พีระ ส่องคืนอธรรม เป็นนักเขียนและนักแปล เขานิยามตัวเองว่าเป็นนอนไบนารี่ ตอนเติบโตที่ศรีสะเกษพีระไม่ได้รู้สึกผูกพันกับอัตลักษณ์อีสานเลย แต่กลับรู้สึกนึกถึงอีสานขึ้นมาตอนย้ายไปอยู่ที่อื่น สำหรับพีระ การแปลได้กลายเป็นวิธีสืบเสาะอัตลักษณ์ของความเป็นอื่นที่อยู่คู่กับคำว่า ‘บีลอง’ เสมอ ในบทสัมภาษณ์ชิ้นนี้ พีระชวนเราคิดเกี่ยวกับความหมายของคำว่า ‘do justice’ อันหมายถึงการลงแรงทำให้สมกับความละเอียดลออของสิ่งที่อีกคนหนึ่งพูด การยืนเคียงและฟังเสียงอีกคน และการ ‘หาทำ’ เพื่อปล่อยให้ภาษาผ่าข้ามบริบทไปสู่สิ่งใหม่ๆ ผ่านงานแปลที่ ‘ให้ชีวิต’ ให้กับบางเรื่องราวหรือบางสิ่ง
พีระเคยเขียนบทความเชิงวิเคราะห์วิจารณ์วัฒนธรรมและการเมืองทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษลงตามหน้าสื่อ อย่างเช่น เดอะอีสานเรคคอร์ด, อ่านออนไลน์, เดอะแมทเทอร์, แม่โขงรีวิว, นิวแมนดาลา, และ บอสตันรีวิว โปรเจ็คล่าสุดของพีระคืองานแปลกลอนลำและบทสัมภาษณ์ หมอลำแบงค์ ปติวัฒน์ สาหร่ายแย้ม ในปี 2018 เขาเป็นผู้แปล ท่งกุลาลุกไหม้ [El Llano en Ilamas] รวมเรื่องสั้นของนักเขียนเม็กซิกัน ฆวาน รุลโฟ จากภาษาสเปนเป็น ‘ภาษาอีสาน’ โดยมีหมอลำแบงค์เป็นบรรณาธิการสำนวนแปล
1
1) พีระคิดว่าพื้นเพทางด้านวิชามานุษยวิทยา โดยเฉพาะแนวคิดเกี่ยวกับการวิเคราะห์ตัวบทและการแปลนั้นมีอิทธิพลต่อการทำงานแปลวรรณกรรมยังไงบ้าง? หรือคิดว่างานแปลของตัวเองมีส่วนสะท้อนความสนใจหรือกิจกรรมอื่นๆ ในชีวิตบ้างมั้ย?
ช่วงที่พีเริ่มแปลวรรณกรรมคือช่วงที่แต่งกลอนไม่ค่อยออกแล้วพอดี น่าจะเป็นกวีนิพนธ์นี่แหละที่ส่งไม้ต่อมาให้การแปล เป็นช่องให้ได้แต่งคำโดยไม่ต้องแต่งมันขึ้นมาเอง คือมีแบบให้คอยเหลือบมอง ให้เราคิดหาอย่างเอาเป็นเอาตายว่าจะใช้คำไหน จะเรียงคำยังไงให้มันเกิดพลังวิเศษเดียวกันกับที่เราต้องมนตร์มาในอีกภาษาหนึ่ง เวลาอ่านอะไรงามๆ ในภาษาที่เราไม่ได้เป็นเจ้าของ เราก็มีแนวโน้มที่จะรับพลังกวีมาแบบเข้มข้นเป็นพิเศษเพราะว่าต้องค่อยๆ ลูบ ค่อยๆ ไล้ ค่อยๆ ไล่ตามเสียงตามศัพท์ของมัน คำว่า ‘อีกภาษาหนึ่ง’ ที่ว่านี่บางทีก็ไม่ใช่ภาษาต่างประเทศอย่างอังกฤษหรือสเปนนะ บางทีก็ภาษาไทยเรานี่แหละ ‘ภาษาอีสาน’ เรานี่แหละที่เป็นอื่น ว่ากันตามจริงแม้แต่ภาษาแม่นั้นเราก็ไม่สามารถเป็นนายมันได้อย่างเบ็ดเสร็จ ในเมื่อยังมีอะไรที่แปลกออกไปคอยเซอไพร้เราอยู่เสมอ ซึ่งพีว่ามันดีต่อสุขภาพนะ การได้เจอภาษาเจ้าของอย่างคนแปลกหน้าแปลกถิ่นเนี่ย นั่นยังไงล่ะคติประจำวิชามานุษยวิทยา: อะไรที่คุ้นเคยก็ทำให้มันแปลก อะไรที่แปลกก็ทำให้มันคุ้นเคย
