‘เราอาจไร้พลังและหมดค่าที่สุดเมื่อรู้สึกราวกับว่าไม่มีอะไรเลยที่เป็นของเรา’ ประโยคเปิดของศศพินธุ์ ศิริวาณิชในสูจิบัตรดิจิทัลของเทศกาลละคร BIPAM ฟังดูราวกับเป็นคำอธิบายถึงความรู้สึกไร้อำนาจในโลกออนไลน์อย่างไรอย่างนั้น มันทำให้ฉันนึกถึงกระดานฟีดที่เลื่อนไหลไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุดของแอพพลิเคชั่นต่างๆ ซึ่งถูกกำกับทุกกระเบียดนิ้วด้วยอัลกอริทึ่ม คุกกี้ การสอดส่อง และการจัดเก็บข้อมูลความเคลื่อนไหว ทั้งโดยรัฐและเอกชนข้ามชาติ ธีม Ownership ที่ว่าด้วยความเป็นเจ้าของจึงดูเหมาะเจาะดีเหลือเกินกับเทศกาลละครที่ย้ายไปอยู่บนแพลตฟอร์มออนไลน์เป็นปีแรก
การตั้งต้นที่ความเชื่อมโยงนี้ชวนให้ฉันครุ่นคิดถึงมิติที่ลึกซึ้งของความเป็นเจ้าของในโลกออนไลน์ ไม่นานมานี้ฉันได้ทราบข่าวการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรของไคลียา โพซีย์ ไม่แปลกหากคุณจะไม่เคยได้ยินชื่อเธอมาก่อน แต่ฉันแน่ใจว่าถ้าคุณได้เห็นภาพเธอในวัยห้าขวบคุณจะต้องจำเธอได้อย่างแน่นอน ไคลียาคือเด็กหญิงในชุดสีม่วงที่รอยยิ้มกว้างอย่างมีเลศนัยของเธอทำให้คลิปวิดีโอสั้นๆ จากรายการประกวดนางงามเด็กกลายเป็นมีมที่ได้รับความนิยมติดอันดับต้นๆ ในภาพประกอบข่าวนั้น ฉันได้เห็นไคลียาที่โตเป็นสาวเป็นครั้งแรก และในย่อหน้าสั้นๆ ที่กล่าวถึงอนาคตและความใฝ่ฝันของเธอในอาชีพนางงามและวงการบันเทิง ฉันก็มองเห็นชีวิตที่มีน้ำหนักและเลือดเนื้อปรากฏขึ้นเบื้องหลังภาพเด็กหญิงที่คลี่ยิ้มกว้างสดใสครั้งแล้วครั้งเล่า
มีมได้แยกทางกับเธอไปมีชีวิตของตนเอง มันถูกทำซ้ำ หดย่อ และบีบอัดนับครั้งไม่ถ้วน เพื่อกระจายไปทุกหนแห่งทั่วโลกเสมือน โดยไม่มีใครสามารถบังคับใช้ความเป็นเจ้าของเหนือภาพมีมนั้นได้ แม้แต่ตัวไคลียาเองหรือครอบครัวของเธอก็ตาม ครั้นบรรดามีมกลายเป็นของสาธารณะ เป็นส่วนหนึ่งของภาษาที่เราใช้สื่อสารกันในโลกเสมือน ซึ่งทุกคนต่างสามารถร่วมสรรค์สร้างและเป็นเจ้าของมันร่วมกัน สื่อทางสายตาลักษณะนี้จึงมีศักยภาพอย่างยิ่งยวดที่จะเป็นเครื่องมือการต่อต้านที่มีพลัง (และก็มีอำนาจไม่แพ้กันในรูปแบบโฆษณาการค้าและโฆษณาชวนเชื่อ) แต่ขณะเดียวกัน การแพร่กระจายของสื่อเหล่านี้ก็ถูกกำกับด้วยอัลกอริทึ่มและท่อลำเลียงข้อมูลที่ออกแบบและควบคุมโดยกลุ่มคนเพียงหยิบมือ เช่นนั้นแล้วจึงเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องถามว่าในความเป็นสาธารณะดิจิทัลที่ว่านี้ เรา–ผู้คน ประชาชน ผู้ใช้งาน–เป็นเจ้าของคลังคำศัพท์และภาษาของเรามากน้อยแค่ไหน และถึงที่สุดแล้วเราทั้งหมดเป็นเจ้าของวิธีการเชื่อมโยงสัมพันธ์ในโลกเสมือนอันเป็นส่วนต่อขยายที่แทบแยกขาดจากชีวิตและตัวตนของเราไม่ได้บ้างหรือเปล่า
การถามถึงความเป็นเจ้าของเหล่านี้ไม่ได้ตั้งขึ้นเพื่อให้ปัจเจกกระโจนเข้ามาคว้าจับและขีดเส้นแบ่งระหว่างสิ่งของดิจิทัลที่เป็นของตนเองและเป็นของคนอื่น ซึ่งเป็นสิ่งที่ Cryptocurrency และ NFT ได้ทำไปแล้ว และข้อวิจารณ์ถึงผลพวงของการสร้างสินทรัพย์ดิจิทัลเพื่อเก็งกำไรก็สามารถหาอ่านได้ทั่วไปในบทความชิ้นอื่น แต่การถามถึงความเป็นเจ้าของในที่นี้เป็นการถามว่า ‘อะไรบ้างที่เป็นของเรา?’ ในความหมายของ ‘เรา’ ที่เป็นพหูพจน์และแปลว่าเรา 99% เพื่อนำไปสู่คำตอบว่า ‘เราสามารถโอบรับ สร้างสรรค์ และกำหนดมันให้ไปในทิศทางที่ใฝ่ฝันถึงได้ดีกว่าเดิมหรือไม่?’ อย่างที่ศศพินธุ์ได้กล่าวไว้ในท่อนจบของถ้อยแถลงของเธอ
แม้ประเด็นของความเป็นเจ้าของในโลกดิจิทัลจะดูเหมาะเจาะพอดีกับเทศกาลละครออนไลน์ที่มีธีมหลักคือความเป็นเจ้าของ แต่กลับกัน โปรแกรมของ BIPAM ไม่ได้ให้ความสนใจกับคำถามที่เกี่ยวข้องกับพื้นที่ดิจิทัลเท่าไหร่นัก อาจเป็นเพราะเดิมทีเทศกาลออกแบบมาสำหรับจัดแสดงในพื้นที่จริง (หรืออย่างน้อยก็ในบางส่วน) การแสดงทั้ง 6 เรื่องที่ถูกคัดเลือกมาร่วมเทศกาลจึงครุ่นคิดอยู่กับความเป็นเจ้าของในขอบเขตของร่างกาย เพศ งาน อุดมการณ์ จุดยืน และประวัติศาสตร์เสียมากกว่า แต่สำหรับฉันแล้วเมื่อเทศกาลละครย้ายตนเองมาอยู่ในพื้นที่ดิจิทัล ก็เป็นไปไม่ได้เลยที่มันจะแยกตัวขาดอย่างสิ้นเชิงจากบริบทห้อมล้อมอันเฉพาะเจาะจงนี้ และพื้นที่ดังว่าก็มิใช่กระจกใสที่ไร้น้ำมือกำกับ
เมื่อ BIPAM ยักย้ายไปอยู่บนแพลตฟอร์มออนไลน์ ตัวบทที่เดิมคิดอยู่บนฐานของการแสดงในพื้นที่กายภาพของโรงละครที่คุ้นเคย จึงต้องกระโดดข้ามไปยังพื้นที่ใหม่ที่มีเครื่องไม้เครื่องมือแตกต่างไปจากเดิม (จนบางคราวอาจฉวยใช้โดยไม่เฉลียวใจต่อนัยของเครื่องมือนั้น) และรูปแบบการปฏิสัมพันธ์และร่างกายในพื้นที่ใหม่นี้ย่อมต่างไปจากเดิมด้วยเช่นกัน ในขณะที่ในโลกจริง ผู้คนเชื่อมโยงกันด้วยบทสนทนา ภาษากาย ระยะห่างและความใกล้ชิด ไปจนถึงความไว้เนื้อเชื่อใจและการเลือกเล่าอะไรบางอย่างให้ใครบางคนฟัง ในโลกเสมือน เราเชื่อมโยงกันด้วยภาพเคลื่อนไหวและภาพนิ่ง การแชร์เพื่อหนุนหลังเนื้อหาที่ตรงใจ รีแอคชั่น อีโมจิ และตัวอักษรที่สื่อสารไปยังฝูงชนที่ตัวคนส่งสารเองก็ไม่รู้ว่าขนาดเท่าไหร่และประกอบไปด้วยใครบ้าง จังหวะช้าเร็ว คุณภาพ ระยะห่าง และเนื้อหาของการปฏิสัมพันธ์ทั้งหลายในพื้นที่ทั้งสองก่อรูปร่างกายทางสังคมที่มีหน้าตาแตกต่างกันไปด้วย
ใช่ว่าเราต้องชี้นิ้วเลือกว่าพื้นที่ใดอ่อนด้อยหรือสูงส่งกว่ากัน แต่คือการมองเห็นความโยงใยที่เชื่อมสัมพันธ์เราไว้ด้วยกัน ทุกวันนี้มันได้ผสมปนเปและคร่อมข้ามระหว่างโลกสองใบจนยากจะแยก เมื่อการละครและเพอร์ฟอร์แมนซ์มีรากฐานอยู่ตรงการใช้พื้นที่ทางกายภาพร่วมกัน การย้ายไปยังพื้นที่เสมือนจึงเลี่ยงไม่ได้ที่จะส่งผลต่อเนื้อหาของตัวบทเอง โดยมีคำถามเกี่ยวกับความเป็นเจ้าของในโลกดิจิทัลเป็นพื้นหลัง ฉันจึงสนใจว่าในการ ‘แปล-แปลง-แปร’ ความข้ามพื้นที่นั้น มีอะไรร่วงหล่นไปหรืองอกเงยขึ้นมาบ้างหรือไม่? ร่างกายทางสังคมที่ก่อรูปขึ้นในพื้นที่ดิจิทัลนั้นมีหน้าตาแตกต่างไปอย่างไร? มีจุดอ่อนและศักยภาพอย่างไรบ้าง? และการสำรวจนี้อาจตั้งต้นได้ง่ายๆ ด้วยคำถามที่ว่า อะไรบ้างที่เปลี่ยนแปลงไปเมื่อละครถูกย้ายจากโลกจริงไปสู่โลกเสมือน?
