto. The same.
: That’s good. We have a lot in common.
: Yes … good luck with your dream!
: Yes!
Photo by Varis Likitanusorn

That’s all I could remember. The real thing was more like an attempt to converse in broken English. Everything we intended to communicate had to be channeled through our tone of voice and gesticulation. It transformed a mundane conversation into something strangely seductive. Simple things became fascinating. The empty space and the categorial differences between us played an unexpected role in enlivening our conversation.

You won’t be so happy when what you say is understood by Thai people. Japanese people wouldn’t compliment their compatriots for taking off their shoes the Japanese way; rather, they might be telepathically sneered at for not doing what they should. Our conversation took flight with the ‘mileage’ from perceiving the categorial differences we had between each other in that empty space; the acceptance of incomprehension as the norm. When it seemed that we were starting to understand each other, the empty space slowly dissolved into an embrace. Being able to feel the other person closer to us is always a reward in communication. These embraces can only occur in the empty space between cultures and, in some conversations humming across the planet, it is where some people can only embrace each other.

Where are the ‘categorial differences’ or ‘empty spaces’ leading to those embraces? What exactly are they? Does it only happen with foreigners? Instead, the question should be: aren’t we already and ‘categorially different’ to the things around us? So what makes it so hard for us to embrace the seemingly familiar?

The empty space is there but imperceptible (we are different but we don’t know that we are). We expect other things to be similar to us so we judge them on the basis of that similitude. But is it possible for us to see the empty space, not only between the foreign but also the familiar? Is it possible for us to embrace them once again?

6

Three months into 2018, up until the moment I am writing this, work has required me to travel once a week to a different province. I found that these empty spaces existed everywhere between the bodies we thought we were akin to, between objects we thought we were familiar with, between conversations we thought was mundane.

I was staying in a Karen village cloistered between the valleys at the edge of Mae Hong Son. When our mission was over, we wanted to dip our feet in a cold brook before departing.

: How do we go down to the brook?
: What?
: How do we go down? Which way?
: Oh. You go down.
: Umm… I mean, is there an easy path to go down, somewhere not slippery?
: Oh. (Scratches her head) Over there. By the cassava tree.
: Oh… What does a cassava tree look like?

How exciting when our simple sentences meant nothing to each other. My first question meant nothing to the Karen woman. A city dweller looking for a constructed path or ‘steps; for their convenience, which, to the Karen woman, was unnecessary if one wants to take a dip. Why ask how to get down? You could go down anywhere if you wanted to. On the other hand, a legend like ‘cassava tree’ meant nothing to the city dweller who does not navigate with their memory of trees.

Hypothetically speaking, this empty space could emerge when a Karen elder asks a teenage city dweller, ‘How do you use the internet?’ For the teenager, the scope of this question is so vague, so much so it becomes meaningless. You just use the internet as it is. Use it for whatever you want. What do you mean, how?

The Karens weren’t short, but they never smack their heads against the beams like the city dwellers who came to stay at their house, crying pain every time they smack their heads on the wooden surface, because they were not able to see as well in the evening light. For most of their lives, city dwellers are more receptive to either the tungsten or neon light above their heads. The Karen’s wooden houses weren’t lit by electric bulbs hanging from the ceiling, but they were lit sideways. Their bodies and sight were used to light that travelled from east to west and choreographed the way they bend their bodies in their daily activities, as opposed to how city dwellers became disoriented without light shining above their heads.

Karens don’t weigh less than city dwellers, but their feet were fearless when treading on bamboo floors across the valleys. A city dweller’s entire body tense up as they stood there and saw the entire valley between the gaps in the bamboo floor. All they could think of was their feet breaking through the bamboo and plunging into the depths of the valleys at any given moment. It was the strain of such vivid imagination that heightened the chances of city dwellers to actually break the bamboo floor as they rigidly stumble their way across them.  At the same time, I can’t imagine how stressful it must be for the Karens to walk around in Siam Paragon.