เหนือสิ่งอื่นใด มานุษยวิทยาวัฒนธรรมช่วยให้เราเห็นภาพกว้างและช่วยให้เราปลงตก คือมันเป็นสาขาวิชาที่ผูกมัดอยู่ทั้งกับสิ่งที่จับต้องได้ ทั้งกับการต้องตีความ ผูกมัดอยู่ทั้งกับเสียงที่มีชีวิต ทั้งกับการต้องตีเส้นเป็นลายลักษณ์อักษร นักมานุษยวิทยาติดอยู่กับความสลับซับซ้อนของการวางตัวต่อคนและเรื่องที่ตัวศึกษา ติดอยู่กับความยอกย้อนภายในกิจการของตัว แต่ทั้งหมดนี้กลับไม่นำไปสู่ภาวะติดกับ แทนที่จะยืนติดกับที่หันรีหันขวาง การคิดก็ผลักดันให้ยิ่งรู้จักลงมือทำ การลงมือทำก็ผลักดันให้ยิ่งรู้จักคิด ชี้ช่องให้แก่กันไปมาไม่มีที่สิ้นสุด และยิ่งผลงานที่ออกมาจุดชนวนการโต้แย้งเห็นต่างมากเท่าไหร่ สนามของนักมานุษยวิทยาก็ยิ่งมีชีวิตชีวาขึ้นเท่านั้น เมื่อไรที่ย้อนคิดถึงสมัยเรียนมานุษยวิทยา ก็จะเกิดความรู้สึกสงบเย็นขึ้นมากับตัวเองที่เป็นนักแปลแล้วมาติดแหง็กอยู่ในดงของนานาข้อผูกมัดที่ดึงเราไปคนละทาง มันทำให้เล็งเห็นว่าธรรมดาแค่ไหนที่งานเรามัน partial คือทั้งพร่องทั้งเอียง และวิเศษแค่ไหนที่เสียงตอบรับงานเรามันแตกขั้วไปเลย
2
2) ถ้าให้เปรียบเทียบกิจของการแปลกับอุปมาอุปไมยสักอย่าง พีระคิดว่าการแปลเหมือนกับอะไร? แล้วทำไมถึงเป็นแบบนั้น?
การทำงานแปลมันรวยเซลล์สมอง มันเซอไพร้ มันให้พลังชีวิตมากจนมันเป็นอะไรที่หาใดเปรียบในใจเรา แต่จะว่าไป ‘ให้ชีวิต’ ก็เป็นความเปรียบแบบหนึ่งนี่เนาะ ชวนให้นึกถึงโมเดลการแปลของแคโรลิน เชรด (Carolyn Shread) ที่เปรียบการแปลเหมือนครรโภทร เป็นช่องพรมแดนระหว่างต้นฉบับกับสำนวนแปล เป็นกระบวนการปฏิสัมพันธ์ที่ไม่เป็นปฏิปักษ์ ชุบชูกันและกัน เป็นการเผยงานแปลออกมาจากช่องข้างในต้นฉบับ ความเปรียบนี้เตือนใจเราให้ถอนตัวเองจากการพะวงไม่สิ้นสุดว่างานแปลทำไม ‘สู้’ ต้นฉบับไม่ได้ จนลืมไปว่างานแปลที่ดีที่สุดมันทำอย่างอื่นได้ด้วย คือให้ชีวิตใหม่แก่ภาษาปลายทาง เลี้ยงบำรุงผู้ใช้ภาษาปลายทาง พร้อมกันกับที่มันเผยแง่มุมใหม่ๆ ของต้นฉบับ โครงการไหนที่มีสิทธิ์จะทำทั้งหมดนี้ได้ พีก็อยากจะเลือกมัน
3
3) ในฐานะนักแปล พีระมองงานของพีระว่ามีความเกี่ยวพันกับการเมืองบ้างมั้ย?