1
1 — สถานที่และแพลตฟอร์ม
ในวันแรกของโปรแกรม BIPAM ฉันรีบบึ่งรถกลับบ้านด้วยกลัวว่าจะเข้าชมการแสดงได้ไม่ทันเวลา ในตอนนั้นฉันยังไม่เคยมีประสบการณ์รับชมการแสดงออนไลน์มาก่อน เมื่อบัตรเข้าชมละครในรูปแบบของลิงก์ Vimeo และรหัสผ่านทยอยส่งมาถึงอินบ็อกซ์อีเมลพร้อมตารางเวลาที่ชัดเจน ฉันก็ทึกทักเอาเองว่าละครที่ฉันจะได้รับชมเป็นการแสดงที่ถ่ายทอดสดเพียงครั้งเดียวตามเวลาที่กำหนดไว้ แล้วหลังจากนั้นจึงจะสามารถดูบันทึกเทปย้อนหลังได้ตลอดระยะเวลาของเทศกาล
ฉันถึงบ้านสาย และเข้าชมการแสดงเลทจากตารางเวลาไปกว่า 10 นาที แต่การแสดงกลับเพิ่งเริ่มต้นขึ้นเท่านั้น ด้วยความเอะใจ ฉันลองกดหยุด กดข้ามไปข้างหน้า และกรอกลับมาข้างหลัง ตอนนั้นเอง ฉันจึงเข้าใจว่าการแสดงตรงหน้าเป็นวิดีโอที่อัดไว้ล่วงหน้าแล้ว
เป็นเรื่องที่ทำให้ฉันค่อนข้างประหลาดใจทีเดียว อาจเป็นเพราะสำหรับฉันที่มีอาชีพเป็นคนทำหนัง ศิลปะการแสดงแยกขาดกับศิลปะภาพยนตร์ก็ตรงที่ในโรงละครนั้นเราได้ร่วมใช้พื้นที่และเวลากับการแสดง และประสบการณ์การรับชมบันทึกเทปการแสดงก็ไม่เคยสร้างความประทับใจให้ฉันได้เหมือนกับการรับชมละครบนเวทีเลย ศิลปะการละครที่อยู่ในภาชนะของภาพเคลื่อนไหวที่คุ้นเคย และอยู่บนแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งที่เราสามารถรับชมกี่ครั้งก็ได้ กรอดูท่อนที่ประทับใจซ้ำ หรือแม้แต่กดหยุดเพื่อแวะไปทำธุระก็ยังได้ จึงเป็นลูกผสมหน้าตาแปร่งประหลาดที่ชวนให้ตั้งคำถามถึงสารัตถะของความเป็นละคร
แต่ฉันเลือกวางข้อคำถามและอคติในขั้นแรกนั้นไว้ก่อน เพราะการแปะป้ายว่าอะไรบ้างที่เป็นละครและอะไรบ้างที่ไม่เป็นอาจไม่พาเราไปไหนไกลกว่าการสถาปนานิยามที่แข็งตัวและเอนเอียงไปทางอนุรักษ์นิยม ในทางกลับกันเมื่อศิลปะการละครย้ายเข้ามาอยู่ในโรงละครใหม่นี้ มันก็อาจเข้าถึงความเป็นไปได้ใหม่ๆ ที่ก้าวข้ามข้อจำกัดของพื้นที่ทางกายภาพเดิมได้
มองในปราดแรก เมื่อโรงละครดิจิทัลของ BIPAM เปิดกว้างให้ผู้คนสามารถเข้าถึงได้จากหลายสถานที่และต่างเวลา รวมถึงไม่จำกัดจำนวนผู้ชมที่สามารถเข้าชมการแสดงได้ มันก็ได้ทลายข้อจำกัดในมิติเหล่านั้นและเปิดรับให้ผู้คนจากต่างไทม์โซน คนที่ทำงานไม่เป็นเวลา ผู้คนจากพื้นที่อื่นที่ไม่สามารถเดินทางได้ด้วยเหตุของโรคระบาดหรือข้อผูกพันอื่นๆ ได้มีโอกาสเข้าถึงการแสดงอย่างเป็นอิสระและยืดหยุ่นมากยิ่งขึ้น ในแง่นั้น มันก็ลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงละครระหว่างคนที่มีอภิสิทธิ์มากกว่า—ในที่นี้คือคนเมืองที่อยู่ใกล้สถานที่จัดเทศกาล มีรถยนต์หรือสามารถเข้าถึงการเดินทางรูปแบบต่างๆ ได้ และทำงานเป็นเวลา—กับคนอื่นๆ ที่อาจไม่สามารถรับชมโปรแกรมของ BIPAM ได้หากเทศกาลไม่ได้จัดออนไลน์ หากมองในกรอบนี้ โรงละครออนไลน์ก็ดูราวกับได้ยืดขยายตนเองออกเพื่อโอบรับผู้ชมที่ขยายขนาดและหลากหลายยิ่งขึ้น บางคนอาจกล่าวไปจนถึงว่ามันได้ทำให้การเข้าถึงละครเป็นประชาธิปไตยมากขึ้นไปด้วย
ขณะเดียวกันนั้นเอง เราก็ไม่สามารถมองข้ามอีกองค์ประกอบหนึ่งที่สำคัญ นั่นคือกำแพงของค่าตั๋ว ด้วยค่าเข้าชมตลอดโปรแกรมที่สูงเกือบสิบเท่าของค่าแรงขั้นต่ำ โรงละครที่เปิดกว้างนี้จึงไม่ได้เปิดประตูให้กับทุกคน นอกไปจากผู้มีรายได้น้อยที่ไม่สามารถจ่ายค่าตั๋วได้แล้ว ยังต้องคำนึงถึงกลุ่มคนที่ไม่สามารถเข้าถึงอุปกรณ์การสื่อสารที่มีคุณภาพและเครือข่ายอินเทอร์เน็ตที่เสถียรพออีกด้วย ดังนั้น ถึงแม้ว่าการย้ายศิลปะการแสดงไปไว้บนแพลตฟอร์มวิดีโอออนดีมานด์จะพามันไปอยู่ในสภาพการณ์ที่เอื้อให้การเข้าถึงละครเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น แต่การทำเช่นนั้นก็ต้องการการวางแผนและการออกแบบอย่างใส่ใจและเฉพาะเจาะจง สำหรับ BIPAM ที่จุดมุ่งหมายคือการเป็นจุดนัดพบของผู้ชมและคนทำงานศิลปะการแสดงจากทั่วภูมิภาค แพลตฟอร์มออนไลน์จึงไม่ได้ถูกนำมาใช้เพื่อความเป็นประชาธิปไตยที่มากยิ่งขึ้น แต่เข้ามาเป็นเครื่องมือที่ช่วยอำนวยความสะดวกให้กลุ่มผู้ชมเดิมยังสามารถเข้าถึงเทศกาลได้ในช่วงเวลาที่การเดินทางมาพบกันเป็นไปได้ลำบาก
ถ้าเช่นนั้นแล้ว พื้นที่ออนไลน์ของ BIPAM ที่ถูกออกแบบมาให้เป็นจุดนัดพบสานสัมพันธ์ของผู้คนนั้นสามารถบรรลุเป้าหมายได้อย่างที่ตั้งใจหรือเปล่า เพื่อครุ่นคิดกับคำถามนี้ ฉันอยากชวนให้หันมามองลักษณะของประสบการณ์ที่เกิดขึ้นในโปรแกรมของ BIPAM นอกจากการแสดงที่เป็นวิดีโอออนดีมานด์แล้ว โปรแกรมยังประกอบไปด้วยทอล์กที่เป็นเวทีเสวนาใน Zoom ทั้งที่ต่อเนื่องจากการแสดงและที่ตั้งอยู่ด้วยตัวมันเอง และ Networking ที่เป็นการเปิดห้อง Zoom สำหรับพูดคุยอย่างอิสระในหัวข้อที่กำหนด สำหรับผู้ชมที่เลือกซื้อตั๋ว Full Pass เพื่อเข้าชมตลอดโปรแกรม พวกเขาจะสามารถเข้าถึงแพลตฟอร์มเฉพาะสำหรับพบปะสังสรรค์ออนไลน์ได้อีกด้วย
ในพื้นที่รูปแบบต่างๆ ที่สร้างขึ้นมาในโปรแกรมของ BIPAM นี้ ฉันมีส่วนร่วมเพียงรับชมการแสดงและรับชมทอล์กเท่านั้น ด้วยความเป็นคนนอกวงการศิลปะการละคร ฉันจึงลังเลที่จะพบปะผู้คนใหม่ๆ เป็นครั้งแรกโดยลำพังผ่านหน้าต่าง Zoom สำหรับทอล์กต่างๆ ที่เป็นการเข้าฟังเสวนาสด ฉันพบว่าฉันมีความกล้าที่จะพิมพ์คำถามของตนเองเข้าไปในกล่อง Q&A มากกว่าเวลาต้องยกมือถามในห้องออดิทอเรี่ยม แต่ขณะเดียวกันฉันก็รู้สึกห่างไกลกับผู้คนในห้อง Zoom นั้น–ทั้งผู้ชมด้วยกันและผู้เสวนา–อย่างช่วยไม่ได้ เช่นเดียวกันกับในการรับชมการแสดงต่างๆ การที่ฉันเข้าชมโดยไม่อาจรับรู้ถึงผู้ชมคนอื่นๆ ที่นั่งชมการแสดงกับฉันด้วย ทำให้รู้สึกว่าจอภาพนั้นเป็นเพียงหน้าต่างที่ให้ฉันชะเง้อมองเข้าไปในโรงละครที่ปราศจากความลึก และสถานที่ที่แท้จริงของการแสดงเหล่านี้ก็คือห้องนั่งเล่นของฉันเองที่โดดเดี่ยวและไม่อาจเชื่อมโยงกับสถานที่ของผู้ชมคนอื่นๆ และไปจนถึงสถานที่ของการแสดงได้ ประสบการณ์การรับชม BIPAM ของฉันโดยภาพรวมแล้วจึงเป็นการท่องจากหน้าต่างหนึ่งไปยังอีกหน้าต่างอย่างโดดเดี่ยว โดยไม่ได้พบปะกับผู้คนที่มีประสบการณ์ร่วมกับฉันเลยแม้แต่คนเดียว
แพลตฟอร์มของ BIPAM นั้น นอกจากจะมีผลต่อประสบการณ์ของผู้ชมที่ถูกตัดแบ่งออกเป็นประสบการณ์เดี่ยว แทนที่จะเป็นประสบการณ์ร่วมแล้ว มันยังส่งผลต่อเนื่องไปถึงบริบทของการแสดงอีกด้วย สำหรับการแสดงที่เคยจัดขึ้นในสถานที่จริงอย่าง The Imperial Sake Cup and I และเพียงเบิ่น เราอาจมองเห็นได้เลือนรางว่าตัวการแสดงนั้นมีรากฐานส่วนหนึ่งอยู่ในบทสนทนาและบริบทที่แวดล้อมมัน และการยกย้ายการแสดงขึ้นมาไว้บนออนไลน์ก็ได้ถอนรากการแสดงทั้งสองขึ้นมา และจัดวางมันลงในพื้นที่ของออนไลน์ที่ไม่ได้มีบริบทแบบเดียวกัน แต่ปฏิสัมพันธ์ของบริบทออนไลน์กับการแสดงที่ย้ายถิ่นฐานมานั้นอาจมองเห็นได้ชัดที่สุดใน Deleted Scenes In SEA