Not only did our language differ but also every muscular culture throughout the entire lengths of our bodies. Even when it looked like we almost understood each other, our bodies and minds were grasping different meanings of things. Moreover, if I remember clearly, farmers greeted and acknowledged each other from afar, whereas city dwellers pretend as if others weren’t there even when their bodies were crammed in the skytrain. The farmer’s ears could hear conversations happening across distances, whereas city dwellers wouldn’t hear what they didn’t want to hear inside a meeting room. An uncle felt that he could taste the sweetness of the sunlight as he bit into his mango. He could control its sweetness by understanding the rhythms of the sunlight brushing against the fruit; the wrinkled fingers of an elderly woman dragging a small fishing net could feel what kind of fish was caught through the rhythms they yank.

The empty spaces in between all these things might seem miniscule when regarded at a distance (for example, in the art world or international circuits). But it’s possible that these small things play an immense part in how everything communicates with each other, between you and me, between different political groups. No different from the bacteria’s quality of life inside our guts that affects how we feel physically and emotionally this morning and so it determines whatever was going to happen in your afternoon meeting.

7

In my conversation with my ‘male friend’, it was obvious that both of us lied about living in California. I even lied about the dramaturg being the director’s teacher. As mentioned before, one of the policies written on the website strictly told us to meet each other under false identities. This ‘falsification’ insured us that any possible risks of encountering our terrifying realities were eliminated.

What kind of night would this be for me if my job was really the director’s teacher in that theatre and I happened to realise in the last few seconds that I was about to sleep with an actor who aspired to act in that very same theatre? Yet it was impossible for these things to happen because none of it was real. We both knew that this conversation was a service one was giving and receiving from the other. Behind our falsified bodies lies no history that could culminate into any potential risks for this relationship. A large empty space is created when the truth is removed. In that space, our bodies could love or be broken many times over and the truth is still left unscathed15 Watch ‘Striking Vipers’, Black Mirror (2019) on Netflix, an episode about two friends who engage in gay sex as fictional characters in a virtual reality fighting game similar to Street Fighter. But after a while, they start to feel uncomfortable with their virtual intimacy and some tension in their friendship arises as a result. The ‘safety’ that roleplaying offers might not always work in every condition. Knowing that my visit in a foreign country will only last for several days, I know for certain that I won’t see him again, so the chances of forming intimacy with the real person are slim to almost impossible. But in ‘Striking Vipers’, the two friends know of each other’s real identity and their real-life bond. As for me, we only know of each other through our fictional bodies while our real selves are unacquainted; there is nothing that could make us fall for each other. .

I know that it’s easier to lie with words, but it’s almost impossible to distort the truth that surfaces on the body. We sweat when we run; our faces rigidify when we fake a smile; our pupils dilate when watching a horror film—our bodies are transparent. But, tonight, as our bodies began to engage in a physical relationship, I started noticing that I couldn’t read his eyes.

He asked to shower together. I stood paralysed on the spot as he was beaming with enthusiasm. He taught me how to use mouthwash the way Japanese people do (or the way he did), and complimented me for being able to follow his instructions. I started to relax a little, whereas he looked completely relaxed already. But was that really so? I could feel that my body was disclosing my anxieties out in the open, but I couldn’t tell if he was hesitant or mustering a huge amount of effort to interact with a body like mine.

Have you heard of this phrase from a song lyric, ‘You bring out the best in me’? When two people are in love, especially a new love, the reflection they see in each other’s eyes are always better than reality. They would find the best parts of themselves other people or themselves haven’t seen before and, in turn, they would feel themselves anew. Weird. I was certain that there was no real love or desire. The image of myself reflected in his eyes were not the best parts of me, but they were something I didn’t know of before.

Ever since I can remember, there were some aspects of myself that I never wanted to see. I never wanted to acknowledge this monstrous body I was living in. However, his touch made it more familiar; my body took on meanings that grew out of his touch and the image reflected in his eyes. I’m not a monster, but something nascent. It was a condition that liberated me from the poor, incompetent and monstrous statuses I previously bore. It stripped me to just a body being touched.