ไม่รู้สิ เหมือนได้สวมบทผู้เรียกร้องความเท่าเทียมท่ามกลางความหลากหลายทางภาษาไหม? คำถามนี้ชวนให้นึกภาพราวกับว่านักแปลเป็นตัวแทนประเทศหรือภูมิภาคที่ต่อสู้เพื่อสิทธิและผลประโยชน์ของประชาชนยังไงยังงั้นเลยเนาะ แต่ที่รู้สึกจริงๆ คือมันปัจเจกกว่านั้นมาก เหมือนจริยศาสตร์มากกว่า มันคือการตอบเสียงเรียกของใครสักคนที่พูดกับเรามากๆ แม้เราจะผิดแปลกแตกต่างกันแค่ไหน แล้วเรารู้สึกว่าต้องรับผิดชอบในคำขานรับของเรา ให้มัน do justice หรือสมน้ำสมเนื้อกันกับสิ่งที่เขาพูดและวิธีที่เขาพูดมันออกมา พอเราได้รู้จักเสียงเรียกอย่างนั้นแล้ว ใจมันก็กระตุ้นให้เพรียกหามันต่อไปเรื่อยๆ เป็นกระบวนการเรียนรู้ที่จะฟังอย่างตั้งใจ
ยกตัวอย่างล่าสุดที่พีได้แปลกลอนลำและคำให้สัมภาษณ์ของหมอลำแบงค์ ปติวัฒน์ สาหร่ายแย้ม เป็นภาษาอังกฤษ มันเป็นงานที่เกิดขึ้นจากการครุ่นคิดหาทางยืนเคียงและฟังเสียงเพื่อนของเราคนนี้ที่โดนจับขังคุกและตั้งข้อหาร้ายแรงทั้งมาตรา 116 และ 112 เพียงเพราะขึ้นเวทีปราศรัยเรียกร้องการนิรโทษกรรม หลังได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว เขาส่ง “ลำล่องอโหสิกรรมหัวใจ ‘ตน’” มาให้อ่านและคอมเมนต์ แล้วกลอนลำมันทั้งพูดกับเรา ทั้งเป็นปริศนากับเรา จนรู้สึกอยากแปลเพื่อเป็นการ ‘ตอบแทน’ เขา คือลงลึกกับทุกคำของมันเป็นการตอบแทนเขาที่ไว้ใจส่งมา แล้วก็ตอบโต้ออกมาเป็นงานแปลแทนเขาเพื่อให้คนอื่นได้เข้าใจมากขึ้นถึงการแสดงออกทางการเมืองในโหมดที่โคตรจะเข้าถึงยาก คราวนี้เราจะแสดงความผกผันทางอารมณ์ในกลอนลำออกมายังไง บาทหนึ่งดูเย็นๆ บาทต่อมาขึ้นมึงอย่างเงี้ยะ พีก็เลยแปลโดยใช้ท่วงทำนองของ spoken word poetry ขัดเกลามันผ่านการซ้อมอ่านออกเสียง จนสุดท้ายได้แสดงมันออกมาด้วยการแสดง
ส่วนคำให้สัมภาษณ์ แบ๊งเคยบอกว่ารู้สึกไม่จุใจกับซับไตเติ้ลภาษาไทยมาตรฐานในวิดีโอสัมภาษณ์เวลาเขาเว้าลาวหรือลำออกสื่อ พอเราจับพลัดจับผลูได้มาทำวิดีโอสัมภาษณ์เขาเองบ้าง เราก็รู้สึกว่าคำเขามันมีความละเอียดลออทั้งในเชิงเนื้อหาและน้ำเสียงที่ต้องฟังหลายๆ รอบ ที่เราตอบเขาไปตอนสัมภาษณ์ว่า “เข้าใจ” นั้นจริงๆ เราไม่เข้าใจนี่หว่า คราวนี้เราจะถ่ายทอดการโค้ดสวิทช์ของเขาระหว่างไทยกับลาวยังไงในภาษาอังกฤษ? เราจะแปล “คำหยาบ” ยังไงให้ถึงใจ? แล้วคำที่เราเห็นว่ามันกดเหยียดผู้หญิงล่ะ? สำนวนแปลก็เลยแก้หลายรอบ ใส่ซับไปแก้ไปทีละวรรคๆ ได้ฟังสัมภาษณ์วนไปจนเข้าใจว่า อ๋อ บางครั้งที่แบ๊งโค้ดสวิทช์มาเป็นภาษาไทยมาตรฐาน มันเป็นการอ้างคำพูดคนอื่นด้วยน้ำเสียงแอบแดกดันนี่หว่า แล้วก็ได้เข้าใจว่าการใช้คำว่า ‘หี’ บางจุดมันสามารถตีความว่าไม่ใช่การเหยียดเพศได้นี่ อย่างในท่อนนี้ที่เขาฝากไปหาอดีตคณบดีศิลปกรรมศาสตร์ ม.ขอนแก่น ที่มีส่วนช่วยจับกุมเขาหลังการรัฐประหารปี 2557