แรกเริ่มเดิมที Deleted Scenes In SEA เป็นการเลือกสามซีนจากบทละครสามเรื่องที่ผ่านประสบการณ์ถูกปิดกั้นในประเทศบ้านเกิดขึ้นมาแปลภาษา ตีความใหม่ และจัดแสดงในอีกประเทศหนึ่ง แต่เมื่อพรมแดนระหว่างประเทศปิดลงเพื่อสกัดกั้นโรคระบาด ซีนทั้งสามก็ไม่สามารถเดินทางข้ามสถานที่ในทางกายภาพได้ สองซีนจากประเทศสิงคโปร์และอินโดนีเซียจึงถูกนำมาดัดแปลงและถ่ายทำโดยธนพนธ์ อัคควทัญญู ส่วนอีกหนึ่งซีนจากประเทศไทยก็กลายร่างเป็นห้องเรียน Zoom ที่ถูกอัดไว้ล่วงหน้า กำกับโดยอีร์ฟานุดดีน กอซาลี (Irfanuddien Ghozali) ตัวบทจากละครทั้งสามเรื่องแม้ไม่อาจมีชีวิตใหม่ในต่างแดนอย่างที่ตั้งใจในคราวแรก แต่ก็ได้มีชีวิตขึ้นในปริมณฑลแปลกหน้าของโลกดิจิทัลแทน
หากสามซีนใน Deleted Scenes In SEA ได้ปรากฏตัวขึ้นในขอบรั้วของรัฐชาติอื่นในภูมิภาคที่ความเป็นเผด็จการและการปิดกั้นเสรีภาพไม่ได้น้อยหน้าไปกว่ากัน มันอาจเป็นการท้าทายและทดลองว่าพื้นที่ ผู้ชม ผู้ใช้อำนาจรัฐและสถาบัน ไปจนถึงตลาดและทุนในพื้นที่ใหม่จะโอบรับตัวบทที่รัฐชาติต้นกำเนิดมองว่าล่อแหลมหรือไม่ ประชาชนจะรู้สึกร่วม ฮึกเหิม ไม่สบายใจ หรือแสดงความต่อต้านต่อประเด็นของเนื้อหาที่นับว่าก้าวหน้าในกลุ่มผู้ชมท้องถิ่นเดิมหรือเปล่า และจะมีความเคลื่อนไหวจากฝั่งใดก็ตามเพื่อพยายามปิดกั้นการเปล่งเสียงของซีนเหล่านี้ซ้ำซ้อนอีกไหม เหล่านี้เป็นเพียงหยิบมือของความเป็นไปได้อันไม่สามารถคาดเดาได้หากทั้งสามซีนได้ย้ายที่ตั้งไปยังสถานที่ทางกายภาพอื่น ระลอกคลื่นที่คลี่ตัวออกรอบการมีชีวิตใหม่ของซีนเหล่านี้ก็เป็นร่างกายส่วนขยายของชิ้นงานเองด้วยเช่นกัน ดังนั้น เมื่อจัดวางลงในบริบทดิจิทัลที่ขอบเขตอำนาจรัฐซ้อนทับและพร่ามัว ในดินแดนของสถาปัตยกรรมเทคโนโลยีที่ซึ่งอำนาจอธิปไตยปะทะยุ่งเหยิงระหว่างรัฐและทุนข้ามชาติ ไม่ใช่เพียงรูปแบบ แต่ร่างกายส่วนขยายของ Deleted Scenes In SEA ก็เปลี่ยนรูปไปด้วย
อย่างที่กล่าวไปก่อนหน้า ในพรมแดนดิจิทัล งานศิลปะบางรูปแบบมีพลังมากในการแพร่กระจายและขัดขืนการถูกปิดกั้น แต่ Deleted Scenes In SEA ไม่ได้โยนตนเองเข้าไปกลางวงสนทนาของโซเชียลมีเดียและปล่อยให้ผู้คนนำมันไปตัดต่อ ผลิตซ้ำ และรับชมอย่างแพร่หลาย Deleted Scenes In SEA ที่ปรากฏในโรงละครใส่รหัสของ BIPAM จึงไม่ได้อยู่ในตำแหน่งแห่งที่ที่เปิดเผยตนต่ออำนาจมากนัก ไม่ต่างจากงานภาพยนตร์และภาพเคลื่อนไหวมหาศาลที่ท้าทายอำนาจรัฐต่างๆ อย่างแสบสัน ซึ่งต่างก็ถูกส่งต่ออย่างเงียบเชียบไปยังเทศกาล แกลเลอรี่ และผู้ชมในดินแดนอื่น ด้วยท่อลำเลียงเข้ารหัสของ Vimeo เช่นเดียวกัน ในแง่นี้ ร่างกายส่วนขยายของ Deleted Scenes In SEA จึงหดตัวลงและกลืนกลายเป็นส่วนหนึ่งของอื้ออึงแห่งการต่อต้านที่ก้องกระทบกันเองอยู่บนโครงข่ายไร้ตำแหน่งแห่งที่ของอินเทอร์เน็ต
แน่นอนว่าในอีกทางหนึ่งการย้ายมาอยู่บนแพลตฟอร์มดิจิทัลก็มีความหมายต่อตัวบทเอง อย่างน้อยที่สุดมันก็ได้ทำให้เสียงที่เคยถูกบังคับเงียบได้มีชีวิตขึ้นใหม่โดยหลุดพ้นเงื้อมมือของการปิดกั้น และการแสดงก็ได้ถูกบันทึกและยืนยันสิทธิ์ในการพูดของมันลงในคลังจัดเก็บที่ลึกและกว้างของอินเทอร์เน็ต ไม่ใช่เพียงผู้ชมในประเทศอื่นๆ เท่านั้นที่ได้รับชมซีนเหล่านี้ แต่ผู้ชมในประเทศดั้งเดิมของการแสดงก็ยังมีโอกาสได้รับชมตัวบทที่เคยถูกพรากไปจากพวกเขาเช่นกัน การมีชีวิตใหม่บนโลกออนไลน์อนุญาตให้การแสดงเล็ดรอดและแทรกซึมในโครงสร้างอำนาจ ไปจุดประกายความรู้สึกร่วมและสร้างบทสนทนาระหว่างประชาชนที่ถูกกดขี่ภายใต้อำนาจที่แตกต่างแต่ก็มีจุดเหมือนกัน แน่นอนปัญหาของกำแพงที่ขวางกั้นการเข้าถึงก็ยังคงอยู่โดยไม่อาจถูกปัดตกไปได้ง่ายๆ และการกล่าวอย่างผ่านๆ ว่าการชุบชีวิตการแสดงเหล่านี้ขึ้นมาเป็นสิ่งที่มีคุณค่าในตัวมันเอง ก็อาจเป็นความหยิ่งผยองที่ยกเสียงของศิลปะขึ้นสูงกว่าเสียงอื่นๆ ที่ต่างก็รอคอยการถูกชุบชีวิตเช่นกัน สุดท้ายแล้ว ในสถานที่ใหม่แห่งนี้ Deleted Scenes In SEA ได้หดร่างกายส่วนขยายลงและแทรกตัวไปปรากฏกายตามห้องหับของกลุ่มคนที่ได้รับสิทธิการเข้าถึงมันโดยปราศจากการปะทะซึ่งหน้ากับอำนาจที่มันท้าทาย พร้อมๆ กันกับที่เราสามารถพูดได้ว่าการปรากฏตัวขึ้นของการแสดงชิ้นนี้เป็นสิ่งที่มีความหมาย เราก็อาจตั้งคำถามไปด้วยว่าร่างกายในสถานที่ใหม่นี้ตอบสนองต่อศักยภาพของงานอย่างเต็มที่แล้วหรือยัง
2
2 — เวลาและความสด
ในโปรแกรมการแสดงทั้งหมดของ BIPAM มีหนึ่งชื่อที่เตะตาฉันตั้งแต่แรก เพราะเป็นการแสดงที่ฉันรู้จักและจำได้ว่าตั้งใจจะซื้อตั๋วเข้าชม เสียดายก็แต่ว่าการแสดงนั้นจัดที่พิพิธภัณฑ์ร่วมสมัยใหม่เอี่ยมที่เชียงใหม่ ฉันซึ่งเป็นเด็กจบใหม่และเพิ่งเริ่มทำงานในเวลานั้นไม่มีปัญญาจะซื้อตั๋วบินไปรับชมการแสดงได้ เมื่อ The Imperial Sake Cup And I ถูกหยิบขึ้นมาจัดแสดงทางออนไลน์หลังจากเวลาล่วงเลยไปกว่าปี ฉันจึงตื่นเต้นเป็นพิเศษที่จะได้รับชมการแสดงที่เคยพลาดโอกาสไป
สำหรับการแสดงกึ่งบรรยายโดยชาญวิทย์ เกษตรศิริ ที่กำกับโดยธีรวัฒน์ มุลวิไลเรื่องนี้ ฉันรู้อยู่แต่แรกว่ามันจะถูกจัดฉายในรูปแบบของบันทึกเทปการแสดง อาจเป็นภาพที่บันทึกจากการแสดงเพียงรอบเดียว หรือการนำชิ้นส่วนที่ดีที่สุดของการแสดงแต่ละรอบมาตัดต่อรวมกัน—คล้ายกับวิดีโอบันทึกเทปการแสดงเดี่ยวไมโครโฟนของโน้ส อุดมที่เป็นการรวบรวมมุกที่ตลกที่สุดจากรอบการแสดงที่เสียงหัวเราะดังที่สุดมาเรียบเรียงเป็นเนื้อเดียว ด้วยกล้องที่ตั้งนิ่งในระยะไกลที่เห็นแนวเงาตะคุ่มของผู้ชม ตัดสลับนานๆ ครั้งกับภาพที่แคบเข้าหน่อยเพื่อเห็นองค์ประกอบต่างๆ ในพื้นที่เวที บอกได้ยากว่าบันทึกเทปที่ฉันได้รับชมเป็นอย่างไหนกันแน่ แต่ไม่ว่าเป็นทางไหน บันทึกเทปการแสดงนั้น เช่นเดียวกันกับบันทึกเทปเดี่ยวไมโครโฟน ให้ภาพของการเป็นการแสดงเดียวที่ต่อเนื่องกันไปตลอดตั้งแต่ต้นจนจบ
ความต่อเนื่องของเวลานี้เป็นเพียงสิ่งลวงตา ไม่ว่าบันทึกเทปนั้นจะมาจากการแสดงกี่รอบก็ตาม แต่เมื่อมีการตัดต่อเข้ามาเกี่ยวข้อง นั่นก็คือเวลาได้ถูกแบ่งเป็นชิ้นๆ ถูกทำให้สั้นหรือยาว หรือแม้แต่การตัดบางช่วงเวลาออกก็เป็นไปได้ ภาพลวงตาของเวลาที่ต่อเนื่องทำให้ฉันนึกถึงภาพยนตร์ลองเทคที่เป็นเทคนิคยอดฮิตในช่วงเวลาหนึ่งสำหรับคนทำหนัง ซึ่งบ่งบอกถึงความเก๋าเกมของกองถ่ายที่สามารถถ่ายหนังทั้งเรื่องในรวดเดียวได้ แน่นอนสำหรับหนังที่ยาวเกือบสองชั่วโมงหรือกว่านั้น ลองเทคเป็นเรื่องของเทคนิคซ่อนร่องรอยตัดต่อระหว่างการถ่ายแต่ละช่วงพอๆ กับการถ่ายต่อเนื่องให้ได้ยาวนานที่สุด แต่ประเด็นที่น่าสนใจกว่าคืออะไรทำให้ประสบการณ์ของการรับชมภาพยนตร์ลองเทคที่มีเวลาต่อเนื่องมีความพิเศษขึ้นมา