Why? It was probably because his body and eyes told me nothing. There was a categorial difference between us, unlike how Thai people or anyone living under the same kind of society are mostly legible to each other. It was almost impossible for him to judge me16 Perhaps he doesn’t have any judgement at all? It’s possible that he is deeply loyal to his job that his real identity is completely suppressed during working hours. This might be one of the core values passed down among generations of Japanese sex workers—the kind of ‘professionalism’ that goes beyond anything we’ve ever imagined. Who knows? because I was unequipped with the right receptor to detect those kinds of information in the first place. That receptor is sensitive to the cultural and environmental conditions that choreographed his body at molecular level, before they manifest in the way he expressed himself through his gaze and emotions.

I was unable to see or touch the world he was living in, not to the extent that it reveals the nuances transpiring between us. Similarly to how the cassava tree meant nothing for the city dweller’s mode of navigation, he might have conveyed many terrible things that dissipated mid-air before it reached me, and vice versa.

8

You might be ‘confronting’ these letters as they pass through your eyes; they become sounds ringing in your head. We taste, smell, see and capture the images of the things we face. Losing face, growing thick or thin skins—the memories of these sensations gather and calibrate on our faces more than anywhere else in the body17 If you are blind, your perception relies on other senses to bring you the closest sensation to vision, such as smell or touch. You read with your fingertips, not your face. Is it possible that your perception of the other’s identity shifts from the face or head to other parts that are less visible. . During rush hour, our limbs are squeezed together on a packed sky train while our faces may never touch. We (city dwellers) refuse to get too acquainted with ‘these people’ because there was no use for us to get to know them. In this context, our faces act as our own ‘agents’ who could strictly accept or deny any forms of interaction coming our way.

He toweled me dry, took me to the bed and played music on his phone. Without any reluctance about its significance, he started by moving his face to touch mine and kissed me.

In Thailand, I refuse to use my tongue or lips with any one-night-stand partners. Lips are reserved for last. A kiss is expensive or it may not even be ‘for sale’ in a sexual service. In this kind of relationship, we never really want a real human being we know or to bond with. All we want out of it is a receptacle for sexual relief that feels like the body of a real human being. The tongue, lips and face are loaded with meaning for a Thai person like me. But, for him, these parts meant something categorially different. This meant that the kiss was immensely profound for me, even if he didn’t feel an ounce of it.

But could it be that the meanings we individually associate with our tongue, mouth and face didn’t actually differ that much? The empty space might not have occurred there, but in between our understanding towards this ‘service’ that meant something categorially different for Thai and Japanese people (as well as other nationalities). This service might demand a larger responsibility for him compared to what it demands for Thai people. The lips and face might have been, for him, just as important as it was for me, hence it was important that they were used to initiate the service, as a sign of sincerity to his valued customer.

But speculations aside, what really was the truth? We don’t know and probably never would. An empty space in between us. That night ended with a farewell embrace. I never heard anything from him again. As I am writing this now, the picture of him smiling had already disappeared from the contents of my memory.

9

After my return from Yokohama, I realised that I no longer wanted to be ‘inside’ the art or theatre circle, or any circles for that matter.

In the Thai academia circle, academics from big cities often debate with each other, publish their works in journals, exhaust intellectual jargons, spiral around the same people and topics, and worship the same gods, dead or living. We cling onto each other so tightly. For my teenage self, this cycle became a model for the international culture of ‘academics’, those who produce knowledge and collectively solve problems with other people.