ประสาเป็นคณบดี มันใหญ่มาแต่ไส? ฮึการเป็นคณบดี มันใหญ่มาแต่ไส? มันก็ใหญ่มาแต่หีแม่มันคือเก่านั่นหละ หีแม่มันเบ่งออกมา คือกันกับเฮา เฮาก็ออกแล้วก็ใหญ่มาแต่หีแม่คือกันกับมันเลย นี่คือการเว้าสะท้อนไปหามัน เว้ากันแบบหญาบๆ รึมันกลัวหมอลำแบงค์ใช่มั้ย ที่หมอลำแบงค์ชอบพูดหยาบและพูดเสียงดัง
นอกจากจะพลิกคำว่า ‘ใหญ่’ โดยเล่นกับคำกริยาที่หมายความว่าโตในภาษาอีสาน แบ๊งยังพลิกความหยาบด้วย คือเผยให้เห็นว่าสิ่งที่กรอบคิดแบบไทยมาตรฐานอาจตัดสินว่าเป็นการ ‘ชอบพูดหยาบ’ แท้จริงแล้วเป็นเพียงการ ‘เว้ากันแบบหญาบๆ’ คือเป็นการสื่อสารซึ่งกันและกันโดยไม่ถือวรรณะทางภาษา แถมสารที่สื่อก็ทลายวรรณะลงเช่นกัน อย่างที่พระพุทธเจ้าบอกไว้ว่า “พวกพราหมณ์เหล่านั้น ก็ล้วนแต่เกิดจากช่องคลอดของนางพราหมณี” นั่นเอง ในซับไตเติ้ลสุดท้าย ‘เว้ากันแบบหญาบๆ’ จึงถูกแปลว่า ‘unfiltered’ ในขณะที่ ‘พูดหยาบ’ ถูกแปลว่า ‘bad words’ พร้อมคร่อมทั้งวรรคนั้นไว้ด้วยเครื่องหมายอัญประกาศเพื่อสื่อถึงน้ำเสียงเสียดสี
พอจะอ้างได้ว่าที่แปลคำแบ๊งพวกนี้มันคือการสร้างสำนึกเป็นปึกแผ่น คือไม่ได้เป็น solidarity ที่มาจากการป่าวประกาศเฉยๆ แต่มาจากการ do justice หรือลงแรงทำให้สมกับความละเอียดลออของสิ่งที่อีกคนหนึ่งพูด — แบ๊งไม่ได้เป็นเพียงเหยื่ออยุติธรรม แต่เขาได้คั้นผลงานพิเศษออกมาด้วย และไม่ใช่แค่นั้น เขายังได้สร้างทฤษฎีอธิบายความอยุติธรรมด้วย
กลับมาที่คำถามเรื่องการเมือง นักแปลวรรณกรรมเมืองไทยมีอำนาจแบบแปลกๆ อยู่เหมือนกัน พวกเรามีสิทธิที่จะกลายเป็นคนเฝ้าประตู พวกเรามีความเนื้อหอมเพียงเพราะรู้ภาษาต่างประเทศ พร้อมกันนั้นพวกเราก็โดดเดี่ยวและขาดแคลนการสนับสนุนเชิงสถาบันและเชิงเศรษฐกิจ พียังใหม่ในวงการ แล้วดันมีความทะเยอทะยานสูง ก็หวังว่าจะอยู่ได้ตลอดรอดฝั่ง โดยที่บทบาทของพีไม่ถูกขับเน้นแต่แง่มุมการเมืองจนไม่เหลือที่ให้เล่นในระหว่างข้อผูกมัดทางการเมืองทั้งหมดทั้งมวลที่มันไขว้กัน ดึงกันจนตึงเครียดมาเสมอตั้งแต่ต้น
4
4) อะไรคือความท้าทายที่ต้องเผชิญในการแปลสุ้มเสียงของคนชายขอบจากภาษาหนึ่งไปอีกภาษาหนึ่ง โดย ‘บายพาส’ ภาษาไทย?