สำหรับฉัน กับภาพยนตร์บางเรื่อง (โดยเฉพาะภาพยนตร์ทุนหนาจากฮอลลีวูด) ลองเทคก็เป็นแค่การอวดดีและไม่ได้เสริมเติมอะไรให้กับตัวเรื่องมากนัก แต่กับภาพยนตร์บางเรื่อง—และขณะที่เขียนอยู่นี้ ฉันนึกถึงภาพยนตร์สั้นนักศึกษาเสียด้วยซ้ำ—ลองเทคที่แม้จะไม่ได้หมดจดด้วยอุปกรณ์เคลื่อนกล้องที่ครบครัน กลับส่งพลังงานได้อย่างยิ่งยวด ในพื้นที่ของงานภาพยนตร์ที่การกระโดดข้ามไปมาระหว่างช่วงเวลา การตัดปะให้ปัจจุบัน อนาคต และอดีตเข้าปะทะกันรุนแรง และแม้แต่การทำให้เวลาเดินถอยหลังเป็นเรื่องทั่วๆ ไป การได้ใช้เวลาต่อเนื่องยี่สิบนาทีหรือชั่วโมงครึ่งร่วมกับตัวละครที่พานพบกับเหตุการณ์ที่กระทบถึงแก่นกลางของพวกเขาทำให้ประสบการณ์นั้นมีความหมายและเปี่ยมด้วยความจริงใจ องค์ประกอบของเวลาจริงที่แม้หลายครั้งจะเป็นภาพลวงตา หากนำมาใช้อย่างเข้าใจในงานภาพยนตร์จึงมีพลังในฐานะผิวสัมผัสที่เปิดเปลือยให้ผู้ชมกับเรื่องเล่าได้แตะต้องถึงกัน
ด้วยเหตุคล้ายกันนั้น เวลาที่ต่อเนื่องในบันทึกเทปจึงอาจมีความสำคัญต่อประสบการณ์ร่วมของผู้ชม แต่ในขอบเขตของศิลปะการแสดง เวลาจริงยังมีอีกมิติของผิวสัมผัสที่ภาพยนตร์ไม่สามารถเข้าถึงได้ นั่นคือมิติของความสดซึ่งอนุญาตให้ผู้ชมและการแสดงร่วมหายใจและเคลื่อนที่ผ่านเวลาเดียวกัน องค์ประกอบนี้เป็นส่วนที่คนทำละครในยุคสมัยของการเว้นระยะห่างทางสังคมครุ่นคิดและถกเถียงกับมันมากที่สุด ในโรงละครกายภาพ ความสดเป็นเนื้อเดียวกับการแสดงอย่างที่แยกจากกันไม่ได้ แต่ในโรงละครเสมือน ความสดกระเด็นหลุดออกจากเนื้อตัวของการแสดง และกลายเป็นชิ้นส่วนที่คนทำละครต้องคิดหาวิธีจะติดมันกลับเข้าไป หรือเลือกโยนมันทิ้งไปเสีย และอย่างที่กล่าวอธิบายแพลตฟอร์มของ BIPAM ไปในข้างต้น เทศกาลละครนี้เลือกตัวเลือกหลัง
ตรงนี้ดูเป็นจุดเหมาะเจาะที่จะกระโจนเข้าไปร่วมถกเถียงในประเด็นว่าความสดเป็นคุณลักษณะสำคัญของศิลปะการแสดงหรือไม่ และการละครที่ไม่สดยังถูกนับเป็นการละครได้อยู่หรือเปล่า แต่ฉันขอทิ้งประเด็นปัญหาตรงนั้นไว้ให้คนทำละครที่ได้ใช้เวลาคลุกคลีและครุ่นคิดกับงานได้ถกเถียงกันต่อไปอย่างปลายเปิดดีกว่า ส่วนตัวฉันที่มอง BIPAM ผ่านแว่นของเทคโนโลยีขอหันความสนใจไปที่ความหมายของความสดในโลกดิจิทัล
ในพื้นที่ที่สร้างขึ้นโดยอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และอินเทอร์เน็ตที่คอยเชื่อมโยงผู้คนที่อยู่ต่างสถานที่ ความสดเป็นวิธีหนึ่งของการจำลองการอยู่ร่วมกัน แน่นอนว่าบนโลกออนไลน์เราไม่สามารถอยู่ร่วมกันในทางกายภาพได้ ความสดจึงเป็นการหยิบเอาการอยู่ร่วมกันในแง่ของเวลาเข้ามาทดแทน ในหลายปริมณฑลของประสบการณ์ร่วมสมัย ไม่ว่าจะเป็นแวดวงคนเล่นเกมส์ออนไลน์ สตรีมมิ่งท้องถิ่นบางเจ้าที่เปิดให้ผู้ชมร่วมแสดงความเห็นขณะถ่ายทอดซีรีส์ตอนใหม่ล่าสุด และกลุ่มคนดูกีฬา ความสดเป็นองค์ประกอบสำคัญที่สร้างความรู้สึกร่วม สายใยสัมพันธ์ จนกระทั่งความเป็นชุมชนขึ้นระหว่างผู้คนที่แม้จะอยู่คนละฟากโลกก็มีประสบการณ์ทางเวลาร่วมกัน ความสดในพื้นที่ที่เปิดให้ผู้คนได้มีส่วนร่วมและเชื่อมสัมพันธ์ระหว่างกัน จึงเป็นเครื่องมือที่บางครั้งมีพลังมากพอจะทำให้ผู้คนที่ไม่เคยเห็นหน้ากันเลยสามารถสานมิตรภาพและก่อเกิดความไว้ใจต่อกันได้
สำหรับการละครที่เป็นกิจกรรมทางสังคมซึ่ง—ไม่ต่างจากกิจกรรมทางสังคมอื่นๆ—มีรากฐานส่วนหนึ่งอยู่ในการใช้พื้นที่และเวลาร่วมกันระหว่างผู้คน จึงอาจดูไม่มีข้อถกเถียงเสียด้วยซ้ำว่าความสดบนโลกออนไลน์มีแต่จะทำให้ประสบการณ์รับชมละครนั้นรุ่มรวยและมีพลังมากยิ่งขึ้น แต่ความสดไม่ได้มีรูปแบบเดียว หากเรามองกว้างขึ้นอีกนิดแล้วพิจารณาความสดที่อยู่ในสถานที่อย่างโรงภาพยนตร์ในบรอดเวย์และเวสต์เอนด์ที่ถ่ายทอดสดละครเวทีขึ้นจอให้ผู้ชมที่ซื้อตั๋วไม่ทันหรือไม่มีเงินถุงเงินถังจะจ่ายค่าตั๋วได้รับชมละครด้วยราคาที่ถูกกว่า หรือห้องเรียนพิเศษที่ถ่ายทอดสดจากอีกห้องที่ครูสอนพิเศษตัวจริงกำลังสอนอยู่ด้วยราคาค่าคอร์สที่แพงกว่าการดูวิดีโอออนดีมานด์ เราอาจมองเห็นปัญหาของความสดในอีกรูปแบบได้เด่นชัดขึ้น
ฉันซึ่งไม่มีประสบการณ์ในพื้นที่ทั้งสอง รับฟังจากเพื่อนที่เคยได้เรียนในห้องถ่ายทอดสดว่า ความสดทำให้เขามีสมาธิในการเรียนมากขึ้นเพราะสัมผัสได้ถึงการใช้เวลาร่วมกันกับมนุษย์จริงๆ ไม่ใช่เพียงภาพเคลื่อนไหวที่บันทึกมาจากอีกจุดเวลาที่ล่วงเลยไปแล้ว และการที่ห้องถ่ายทอดสดนั้นอยู่ติดกันกับห้องเรียนที่การเรียนการสอนนั้นกำลังเกิดขึ้นจริงก็ยิ่งทำให้เขารู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของสิ่งที่เกิดขึ้นบนหน้าจอมากขึ้นไปอีก อีกเหตุผลที่ทำให้เขาเลือกเรียนในห้องถ่ายทอดสดนั้นเป็นเพราะว่าเนื้อหาที่สอนการันตีได้ว่าใหม่ล่าสุด ต่างจากการเรียนออนดีมานด์ที่อาจเป็นการบันทึกเทปจากปีหรือสองปีที่แล้ว ความสดในบริบทของสถานที่เรียนพิเศษ—และฉันทึกทักเอาว่าคงจะไม่ต่างอะไรกับโรงภาพยนตร์ที่อยู่ข้างโรงละครด้วย—จึงตั้งอยู่บนมูลค่าของความใกล้ชิดและความสดใหม่ อันเป็นเหตุผลให้ผู้คนยอมจ่ายให้กับประสบการณ์เหล่านี้ด้วยราคาที่สูงกว่าการรับชมบันทึกเทป
แต่เนื้อหาของห้องเรียนพิเศษแต่ละคลาสจะต่างกันแค่ไหน และความสดใหม่ของการแสดงแต่ละรอบที่ใช้นักแสดงชุดเดิมและเล่นตามบทเดิมหมายความว่าอย่างไร ในบริบทของเหตุการณ์ในเวลาจริง ความสดมีน้ำหนักและพลังงานมากดังที่เราเห็นจากความแตกตื่นที่เกิดจากละครวิทยุ War of the Worlds ความสลดเศร้าที่แผ่ไปทั่วโลกจากภาพถ่ายทอดสดของเหตุการณ์ 9/11 และเงามืดที่เข้าปกคลุมประเทศนี้ทุกครั้งที่คณะรัฐประหารถ่ายทอดสดการยึดอำนาจผ่านทางโทรทัศน์ ความสดในบรรดาสิ่งที่เรารับรู้ว่าเกิดขึ้นในเวลาจริงซึ่งเป็นเวลาที่เราเป็นผู้เล่นอยู่ด้วยและมีผลกระทบต่อเรา จึงมีพลังในการสร้างระลอกคลื่นของปฏิกิริยาที่เป็นมวลหมู่ และเชื่อมโยงเราเป็นเนื้อเดียวกันด้วยการรับรู้ข้อมูลเดียวกัน แต่กับคอร์สเรียนและละครเวทีซึ่งเป็นการผลิตซ้ำแล้วซ้ำเล่าของสิ่งเดิมที่ต่างไปเพียงเล็กน้อย ความสดมีความหมายอย่างไร และถ้าหากภาพสดในสถานที่เหล่านั้นถูกแทนด้วยภาพบันทึกเทป ผู้ชมจะรู้ตัวเมื่อไหร่และจะรู้ได้อย่างไร ว่าตนกำลังโดนหลอก