There was a time when I desperately tried to be a part of it. And sometimes it felt like I was doing everything but producing knowledge or collectively solving problems with other people. A few days before finishing this piece, I walked out from Baan Pranee’s youth training centre. It was raining, so I stood and read their display of the organisation chart. There were two positions written at the bottom of the chart which reads, ‘Academic Specialist Expert’. I chuckled. I had only left these two people a while ago. The form and content of their work, the manner and language they used, all of these were not even close to those practiced within the culture of big city academics. While professors in the city construct an atmosphere to establish themselves as the solid foundation for the academic culture, the word ‘academic’ is unequivocally used by the government to describe people whose works are entirely different. There are probably many people in this country who call others ‘professor’ or ‘teacher’, despite being qualified differently to big city academics. At the same time, ‘big city academics’ debate over what’s academic and what’s not, since all they could imagine was how important a debate is. Even the word ‘academic’ for ‘academics’ living in the same state pertains to different meanings. That debate one community deemed as important ceases to exist when you look slightly beyond it.

This kind of thing tends to happen in all kinds of circles. Planting oneself too deeply into a certain culture, becoming its ‘insider’, a ‘somebody’ or ‘something’, desensitises us from discerning categorial differences even if it stood right before us. We might become a mono signal receptor only able perceive things through the lenses that coarsen the entire world and confine them within the meanings assigned by our culture. We might not be able to acknowledge that certain things exist at all. For example, they might be a type of academic we don’t know so they’re a pseudo-academic, or they might be a type of artist we don’t know so they’re a pseudo-artist, or that animal might be a type of animal we don’t know so it’s a pseudo-dog. That person didn’t argue with us because they might have reasons we have yet to understand, so they’re an asshole. That foreigner didn’t shake his head because it meant something we don’t know, so they shook their head in denial. Seeing the world filtered through the lense of one’s own circle or culture does not leave any room for any difference materialising before us.

We might not acknowledge that empty space when categorial differences are filtered to either this or that through the lens of one culture. Empty spaces allow nascence to respire. We are categorially different from each other. I hope you find both that empty space and embrace within it.

วริศ ลิขิตอนุสรณ์ |
Varis Likitanusorn

วริศเลิกทำงานวิชาการ และแทบจะไม่มีโอกาสได้เขียน เขากลายเป็นที่ปรึกษา (ไม่รู้ว่าด้านไหน) ให้กับแวดวงที่แตกต่างหลากหลาย (มากเกินไป) แต่วริศก็ยังคงเชื่อว่านั่นคือกระบวนการทำงานแบบ ‘บรรณาธิการ’ เขาจึงเรียกตัวเองว่า ‘Lead Editor’ ในบริษัทแห่งหนึ่งชื่อ Text and Title บริษัทที่ทำงานกับ ‘ทุกสิ่งที่ต้องเขียน’ แต่ไม่มีงานเขียนเป็นของตัวเอง

Varis quitted the academic field and rarely has a chance to write. He became an advisor (in an unknown area) for many different fields (too many), but he still believes that it is the working process of an ‘editor’. Which is why he calls himself a ‘Lead Editor’ in a company named ‘Text and Title’ that works with ‘everything that’s got to do with writing’ but has got no work of its own.

วริศเลิกทำงานวิชาการ และแทบจะไม่มีโอกาสได้เขียน เขากลายเป็นที่ปรึกษา (ไม่รู้ว่าด้านไหน) ให้กับแวดวงที่แตกต่างหลากหลาย (มากเกินไป) แต่วริศก็ยังคงเชื่อว่านั่นคือกระบวนการทำงานแบบ ‘บรรณาธิการ’ เขาจึงเรียกตัวเองว่า ‘Lead Editor’ ในบริษัทแห่งหนึ่งชื่อ Text and Title บริษัทที่ทำงานกับ ‘ทุกสิ่งที่ต้องเขียน’ แต่ไม่มีงานเขียนเป็นของตัวเอง

Varis quitted the academic field and rarely has a chance to write. He became an advisor (in an unknown area) for many different fields (too many), but he still believes that it is the working process of an ‘editor’. Which is why he calls himself a ‘Lead Editor’ in a company named ‘Text and Title’ that works with ‘everything that’s got to do with writing’ but has got no work of its own.