แน่นอนอยู่แล้วว่าเป็นไปไม่ได้ที่จะสื่อสารบริบทภาษาพูดของชาวบ้านกลุ่มหนึ่งผ่านบริบทภาษาพูดของชาวบ้านอีกกลุ่มหนึ่งโดยปลอดภัยไร้ปัญหา ในเมื่อแต่ละกลุ่มก็มีกฎเกณฑ์ความเป็นของแท้ ความเป็นเจ้าเข้าเจ้าของ และแต่ละบริบทก็มีความเข้มข้นของประสบการณ์ที่ไม่อาจถูกลดทอนเหลือเพียงสถานะชายขอบ ความท้าทายของการใช้ภาษาชายขอบข้ามขอบเขตจึงอยู่ที่ว่าจะพุ่งชนความเสี่ยงยังไงไม่ให้มันสุ่มเสี่ยงกลายเป็นหรือถูกอ่านไปเป็นการฉกฉวยหรือลดทอนเอกลักษณ์ของแต่ละบริบทภาษา ซึ่งก็ความท้าทายอันนี้แหละที่พีตั้งไว้ให้ตัวเองและให้ผู้อ่านในการแปล El Llano en llamas ของฆวาน รูลโฟ (Juan Rulfo) รวมเรื่องสั้นจากเสียงที่มีชีวิตของชนบทเม็กซิกันให้ ‘เป็น’ อีสาน พีไม่รู้สึกว่าไทยมาตรฐานจะทำได้ดั่งใจหรือ do justice กับมันได้ ปฏิสัมพันธ์ระหว่างคิดกับทำก็ค่อยๆ พาพีย้อนกลับไปหาภาษาถิ่นของตัวเอง เพียงเพื่อจะผลักเราไป ‘หาทำ’ ภาษาอีสานขึ้นใหม่ให้เป็นภาชนะรองรับตัวบทของรูลโฟโดยเฉพาะ หนังสือ ท่งกุลาลุกไหม้ ถามว่า ถ้าเกิดเราเปิดใจรับสิ่งที่ดูผิดธรรมชาติอันนี้ว่าเป็นสิ่งที่ไม่ได้ผิดอะไรล่ะ ถ้าเกิดเราลองปล่อยผ่านการผ่าข้ามบริบทไปมาแทนที่จะบอกว่า ‘อย่าหาทำ’ ล่ะ อะไรจะเกิดขึ้น?
นอกจากภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออกต่างๆ ที่โยงกับความแท้ไม่แท้ โปรเจ็คที่มันดูหวือหวาและแหกกฎอย่างนี้ยังสุ่มเสี่ยงที่รูปแบบของมันจะถูกแยกออกจากและยกขึ้นเหนือเนื้อหา รูปแบบที่แหกกฎอาจได้รับทั้งคำชมและคำติ ขณะประเด็นที่ว่ารูปแบบอันนั้นมันผูกมัดกับเนื้อหายังไงกันแน่ยังไม่ถูกเล็งเห็นเท่าไหร่
จริงๆ เริ่มมาคิดว่าอาจจะเป็นการคิดผิดถ้าบอกว่างานแปลชิ้นนั้น ‘บายพาส’ ภาษาไทยมาตรฐาน จริงอยู่ว่ามันต่อภาษาและภูมิทัศน์ของชนบทเม็กซิโกเข้ากับของชนบทอีสานโดยตรง กระนั้นความเป็นไทยมาตรฐานก็ยังเหลือเป็นตออยู่โทนโท่ เป็นพลังกำกับอักขรวิธี เป็นสัญญาณรบกวนเบื้องหลัง นั่นหมายความว่ายิ่งตั้งใจ ‘บายพาส’ กรุงเทพในการเขียนตัวไทยเท่าไหร่ เสียงที่มีชีวิตของเราก็ยิ่งจะมิดหายเข้าปากช้างและถูกบดขยี้อย่างเป็นแม่นมั่นขึ้นเท่านั้นรึเปล่า? หมายความว่าเครื่องมือของเจ้านายจะไม่มีวันทำลายวังของเจ้านายลงได้อย่างนั้นรึเปล่า? มันก็เป็นไปได้ แต่นี่คือเครื่องมือที่เรามี (เราในที่นี้อาจรวมถึงคุณด้วยนะ) เครื่องมือของวัฒนธรรมกระฎุมพีที่เราเป็นส่วนหนึ่ง เจ้าโลกอันนี้มัน ‘อ๊อก’ เราเข้ากับมัน มันเองก็ถูกเชื่อมเข้ากับเรา อย่างที่วอลเทอร์ เบนยามีนชี้ไว้ในเรียงความ ‘Author as Producer’ [นักประพันธ์ในฐานะผู้ผลิต] เราสามารถทำได้มากกว่าทำลายอุปกรณ์นั้นทิ้ง คือมันยังมีทางเลือกที่จะสร้างนวัตกรรมทางเทคนิค ที่จะหาทางดัดแปลงมัน พวกเราก็น่าจะแต่งเครื่องมือนี้กันต่อไปเรื่อยๆ นะ เหมือนเด็กแว้นแต่งรถอ่ะ
5
5) วรรณกรรมประเภทไหนที่พีระอยากให้ถูกแปลมากขึ้นในไทย และคิดว่ามันสามารถสร้างบทสนทนาอะไรได้บ้างในบริบทของไทย?