ในมุมมองนี้ ความสดในบางลักษณะจึงเป็นเพียงการเล่นกับความรู้สึกใกล้ชิดและเท่าทันเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับประสบการณ์นั้นมากกว่า แน่นอนว่าความสดในกรณีอื่นๆ ทั้งการสตรีมเกมส์ การรับชมซีรีส์สด การดูแข่งกีฬา ไปจนถึงการถ่ายทอดสดเหตุกาณ์ต่างๆ ทั่วโลก ต่างก็เป็นเครื่องมือในการสร้างกำไรในระดับที่ลดหลั่นกันไปเช่นกัน ประเด็นจึงไม่ใช่การทำให้ความสดกลายเป็นสิ่งชั่วร้ายเพราะมันเป็นลิ่วล้อของทุน แต่คือคำถามที่ว่าหากความสดคือการจำลองการอยู่ร่วมกันแล้ว ในกรณีที่ความสดไม่ได้เชื่อมโยงผู้คนหรืออนุญาตให้พวกเขาได้อยู่ร่วมกับเหตุการณ์จริงๆ ความรู้สึกของการอยู่ร่วมกันทางเวลานั้นมีประโยชน์อะไร และมันจะสามารถทำให้ผู้คนรู้สึกว่าอยู่ร่วมกันจริงๆ ได้หรือเปล่า
กลับมาที่ The Imperial Sake Cup And I และการละครออนไลน์ ขณะที่ฉันรับชมบันทึกเทปของการแสดงที่เกิดขึ้นกว่าปีก่อนหน้า ฉันก็รู้สึกมีระยะห่างกับตัวงานราวกับกำลังเฝ้ามองผู้คนในวัตถุบันทึกจากจุดเวลาห่างไกลที่มองเห็นภาพกว้างแต่ไม่เห็นรายละเอียด แต่หากภาพตรงหน้าเป็นการถ่ายทอดสดจากโรงละครในเชียงใหม่ ณ เวลาเดียวกับที่ฉันนั่งดูอยู่ในห้องนั่งเล่นที่บ้าน ความรู้สึกที่เพิ่มเติมขึ้นมาอาจเป็นความกลัวจะพลาดรับชมที่ทำให้ฉันเร่งรีบกลับบ้านในวันแรกของโปรแกรม BIPAM และประสบการณ์รับชมสดก็อาจทำให้ฉันรู้สึกเท่าทันพวกคนดูที่นั่งเป็นแถวแนวให้เห็นอยู่ในจอภาพตรงหน้ามากขึ้น ในแวบแรกประสบการณ์เหล่านั้นฟังดูสำคัญ แต่เมื่อครุ่นคิดกับมันมากขึ้นแล้วมันก็ไม่ได้แปลว่าฉันได้อยู่ร่วมกับการแสดงในระดับที่ใกล้เคียงกับการรับชมละครในโรงละครเลย หากสิ่งที่ฉันได้รับชมด้วยการถ่ายทอดสดไม่ได้มีเนื้อหาหรือรูปแบบที่ต่างไปจากบันทึกเทปที่ฉันกำลังชมอยู่เลย แล้วประสบการณ์ที่ฉันมีกับ The Imperial Sake Cup And I ที่ถ่ายทอดสดจะรุ่มรวยลึกซึ้งกว่าบันทึกเทปอย่างนั้นหรือ
เพราะฉะนั้น การถกเถียงเรื่องความสดในละครออนไลน์จึงไม่ได้มีเพียงคำตอบขาวดำว่าสดหรือไม่ แต่ยังมีข้อคำถามที่อาจสำคัญกว่านั้นว่าสดอย่างไร เพราะการถ่ายทอดสดออนไลน์นั้นแม้จะฟังดูคล้ายกับความสดในโรงละคร แต่แท้จริงแล้วมีลักษณะและศักยภาพที่ต่างไปโดยสิ้นเชิง หากจะใช้ความสดบนพื้นที่ออนไลน์เพื่อทดแทนการอยู่ร่วมกัน ในพื้นที่ซึ่งการอยู่ร่วมกันเป็นไปได้เพียงในมิติของเวลาแต่ไม่ใช่ทางกายภาพ คำตอบว่าความสดสำคัญหรือไม่จึงเป็นคำตอบที่ซับซ้อนและเปลี่ยนแปลงไปตามปัจจัยแวดล้อม รวมถึงลักษณะและคุณภาพของความสด ขณะเดียวกัน ยังต้องคำนึงถึงความสัมพันธ์ของความสดต่อชิ้นงานนั้นๆ ด้วย เพราะสำหรับการแสดงบางชิ้นความสดก็อาจเป็นสิ่งที่เลาะทิ้งได้โดยไม่มีผลอะไรกับเนื้อหา ในขณะที่กับบางงาน แก่นแกนของตัวบทอาจเปลี่ยนไปสิ้นเชิงหากปราศจากความสดซึ่งเป็นหัวใจ
3
3 — สายตา
ในการแสดงเรื่อง In the Queer ที่กำกับโดยปฏิพล อัศวมหาพงศ์และแสดงโดยวรรณศักดิ์ ศิริหล้า ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ The 4th Rehearsal ที่ชักชวนให้นักแสดงเควียร์ต่างรุ่นทั้งสองคนนำละครโซโล่ของตนเองมาแลกกันเล่นและสลับกันกำกับ มีสองจอภาพปรากฏขึ้นขนาบข้างกัน จอทางซ้ายเป็นภาพแนวนอนของกล้องที่บางครั้งตั้งนิ่ง บางครั้งขยับเคลื่อนไหว ส่วนจอทางขวาเป็นภาพแนวตั้งในมุมเสยที่ดูไม่ตั้งใจ และทำให้ฉันรู้สึกเหมือนกับเป็นกล้องโทรศัพท์ที่ตั้งแอบไว้ที่มุมใดมุมหนึ่ง
‘เดี๋ยวขอคัทก่อนนะคะ’ ปฏิพลกล่าว กล้องทางขวาดับลงไป แต่กล้องทางซ้ายยังคงบันทึกบทสนทนาที่วรรณศักดิ์พูดถึงความรู้สึกไม่ปลอดภัยของตนเอง ฉันรู้สึกหน้าชาเล็กน้อย เหมือนสิ่งที่เห็นอยู่ตรงหน้าเป็นความรุนแรงบางแบบ
อาจเป็นเพราะการรับชมละครในพื้นที่ทางกายภาพไม่เคยกำหนดสายตาของฉันอย่างตายตัวเช่นนี้มาก่อน ปกติแล้วผู้ชมในโรงละครถูกกำหนดจุดสนใจและจัดวางตำแหน่งหลวมๆ ด้วยเครื่องมืออย่างการออกแบบพื้นที่ที่บ่งบอกว่าเราได้รับอนุญาตให้นั่ง ยืน เดิน และสำรวจจุดไหนบ้าง สายตาของเราถูกดึงดูดด้วยการออกแบบไฟ เวที และฉาก ระยะห่างระหว่างเราและการแสดงถูกกำหนดผ่านการตัดสินใจของคนทำละครที่จะดำรงไว้ซึ่งกำแพงที่สี่หรือจะทำลายมัน สายตาของผู้ชมในโรงละครจึงเต็มไปด้วยความเป็นไปได้และยืดหยุ่น
แต่ในเครื่องมือของภาพเคลื่อนไหว สายตาของผู้ชมถูกบังคับควบคุมกว่านั้นมาก และเป็นองค์ประกอบที่สำคัญต่อการเล่าเรื่องของภาพยนตร์ ขนาดที่ทฤษฏีสายตาซึ่งว่าด้วยอำนาจของกล้องเป็นหนึ่งในองค์ความรู้พื้นฐานที่คนทำหนังอาชีพและนักทฤษฎีภาพยนตร์จะต้องถูกฝึกให้คำนึงถึงเป็นสิ่งแรกๆ คนทั่วไปอาจคุ้นชินเป็นพิเศษกับทฤษฎี male gaze ของลอร่า มัลวีย์ (Laura Mulvey) ที่พูดถึงสายตาเล้าโลมและมุมมองอันจำกัดต่อเพศหญิงของภาพยนตร์ซึ่งเป็นแขนงศิลปะที่คนทำเป็นผู้ชายเสียส่วนใหญ่ แต่นอกไปจากสายตาที่เจือปนด้วยอคติทางเพศแล้ว ยังมีทฤษฎีเกี่ยวกับสายตาในแง่มุมอื่นๆ อีกหลากหลาย รวมถึงทฤษฎีที่ครุ่นคิดกับระยะห่างและการแทรกแซงของคนทำสารคดีที่ไต่อยู่บนเส้นของการรักษาความจริงอันศักดิ์สิทธิ์และการเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับซับเจกต์จนชีวิตของเธอเปลี่ยนไป
เมื่อคนทำงานละครต้องแปลงการแสดงของพวกเขาให้กลายเป็นงานภาพเคลื่อนไหว แม้พวกเขาอาจคุ้นชินกับการใช้ภาพเคลื่อนไหวเป็นองค์ประกอบหนึ่งในการแสดงอยู่บ้าง แต่ครั้งนี้ต่างออกไป เพราะภาพเคลื่อนไหวใน BIPAM กลายเป็นสื่อกลางที่คั่นระหว่างและเชื่อมโยงการแสดงกับผู้ชม เมื่อภาพเคลื่อนไหวเป็นมากกว่าตัวประกอบ แต่กลายมาเป็นกำแพงที่สี่ สายตาของคนทำที่แสดงตนผ่านตำแหน่งแห่งที่ ความสนใจ และการเคลื่อนไหวของกล้องจึงเข้ามามีบทบาทสำคัญในการให้ความหมายกับชิ้นงาน โดยที่ศิลปินอาจรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม
The 4th Rehearsal นั้นเป็นการแสดงเน้นกระบวนการ ที่หากจัดแสดงในโรงละครจะปรากฏในรูปแบบของการซ้อมที่ผู้ชมสามารถเดินเข้าออกโรงละครเพื่อสังเกตการณ์กระบวนการนี้ได้ การแปลงการแสดงที่ยืดหยุ่นและลื่นไหลที่ว่านี้ให้กลายเป็นวิดีโอจึงเป็นเรื่องที่ท้าทายและเปิดกว้างให้เกิดการตีความที่หลากหลาย และในสองการแสดงย่อยที่ศิลปินทั้งสองสลับกันกำกับ เราก็ได้เห็นว่าพวกเขาทำมันออกมาเป็นงานภาพเคลื่อนไหวที่แตกต่างกัน
ครึ่งแรก—หรือจริงๆ แค่เพียงหนึ่งในห้าของความยาวของวิดีโอ—เราได้เห็นไฉไลไปรบที่กำกับโดยวรรณศักดิ์และแสดงโดยปฏิพลขึ้นมาก่อน ในตอนต้นเราเห็นภาพวิดีโอง่ายๆ ที่บันทึกบทสนทนาระหว่างศิลปินทั้งสอง ประกอบกับการซ้อมและกระบวนการเบื้องหลังการถ่ายทำ ก่อนที่ภาพจะตัดไปเพื่อขึ้นชื่อเรื่องบนพื้นดำและการแสดงจะเริ่มต้นขึ้น เรื่องราวของนายดอกรัก สายลับชาวอยุธยาที่ปลอมตัวเป็นหญิงเพื่อแทรกซึมเข้าไปในค่าย