คิดว่ามันก็คึกคักแล้วนะเมื่อหันไปมองสภาพเศรษฐกิจและการเมืองบ้านเรา คือในใจก็ฝันว่าถ้ามีการแปลวรรณกรรมกับทฤษฎีจากหมู่เกาะคาริบเบียนมาเยอะๆ (ทั้งจากโลกภาษาฝรั่งเศส สเปน อังกฤษ และครีโอลต่างๆ) ก็คงจะเปิดโลกดีแหละ ด้วยความที่มันมีความเป็นลูกผสมและความหลากหลายดิ้นได้ในตัวสูงมาก แต่ที่สำคัญกว่าอยากเห็นอะไรถูกแปล คิดว่าอยากเห็นวิธีการใช้ภาษาไทยที่เซอไพร้เราและให้พลังหนุ่มกระชุ่มกระชวยกับเรามากกว่า พีอยากจ๊ะเอ๋กับภาษานี้ราวกับเพิ่งเคยเจอมันครั้งแรก เหมือนกับเวลาฟังเพลงแร็พไทยทุกวันนี้แล้วได้ยินสัมผัสนอกสัมผัสในแบบใหม่นั่นแหละ
6
6) มีหนังสือเล่มไหนบ้างที่พีระมักกลับมาเปิดอ่านอยู่บ่อยครั้ง หรือมีนักเขียนคนไหนบ้างที่จุดประกายให้พีระได้เรียนรู้อะไรต่อมิอะไรเพื่อเอามาปรับใช้กับงานเขียน/งานแปล?
แต่ก่อนไม่เคยถือจริงจังเลยกับแนวคิด untranslability หรือสิ่งที่แปลไม่ได้ จนมาปิ๊งเมื่อได้อ่าน Motherless Tongues: The Insurgency of Language amid Wars of Translation [ภาษากำพร้าแม่: การก่อจลาจลของภาษาท่ามกลางศึกสงครามการแปล] ของวีเซนเต ล. ราฟาเอล (Vicente L. Rafael) ซึ่งเล่าผ่านมุมของฟิลิปปินส์กับสหรัฐอเมริกา แทนที่จะเป็นสิ่งปิดกั้นการสื่อสารไปอย่างน่าเสียดาย การแปลไม่ได้นี้กลับเป็นขุมความหวังของประชาธิปไตย ตัวภาษานั่นเองที่ต่อต้านทุกการตั้งตนเป็นนายและหมายแปรมันเป็นเครื่องมือ ซึ่งราฟาเอลก็เล่นกับความจริงข้อนี้อย่างไม่เกรงใจใคร แทนที่จะเป็นการทุบโต๊ะยุติการโต้เถียง การจดจ่อกับสิ่งที่แปลไม่ได้นี้กลับเป็นวิธีเปิดบทสนทนาสำคัญๆ ที่ไม่มีวันถึงจุดยุติ ด้วยความยากลำบากทั้งหมดทั้งมวลของมัน อาการแปลไม่ออกนี้เองที่รับประกันว่าจะมีการแปลออกมาใหม่ในอนาคต เพราะไม่มีใครมีสิทธิชี้ขาด ถึงนักแปลจะเจนจบยังไงมันก็จะไม่จบในมหรรณพของภาษาที่เปลี่ยนไปทุกขณะ นั่นยังไงล่ะความงามของมัน นั่นยังไงล่ะประชาธิปไตยของมัน
และที่อยากกลับมาอ่านหนังสือเล่มนี้อีกเรื่อยๆ ก็เพราะราฟาเอลเค้ามีพรสวรรค์ในลวดลายการลงลึกกับคำที่ชั่ยๆ เพื่อพยายามทำความเข้าใจทั้งแนวคิดและปรากฏการณ์จริงจนมันเกิดภาพโลดแล่นในใจเรา นี่แหละที่พีจำเป็นต้องมีไว้ใกล้ๆ ตัว — นักทฤษฎีสักคนที่ถ่วงจินตนาการของเราไว้กับพื้นดินแม้ในยามที่มันถูกพาบินสูงขึ้นไป
Peera Songkünnatham (they/them) is a writer and translator, and identifies as non-binary. Born and raised in Sisaket City, they felt no connection to their Isan identity until they moved elsewhere. Translation has become a way for Peera to scrutinise this bond, where otherness and belonging intertwine. In this interview, Peera thinks through what it means to ‘do justice’: to stand beside, lean in and listen to the other; to ‘forge’ [หาทำ] something new in the ‘life-giving’ project of translating.