พม่าเวอร์ชั่นนี้ถูกถ่ายในป่าหลังบ้านของวรรณศักดิ์ด้วยภาพขาวดำและกล้องที่เคลื่อนไหวอย่างมือสมัครเล่น ตลอดการแสดง ปฏิพลซึ่งแสดงเดี่ยวโดยหยิบจับถ้วยโถโอชามล่องหน และพูดคุยกับนักแสดงร่วมในจินตนาการ คอยหันมาโต้ตอบและจ้องมองเข้ามายังกล้อง สำหรับผู้ชมภาพยนตร์แล้ว การถูกสบตาโดยคนที่ปรากฏในภาพเคลื่อนไหวมักให้ผลลัพธ์ที่ตราตรึงและสร้างความรู้สึกเชื่อมโยงอย่างพิเศษเสมอ เพราะไม่ต่างอะไรมากนักจากกำแพงที่สี่ของละคร ภาพยนตร์มักทำตัวราวกับว่ากล้องนั้นล่องหนและเหตุการณ์ตรงหน้ามีความเป็นภววิสัยที่ไม่อาจถูกละเมิดได้ ในไฉไลไปรบ เมื่อปฏิพลตอบสนองต่อสายตาของกล้อง และรับรู้ถึงการมีอยู่ของผู้ชมที่จ้องมองไปที่เขา ผู้ชมอย่างฉันจึงรู้สึกถึงการผลักและดึงบางอย่างราวกับว่าสายตามองกลับของเราถูกมองเห็น และประกอบกันนั้น การขยับไหวของกล้องที่ซื่อๆ และตรงไปตรงมา ก็ทำให้ผิวสัมผัสของไฉไลไปรบมีความอบอุ่นบางอย่างของความเชื่อใจและสัตย์จริง
เมื่อไฉไลไปรบ จบลงและ In the Queer เริ่มต้นขึ้น เราเห็นได้ทันทีว่าปฏิพลเลือกตีความกระบวนการซ้อมนี้ต่างออกไป การแสดงเกิดขึ้นในโรงละครอันเป็นสถานที่ดั้งเดิมของตัวบท แต่กล้องของปฏิพลไม่ได้เรียบง่ายเหมือนอย่างภาพกว้างและภาพแคบของ The Imperial Sake Cup And I และ เพียงเบิ่น ขณะที่วรรณศักดิ์ตอบโต้โดยตรงกับปฏิพลซึ่งรับบทเป็นผู้กำกับและคอยโยนโจทย์ต่างๆ ให้วรรณศักดิ์นั้น เรามองเห็นมุมมองมากกว่าหนึ่งตลอดเวลา ราวกับมีกล้องตั้งจับภาพอยู่ทุกซอกทุกมุม มีเพียงกล้องที่จับภาพกว้างตัวเดียวเท่านั้นที่ในบางช่วงเวลาขยับเข้าใกล้ เคลื่อนที่อย่างไม่ให้สุ้มให้เสียง และตัดดำเวลาที่ปฏิพลสั่งคัท แต่ยังมีกล้องอีก 1-2 ตัวที่ตั้งในมุมแปลกๆ และคอยบันทึกช่วงเวลาที่กล้องตัวหลักไม่ได้บันทึกอยู่ แม้จะมีกล้องจับจ้องจากรอบตัว แต่ปฏิพลก็ทำการแสดงโดยราวกับไม่รับรู้ถึงสายตาของกล้องเหล่านั้น มีเพียงในบางช่วงจังหวะที่เรารับรู้ได้ถึงความกระสับกระส่ายในน้ำเสียงเมื่อวรรณศักดิ์เอ่ยถามปฏิพลว่ากล้องเริ่มกดอัดแล้วหรือยัง และมองเห็นว่าเขารู้ตัวอยู่เสมอว่ามีสายตาของเลนส์ที่จับจ้องมองมา แม้บอกไม่ได้ว่าเขารับรู้ถึงกล้องตัวไหนบ้างก็ตาม
ฉันเข้าใจเจตนาของปฏิพล บทสนทนาที่เกิดขึ้นระหว่างที่กล้องตัวหลักตัดภาพดำเป็นส่วนสำคัญที่บอกเล่ากระบวนการและความรู้สึกภายในระหว่างทำการแสดง และนั่นก็อาจเป็นประเด็นหลักของการทำ The 4th Rehearsal แต่ในขณะเดียวกันฉันก็อดรู้สึกไม่ได้ว่าสายตาของ In the Queer ช่างเย็นชาและบุกรุก และบังคับให้ฉันกลายเป็นผู้จับจ้องที่ไม่อาจเบือนหน้าหนี โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับไฉไลไปรบซึ่งตีความกระบวนการซ้อมอย่างซื่อๆ ด้วยสายตาที่ไม่ถือตนสูงส่งกว่าใคร หาก The 4th Rehearsal จัดแสดงในโรงละครอย่างที่ตั้งใจไว้ในคราวแรก ประสบการณ์ที่ผู้ชมมีต่อการซ้อมละครทั้งสองเรื่องอาจอยู่ในระนาบที่ไม่ต่างกัน พวกเขาจะสามารถเดินสำรวจเข้าออกโรงละครเพื่อจัดวางตำแหน่งยืนของตนเอง และเลือกทั้งระยะและจุดสนใจต่อการซ้อมละครทั้งสองได้ แต่เมื่อมีกล้อง–ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ไม่อาจดำรงตนเป็นภววิสัยได้–เข้ามาเป็นตัวกลาง ผลลัพท์ของการใช้เครื่องมือบันทึกภาพกลับทำให้งานทั้งสองออกมาต่างกันอย่างสิ้นเชิง
อีกการแสดงหนึ่งในโปรแกรมของ BIPAM ที่สายตาของกล้องปรากฏชัดและมีผลพวงอย่างลึกซึ้งต่อประสบการณ์ของผู้ชมคือ B O R R O W โดยดุจดาว วัฒนปกรณ์ โดยตัวของมันเอง B O R R O W รวมถึงการแสดงก่อนหน้าของดุจดาวเรื่องสัตว์มนุษย์ ต่างก็ตั้งอยู่บนคอนเซ็ปต์ที่น่ากังขาอยู่แต่แรก การแสดงทั้งสองเชื่อในการพาคนธรรมดาที่ไม่ใช่นักแสดงมืออาชีพมาอยู่ในพื้นที่ของโรงละคร แล้วใช้การไต่ถามแบบนักจิตวิทยาเพื่อ ‘ปลดอาวุธ’ และเชื่อว่าการถามตอบระหว่างดุจดาวและบุคคลที่ถูกจัดแสดงจะนำไปสู่ข้อสรุปบางอย่าง สำหรับ B O R R O W ข้อสรุปที่การแสดงต้องการไปถึงคือการชี้ให้เห็นความเชื่อมโยงส่งต่อบางอย่างที่ส่งผ่านทางสายเลือดและบทบาททางสังคม เพื่อตั้งคำถามว่าเราเป็นเจ้าของอะไรบ้างในอัตลักษณ์ของเรา
สายตาที่ใช้ในการถ่ายทำและถ่ายทอดการแสดงนี้เป็นภาพแทนของความย้อนแย้งในคอนเซ็ปต์ของ B O R R O W ได้เป็นอย่างดี ในขณะที่การแสดงตั้งตนอยู่ในความเป็นภววิสัยแบบวิทยาศาสตร์และการถ่ายทอดความจริงอย่างสารคดี กล้องที่มีอยู่หลายตัวในสตูดิโอนั้นกลับไม่แยแสที่จะรักษาระยะหรือถอนตัวออกจากการเป็นตัวกระทำที่สร้างความหมายให้การแสดงแต่อย่างใด กลับกัน กล้องเหล่านั้นเคลื่อนย้ายไหวตัวไปทั่วสตูดิโอ เลนส์ที่ซูมเข้าไปยังมือที่กำแน่นและเม็ดเหงื่อผุดพรายบนใบหน้า รุกล้ำและบีบเค้นเอาคำตอบในทุกภาษากายที่โต้ตอบกับคำถาม กล้องของ B O R R O W จึงมีลักษณะลูกผีลูกคน ในขณะที่มันอ้างตนว่าเป็นสายตาทางการแพทย์ (clinical gaze) ที่เย็นชาและเถรตรง มันก็เป็นสายตาทางการแพทย์ที่ล้วงลึกและใช้ความเป็นภววิสัยของตนเองเป็นอาวุธชำแหละร่างกายทางจิตวิทยาของผู้แสดง
ยิ่งไปกว่านั้น ภาพของ B O R R O W ยังถูกนำมาตัดต่อและจับประกบกันตามอำเภอใจของผู้ลำดับภาพและผู้กำกับ อย่างที่ทฤษฎีมองทาจคอยเตือนเราว่าภาพหนึ่งๆ ไม่ได้มีความหมายตายตัวในตัวมันเอง แต่ความหมายในภาพยนตร์ถูกสร้างขึ้นโดยการลำดับภาพต่างๆ เข้าด้วยกัน การจัดวางภาพแคบของภาษากายเคียงข้างภาพกว้างของผู้แสดง ไปจนถึงการเรียงร้อยคำตอบของผู้แสดงแต่ละคนเข้าด้วยกัน จึงทำให้รอยนิ้วมือของการเรียบเรียงปรากฏเด่นชัดขึ้นมากกว่าคำตอบที่ได้จากการไต่ถาม และทำให้ข้อสรุปสุดท้ายของการแสดง–ไม่ว่ามันจะคืออะไรก็ตาม–มีความน่ากังขามากยิ่งขึ้นเท่าทวีคูณ สุดท้ายแล้วเมื่อดูการแสดงชิ้นนี้จบลง ฉันจึงรู้สึกถึงการยัดเยียดและบังคับควบคุมในคราบของจิตวิทยาขาวสะอาดซึ่งทิ้งร่อยรอยอยู่ในทุกการเคลื่อนไหวของกล้องและตะเข็บของการตัดต่อมากยิ่งกว่าอะไรอื่น
ดังนั้นในการเลือกแปลความการแสดงออกมาเป็นภาพเคลื่อนไหวเพื่อจัดแสดงออนไลน์ สายตาที่ถ่ายทอดการแสดงจึงเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ไม่อาจละเลยได้ โดยเฉพาะกับการแสดงร่วมสมัยที่มักตั้งตนอยู่บนการทำงานกับความจริงของผู้แสดง ไม่ใช่การถ่ายทอดเรื่องแต่งอย่างการละครแบบดั้งเดิม เพราะการแสดงเหล่านั้นกำลังบอกกับผู้แสดงว่าโรงละครเป็นพื้นที่ปลอดภัย ที่ซึ่งพวกเขาสามารถปลดปล่อยความเปราะบางให้แสดงตนออกมาได้ แต่เมื่อผู้ชมเช่นฉันจ้องมองผ่านสายตาไม่รู้ร้อนรู้หนาวของกล้อง ซึ่งบุกรุก อวดดี และถือวิสาสะ จึงอดไม่ได้ที่จะเกิดคำถามขึ้นว่าผู้แสดงกำลังถูกล่อลวงให้ปลดเปลื้องตนเองเพื่อปรากฏเป็นชิ้นงานที่ตอบสนองต่ออีโก้ของคนทำและดวงตาจับจ้องของคนดูหรือเปล่า
4
4 — การมีส่วนร่วม
A Perfect Conversation Oh Ode X Blunt Knife Google Doc Jam เป็นการแสดงเดียวในโปรแกรมของ BIPAM ที่เลือกไม่ใช้ Vimeo เป็นโรงละครออนไลน์ของมัน อย่างที่ปรากฏในชื่อการแสดง แพลตฟอร์มของ A Perfect Conversation ประกอบกันขึ้นจากหน้ากระดาษเอสี่ดิจิทัลของ Google Docs และกล่องสี่เหลี่ยมเรียงรายของ Zoom สองศิลปินศศพินธุ์ ศิริวาณิชย์และ เอ็ง ไค เออร์ (Eng Kai Er) ปรากฏเป็นไอคอนสัตว์นิรนามและเคอร์เซอร์ต่างสี ปะปนอยู่กับคนดูที่ไม่จำเป็นต้องเปิดกล้องหากไม่ยินดี
ความนิรนามนั้นเป็นดาบสองคม ในพื้นที่ของโซเชียลมีเดียที่ตัวตนดิจิทัลของผู้คนถูกประกอบสร้างขึ้นด้วยภาพและตัวอักษร บางครั้งผู้คนก็มองไม่เห็นใบหน้าและเลือดเนื้อที่อยู่เบื้องหลังจอภาพเหล่านั้น ความรุนแรงแสดงตนก้าวร้าวขึ้น ข่าวลือไร้ที่มาแพร่สะพัดรวดเร็วขึ้น ผู้คนทะเลาะเบาะแว้งเชือดเฉือนกันโดยปราศจากความเห็นอกเห็นใจมากขึ้น แต่ขณะเดียวกัน ความนิรนามก็เป็นเกราะกำบัง เป็นสิ่งรับประกันว่าเรายังสามารถรักษาความเป็นส่วนตัวของตนเองระหว่างกันได้อยู่ (หรืออย่างน้อยก็ให้ภาพลวงตาเช่นนั้น)
A Perfect Conversation วางตัวอยู่ในความกำกวมของความนิรนามนี้ ในพื้นที่ทางกายภาพ ผู้ชมไม่อาจถูกจัดวางอยู่ในระนาบเดียวกับผู้แสดงโดยไม่เปิดเผยอัตลักษณ์ของตนได้ ในบริบทของวัฒนธรรมแบบไทยๆ บางครั้งมันก็ทำให้ผู้ชมเคอะเขินที่จะกระโดดเข้ามีส่วนร่วมในการแสดงอย่างเต็มที่ ฉันพบว่าเมื่อฉันอยู่ในห้อง Zoom ที่ไม่จำเป็นต้องเปิดใบหน้าให้ใครเห็น แต่ก็สามารถมีส่วนร่วมด้วยตัวอักษรที่ฉันเคาะลงไปใน Google Docs ฉันรู้สึกกล้าแสดงความคิดเห็นและมีส่วนร่วมมากกว่าเวลาถูกเชื้อเชิญให้พูดหรือทำอะไรในโรงละคร ขณะเดียวกัน ด้วยการเลือกใช้อุปกรณ์ที่ทำให้ผู้คนร่วมใช้พื้นที่ดิจิทัลและสัมผัสถึงเวลาร่วมกัน A Perfect Conversation ก็เปิดให้ผู้ชมรับรู้ถึงเลือดเนื้อลมหายใจของผู้คนที่อยู่ด้านหลังแป้นพิมพ์ และหลีกเลี่ยงการกลายเป็นพื้นที่ของตัวอักษรที่ไร้ภาระรับผิดชอบเหมือนอย่างบางปริมณฑลของโซเชียลมีเดีย พื้นที่ของ Google Docs ยังอนุญาตให้เรามีบทสนทนาที่ไม่จำกัดความยาวและสามารถแตกแขนงกิ่งก้านออกโดยไม่ผลักบทสนทนาไหนให้อยู่ลึกจนพ้นการรับรู้ และพร้อมกันนั้นมันก็ไม่ถูกกำกับด้วยลำดับเวลา ใน Google Docs Jam ที่ศิลปินทั้งสองมองย้อนและสะท้อนถึงประสบการณ์การแสดง Oh Ode และ Blunt Knife ซึ่งต่างก็สัมผัสถึงมิติที่เป็นส่วนตัวของผู้แสดง ฉันในฐานะผู้ชมก็ได้มองการแสดงทั้งสองอย่างซับซ้อน และมีส่วนร่วมกับมันไม่ใช่ในฐานะผู้เฝ้ามองที่ปราศจากส่วนได้ส่วนเสีย แต่เป็นสมาชิกในพื้นที่ซึ่งมีความรับผิดชอบต่อการสร้างบรรยากาศปลอดภัยสำหรับบทสนทนาที่คร่อมกลางและตั้งคำถามต่อความถูกผิดที่เป็นขาวดำ และขณะเดียวกันก็เป็นบทสนทนาที่ตั้งอยู่บนความเปราะบางที่ผู้แสดงทั้งสองไว้ใจเปิดเผยต่อเรา
ตอนท้ายของการแสดง A Perfect Conversation ศศิพินท์และไคเปิดฟลอร์เต้นรำขึ้น และพวกเราผู้ชมขยับนิ้วพิมพ์ตัวอักษรสีรุ้งไปตามเนื้อเพลง Dancing Queen ของ ABBA ฉันรู้สึกแปลกใจอยู่เหมือนกันที่ในช่วงเวลาราวชั่วโมงครึ่งของการแสดง ความรู้สึกผูกพันและไว้เนื้อเชื่อใจสามารถก่อร่างที่แม้จะบางเบาขึ้นระหว่างผู้คนที่ไม่เคยเห็นหน้ากันมาก่อน ที่ A Perfect Conversation สามารถสร้างประสบการณ์และบรรยากาศเช่นนี้ได้ แน่นอนส่วนหนึ่งเพราะมันเป็นการแสดงแบบ delegated performance หรือการแสดงที่มอบหมายบทบาทการมีส่วนร่วมให้ผู้ชม แต่ที่สำคัญ เป็นเพราะการแสดงนี้ปฏิบัติต่อออนไลน์อย่างเป็นพื้นที่ ไม่ใช่เพียงพื้นผิวสำหรับจัดแสดงศิลปะการละครเท่านั้น มันจึงสามารถปลดล็อกความเป็นไปได้ใหม่ๆ ในการจัดวางระนาบความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนที่อยู่ต่างสถานที่ได้อย่างเป็นอิสระและหลากหลายขึ้น ด้วยการมองให้กว้างกว่าการเชื่อมโยงผู้คนด้วยสายใยทางสายตา และสร้างพื้นที่ที่โอบรับความเห็นอกเห็นใจขึ้นในระบบนิเวศออนไลน์ มันก็ได้ขยับขยายและสร้างช่องว่างให้ร่างกายทางสังคมของผู้คนสามารถก่อตัวขึ้นอย่างแข็งแรงและมีน้ำหนัก
ในบริบทของโลกดิจิทัล ฉันจึงมองเห็นความท้าทายและความหมายของการแสดงเช่น A Perfect Conversation เพราะแม้โลกออนไลน์จะมีเครื่องมือในการเชื่อมโยงสัมพันธ์มนุษย์ที่หลากหลาย แต่ขณะเดียวกันเครื่องมือเหล่านั้นก็มีจุดประสงค์เฉพาะของตัวมันเอง ในขณะที่โซเชียลมีเดียซึ่งกินพื้นที่ของยามว่างและสัมพันธ์ทางสังคมถูกออกแบบมาเพื่อสร้างผลกำไรจากข้อมูลส่วนตัวและการปฏิสัมพันธ์ให้ได้มากที่สุด เครื่องมืออย่าง Google Docs และ Zoom ก็ประดิษฐ์ขึ้นเพื่อให้การทำงานระยะไกลเป็นไปได้และส่งผลให้งานรุกล้ำเข้ามาในเวลาส่วนตัวของเรามากยิ่งขึ้น เมื่อศิลปะการแสดงเลือกเอาเครื่องมือเช่นนั้นมาใช้เพื่อสร้างพื้นที่สำหรับกิจกรรมทางสังคมที่ไม่มุ่งเน้นการผลิต มันจึงเป็นการแข็งขืนต่อวิธีการใช้เครื่องมือแบบตอบสนองทุนนิยม และขณะเดียวกันก็ปรับเอาศักยภาพของเครื่องมือเหล่านั้นมาใช้เพื่อการเชื่อมโยงสัมพันธ์ที่มีความหมาย
แม้พื้นที่ออนไลน์จะเป็นสถานที่ซึ่งบ่มเพาะและสนับสนุนการต่อต้านในหลายที่ทั่วโลก ซึ่งรวมไปถึงประเทศไทย ที่ซึ่งอินเทอร์เน็ตเป็นดั่งอุโมงค์ใต้ดินสลับซับซ้อนอันเป็นสถานที่แพร่กระจายของข้อมูลต้องห้าม ตั้งแต่บนเว็บบอร์ดของฟ้าเดียวกัน จนมาถึงทวิตเตอร์ในการเคลื่อนไหวของราษฎรในปี 2563 แต่ถึงที่สุดแล้ว รูปร่างของปฏิสัมพันธ์ในออนไลน์ที่ขาดตอน แตกเป็นเสี่ยง และล้นทะลัก ก็ทำให้การทำความรู้จักและสร้างสัมพันธ์ที่มีความหมายในพื้นที่นี้เป็นไปได้ลำบาก ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อรูปแบบของการเคลื่อนไหวที่ไม่สามารถจัดตั้งเป็นองค์กรภาคประชาชนที่มีความเข็มแข็งได้ เพราะแม้เราจะขับเคลื่อนด้วยความโกรธเกรี้ยวเดียวกัน แต่การรู้จักผู้เข้าร่วมประท้วงคนอื่นๆ ในฐานะมนุษย์ที่มีเลือดเนื้อ การถกเถียงที่ก่อให้เกิดความเข้าใจร่วมที่ลึกซึ้ง และการร่วมกันสร้างกลยุทธ์ในการเคลื่อนไหว กลับเป็นสิ่งที่ทำได้ยากในเขตแดนออนไลน์ที่ทำให้เราไขว้เขวและอารมณ์แปรปรวน