Peera’s writings on culture and politics have been published in various places including The Isaan Record, Aan Online, The Matter, Mekong Review, New Mandala, and Boston Review. Their most recent project is the English-language translation of performance poems by and interviews with ‘Molam Bank’ or Patiwat Saraiyaem. In 2018, with Molam Bank as an editor, Peera translated El Llano en llamas [ท่งกุลาลุกไหม้], a collection of short stories by the Mexican writer Juan Rulfo from Spanish to ‘Isan’.
1
1) How does your background in anthropology, which involves a specific approach to textual analysis and translation, inform your literary translation work? Are there any other interests or practices that you think bled into your approach to translation as well?
Around the time I started dabbling in literary translation, my poetry was running dry. In time, literary translation became a way for me to tinker with words without the need to create everything from scratch. I now had a way to work from a model, agonizing over what word to use and how to put it all together in order to draw out that same magic I experienced in this other language. When you read something magnificent in a language you don’t master, you tend to perceive its poetic qualities particularly intensely, because you have to go slow and feel out all the sounds. Now, “this other language” sometimes isn’t English or Spanish. Sometimes it’s Thai. Sometimes it’s “Isan language.” In fact you can’t fully master even your mother tongue, as there’s always something unfamiliar waiting to surprise you. I think it’s healthy to encounter your own language as a stranger from time to time. There, that’s anthropology’s motto for you: make the familiar strange and the strange familiar.
More than anything, cultural anthropology gives me perspective and peace. It is a discipline simultaneously committed to empiricism and interpretation, to the living voice and to the writing. The anthropologist is caught in the complicated positions they inhabit vis-a-vis their subjects and the contradictions involved in their enterprise. Yet none of this leads to paralysis. On the contrary, thinking and doing take turns pushing each other to be better, teaching each other the art of noticing. And the more debate and dissension the resulting work generates, the livelier the field becomes. When I reminisce about my education in anthropology, I somehow feel at peace with myself as a translator caught, at times hopelessly, between competing commitments. I recognize how mundane and how wonderful it is for my work to remain partial and polarizing.
2
2) What metaphor would you use to describe your approach to translation?
I find the work of translation so rich, so surprising, so life-giving that it stands on its own in my mind. Well, maybe ‘life-giving’ is a metaphor here. I’m reminded of Carolyn Shread’s model of translation as metramorphosis — note the extra ‘r’ there — which posits that the original work and its translation nourish each other in a matrixial or womb-like borderspace. This image reminds me that there is so much more to the translator’s enterprise than endlessly trying to measure up to the original. The best translations also give new life to the target language, nourish its users, in the same breath as they reveal new, surprising aspects of the original. I like to pick projects that have the potential to accomplish all that.
3
3) How would you politicise your role as a translator?
It certainly looks like some sort of political advocacy for equality amid linguistic plurality. But to me it doesn’t feel “political” like that, as if I were a national or regional delegate fighting for the rights of my people at an international assembly. It feels much more individual, more like ethics, a way of being responsible in the encounter with someone else who really speaks to me despite our irreducible differences. This other calls out to me, and I have to respond adequately to do justice to what they say and how they say it. This call leads to a calling, a vocation of deep listening.