ในบริบทเช่นนี้ ศิลปะการแสดงที่เห็นศักยภาพของออนไลน์ในฐานะพื้นที่ และลงแรงกับการสร้างวิธีการใหม่ๆ เพื่อเชื่อมโยงผู้คนอย่างมีความหมายจึงมีความสำคัญต่อการสร้างร่างกายทางสังคม ที่มีพลังมากยิ่งขึ้น จริงอยู่ที่ร่างกายที่ว่านี้ปรากฏขึ้นเป็นการชั่วคราวและสลายไปเมื่อห้อง Zoom ปิดตัวลง และในบางมุมมองการเชื่อมโยงที่มีความหมายแต่ไม่ยืนระยะอาจไม่มีประโยชน์อะไรที่จับต้องได้ รวมไปถึงว่าเราต้องกลับไปตั้งคำถามเดิมว่าพื้นที่แห่งการบ่มเพาะความเป็นไปได้ใหม่นี้เปิดประตูให้แก่ใครบ้าง โดยไม่อาจละเลยคำถามเหล่านี้ A Perfect Conversation ในฐานะตัวแบบของพื้นที่ออนไลน์ที่ทำให้เราสัมผัสถึงการมีอยู่ของกันและกันก็ทำให้เรามองเห็นความเป็นไปได้ที่จะไม่รู้สึกโดดเดี่ยวในโลกดิจิทัลที่ห้อมล้อมเราอยู่ และในความรู้สึกของการเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนที่ใหญ่กว่าตัวนี้เอง ความเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่ยุคสมัยนี้เฝ้ารอคอยก็อาจกำลังฟักตัวอยู่
5
เมื่อเรามองเห็นมิติต่างๆ ของเครื่องมือออนไลน์ที่สร้างความหมายใหม่ให้กับการละครที่ยักย้ายมาอยู่ในพื้นที่ดิจิทัล เราก็มองเห็นว่าหากคนทำละครหยิบจับเครื่องมือเหล่านี้ขึ้นมาใช้โดยรับรู้ถึงนัยยะของมัน การละครออนไลน์ก็มีศักยภาพที่จะปะติดร่างกายที่แตกออกเป็นเสี่ยงของสังคมดิจิทัลได้ด้วยการสร้างพื้นที่สำหรับความสัมพันธ์ที่มีความหมาย และการทำเช่นนั้นด้วยตัวมันเองก็เป็นการทวงคืนพื้นที่ออนไลน์กลับมาเป็นของเรา ที่ซึ่งเราสามารถออกแบบการเชื่อมโยงปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันได้ โดยไม่ยอมจำนนต่อข้อจำกัดของแพลตฟอร์มสำเร็จรูปที่กำกับโดยรัฐและทุน แต่เมื่อกล่าวถึงจุดนี้แล้ว ก็ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ที่จะต้องเผชิญกับคำถามที่ว่า ‘เรา’ ในที่นี้นับรวมใครบ้าง และหากผู้คนไม่สามารถเข้าถึงการละครออนไลน์อย่างเท่าเทียมแล้ว ความพยายามใดๆ ของคนทำงานศิลปะการละครที่จะสร้างสัมพันธ์ออนไลน์รูปแบบใหม่ๆ ก็ดูจะมองข้ามมิติทางชนชั้นไปโดยสิ้นเชิง หากการแสดงที่ปรากฏตนบนพื้นที่ออนไลน์ยังจำกัดตนอยู่ในรั้วรอบของคนวงในและคนในวงการ เราก็คงต้องตั้งคำถามว่าการสร้างพื้นที่ใหม่ๆ เช่นนี้จะสามารถเป็นต้นแบบที่นำไปสู่ร่างกายทางสังคมที่กินพื้นที่กว้างได้จริงหรือไม่ หรือสุดท้ายแล้วการทดลองใดก็ตามในพื้นที่นี้ก็เป็นเพียงการละเล่นของอภิสิทธิ์ชนที่ผู้คนจากฐานพีระมิดไม่สามารถแม้แต่จะชะเง้อคอมองข้ามกำแพงสูงของโรงละครเข้ามาได้เลย
ศิลปะการแสดงร่วมสมัยนั้นมีรั้วรอบเช่นนี้อยู่แต่เดิมแล้ว แม้ก่อนจะก้าวเข้ามาในพื้นที่ออนไลน์ก็ตาม แต่เมื่อมันกระโดดข้ามเข้ามาในพื้นที่ที่เปี่ยมไปด้วยศักยภาพของการแข็งข้ออย่างความเป็นสาธารณะที่ขัดขืนการถูกปิดกั้น การเข้าถึงได้ทั่วไปโดยผู้คนหลากหลาย ความรวดเร็วในการแพร่กระจายราวไฟป่า และการเป็นพื้นที่ที่ลบทิ้งข้อจำกัดในมิติของเวลาและพื้นที่ การคงไว้ซึ่งรั้วรอบของโรงละครจึงเป็นจุดอ่อนที่ขัดขวางไม่ให้ศิลปะการแสดงสามารถทำงานได้อย่างสุดความสามารถของมัน
ถ้าเช่นนั้นแล้ว ตัวเลือกอื่นคืออะไรกันล่ะ
คำถามนี้ชวนให้ฉันนึกถึงความทรงจำหนึ่งเมื่อสองสามปีก่อน คืนหนึ่งขณะเดินกลับหอพักใกล้มหาวิทยาลัย ฉันเดินผ่านที่ดินผืนหนึ่งของชุมชนสามย่านที่โดนมหาวิทยาลัยนายทุนไล่ที่และทุบทิ้งจนโล่งเตียน คืนนั้นมีเวทีชั่วคราวปรากฏขึ้นและบนเวทีมีงิ้วกำลังเล่นอยู่ ผู้คนในชุมชนจับจองพื้นที่กันเต็มหน้าเวที คนเฒ่าคนแก่ดูเรื่องราวที่จำได้ขึ้นใจซ้ำอีกครั้ง ขณะที่ลูกเด็กเล็กแดงซื้อขนมและวิ่งเล่นกันให้วุ่น ในพื้นที่นั้น ศิลปะการแสดงมีความหมายอย่างลึกซึ้งสำหรับฉัน มันเป็นจุดนับพบที่เชื่อมโยงผู้คนในชุมชน กลุ่มคนที่ไม่อาจมีแรงต้านความรุนแรงของทุน ซึ่งได้รุดหน้าทำลายสิ่งปลูกสร้างที่ยึดโยงพวกเขาไว้ด้วยกันอย่างไม่ใยดี งิ้วคืนนั้นไม่ได้ช่วยหยุดยั้งการแตกกระสานซ่านเซ็นของชุมชนที่ต้องแยกย้ายไปเริ่มต้นใหม่ในที่แห่งอื่น แต่มันก็เป็นการหยัดยืนอย่างทรนงเพื่อรำลึกและตอกย้ำว่าพวกเขาเป็นเจ้าของพื้นที่แห่งนี้ ด้วยวัฒนธรรมอันเป็นอัตลักษณ์ที่หยั่งรากลึกในผืนดินและโอบกอดยึดโยงพวกเขาไว้ด้วยกัน ทุกวันนี้ที่ดินตรงนั้นยังคงราบเป็นหน้ากลอง โดยมีรั้วสังกะสีล้อมรอบศาลเจ้าแม่ทับทิม ซึ่งวันหนึ่งก็คงจะประสบชะตากรรมเดียวกันกับเหล่าตึกแถวที่เคยเป็นบ้านพักอาศัยของผู้คน แม้ในอนาคตเมื่อข่าวคราวของการไล่ที่อย่างเลือดเย็นซาลงไป คงจะมีสิ่งปลูกสร้างใหม่ที่เป็นเครื่องจักรผลิตกำไรผุดขึ้นมาแทน แต่ทุกครั้งที่ฉันเดินทางผ่านที่ดินผืนนั้น ฉันจดจำว่ามันเคยเป็นของใครด้วยภาพเวทีงิ้วและผู้คนที่รายล้อมมันนั่นเอง
BIPAM ตั้งต้นด้วยการถามถึงความเป็นเจ้าของ และบทความนี้ก็ย้อนกลับมาที่จุดเริ่มต้นนั้นอีกครั้ง ศิลปะการละครร่วมสมัยที่ยังคงลังเลที่จะเปิดประตูให้ทุกคนก้าวเข้าไป จะสามารถมองเห็นศักยภาพของการแสดงที่เป็นของทุกคนได้หรือเปล่า และเพื่อตอบคำถามที่ตั้งไว้แต่ต้นว่า ‘อะไรบ้างที่เป็นของเรา เราสามารถโอบรับ สร้างสรรค์ และกำหนดมันให้ไปในทิศทางที่ใฝ่ฝันถึงได้ดีกว่าเดิมหรือไม่?’ ในฐานะคนทำงานทางวัฒนธรรม ศิลปิน หรือภัณฑารักษ์ และในระดับที่ใกล้ชิดกับตัวเรามากที่สุด เรา—ในความหมายแบบพหูพจน์—เป็นเจ้าของเครื่องมือในการสร้างงานศิลปะของเรา เราเป็นเจ้าของพื้นที่ กำแพง และเป็นเจ้าของค้อนที่จะทุบทำลายกำแพงนั้น เราเป็นเจ้าของความเป็นเจ้าของ ซึ่งฉันตั้งคำถามต่อคุณในเวลานี้ว่าเราจะสามารถปล่อยมือจากความเป็นเจ้าของนั้น และหักแบ่งมันเพื่อแจกจ่ายแก่ผู้คนได้หรือเปล่า เมื่อการละครกระโดดเข้ามาในลานกว้างที่เต็มไปด้วยความเป็นไปได้ของโลกดิจิทัล บางทีความหมายของสิ่งที่ฉันพูดถึงอยู่นี้อาจสามารถปรากฏรูปร่างที่แตกต่างออกไป และอาจมีศักยภาพที่จะสร้างร่างกายทางสังคมใหม่ที่มีพลังยิ่งกว่าเดิม.
ธัญวรัตม์ สมบัติวัฒนา |
Tanwarat Sombatwattana
ธัญวรัตม์ สมบัติวัฒนาเป็นโปรดิวเซอร์อิสระ นักแปลพาร์ทไทม์ และนักเคลื่อนไหวสิทธิแรงงาน ในฐานะคนทำงานทางวัฒนธรรมที่เผชิญกับช่วงเวลาแห่งวิกฤตการณ์ เธอค้นหาตำแหน่งแห่งที่ของศิลปะในบริบทของการแข็งขืน การจัดตั้ง และการเคลื่อนไหว
Tanwarat Sombatwattana is an independent film producer, part-time translator, and labour rights activist. As a cultural producer in an age of crisis, she actively engages with art’s interaction with resistance, organising, and activism.
ธัญวรัตม์ สมบัติวัฒนาเป็นโปรดิวเซอร์อิสระ นักแปลพาร์ทไทม์ และนักเคลื่อนไหวสิทธิแรงงาน ในฐานะคนทำงานทางวัฒนธรรมที่เผชิญกับช่วงเวลาแห่งวิกฤตการณ์ เธอค้นหาตำแหน่งแห่งที่ของศิลปะในบริบทของการแข็งขืน การจัดตั้ง และการเคลื่อนไหว
Tanwarat Sombatwattana is an independent film producer, part-time translator, and labour rights activist. As a cultural producer in an age of crisis, she actively engages with art’s interaction with resistance, organising, and activism.