For example, my recent English-language translation of performance poems (klon lam) by and interviews with Molam Bank Patiwat Saraiyaem came as a result of my dwelling on the question of how to stand beside and listen to my friend who was charged with sedition and lese majeste simply for speaking in a pro-democracy rally. For the klon lam, how do I communicate his political expression at its most opaque? How do I register swift turns of emotion from loving kindness in one line to rage in the next? I took the route of spoken word poetry, and tinkered with it through rehearsal and performance. For the interviews, how do I convey the texture of his code-switching between Thai and Lao? How do I subtitle “bad words” I find misogynistic? I tinkered with my translation while manually adding subtitles to the video recording, listening to him over and over again, until I came to the understanding that certain instances of standard Thai were ironically reported speech, which led to the solution of using scare quotes. Also I came to the understanding that not all instances of identical “bad words” are the same, and that a non-sexist interpretation is possible. I could say my translation here is an act of solidarity. Solidarity not by proclamations, but by doing justice to the complexity of the other: Bank is not just a victim of injustice; he also created something special out of it. More, he developed a theory of injustice.
Now, in Thailand, literary translators occupy a strange position of power. We have the potential to become gatekeepers. We are sought after for our command of foreign languages. Our choices may stroke some egos and damage other ones. At the same time, we are isolated, with little institutional or economic support. I’m still new to the scene, and I have a lot of ambition, so let’s hope my role doesn’t get politicized to the point where I can no longer afford to be suspended somewhere in between all my political commitments, always already riven with tension.
4
4) What are the notable challenges you’ve personally encountered in translating marginalised voices from one language to another, bypassing standard, central Thai?
It’s of course impossible to unproblematically communicate one vernacular context by way of another, each with its own criteria of authenticity and ownership, each with its own intensities of experience that can’t be reduced to mere marginalization. So the challenge of using a vernacular as if it were a vehicular language lies in how you navigate the no small risk of (being construed to partake in) undue appropriation or reduction of the singularity of each vernacular context. Yet that’s precisely the challenge I set for myself and for the reader in the Isan-identified translation of Juan Rulfo’s El Llano en llamas, a written work fashioned from the voices of the Mexican countryside. I didn’t feel like standard Thai could do it justice, so the dialectic of thinking and doing led me back to my dialect, only to lead me forward to ‘forging’ something new out of Isan language to be the receptacle for Rulfo’s text in particular. The resulting book asks, what if we allow this unnatural thing to take root, let this forgery pass?
Aside from the dilemmas over authenticity, such a transgressive, ‘high concept’ project also runs the risk of having its form get separated from and privileged over content. A transgressive form may garner both kudos and criticism, while the issue of how exactly that form is bound to the content still goes underappreciated.
I’ve started to think that it might be a misconception that the translation ‘bypasses’ standard central Thai. True, it directly links the language and landscape of rural Mexico to those of rural Northeastern Thailand. Still, standard Thai remains a conspicuous absence, a structuring orthographical force, a background noise. Does this mean that the harder you try to “bypass” Bangkok in Thai writing, the more ineluctably your living voice will end up crushed between its jaws? That the master’s tools (Thai letters) will never dismantle the master’s house (central Thai supremacy)? Perhaps. But these are the tools that I — and probably you — have, the tools of bourgeois culture. This apparatus of culture makes me solidary with it, and it with me. As Walter Benjamin pointed out in the essay “Author as Producer,” one can do more than destroy that apparatus. There’s also the option of technical innovation, of creatively adapting it. So let’s keep tinkering with it.
5
5) What kinds of literature do you wish to see more translated into Thai and what potential conversations could they initiate in the Thai context?
It’s already pretty vibrant, considering our country’s economic and political situation. But literary classics and theory from the Caribbean would be nice, for such hybrid places they are. More than certain kinds of things, I want to be surprised and rejuvenated by how the Thai language is wielded. I want to encounter this language as if for the first time, the way I hear Thai rhymes differently in today’s Thai rap songs.
6
6) Can you name any book(s) that you always revisit or author(s) you learn a lot from as a writer/translator?
I was never really invested in the concept of untranslatability until I read Vicente L. Rafael’s Motherless Tongues: The Insurgency of Language amid Wars of Translation. Rather than a lamentable impasse of communication, untranslatability here is a cause for hope for democracy. Language itself resists all attempts to master and convert it, and Rafael zeroes in on this fact with irreverence and joy. Rather than to signal the end of discussion, untranslatable stuff can be attended to to open up important and inexhaustible conversations. For all its difficulties, precisely for all its difficulties, untranslatability ensures the future of translation — nobody has the final say in this ever-changing sea of language. That’s the beauty of it, the democracy of it.
Above all, I want to keep returning to this book because Rafael has a talent of seizing upon the right word to get at things both conceptual and concrete, bringing them to life in my mind. That’s what I need — a theorist who grounds my imagination even as it takes flight.
ซอย สควอด |
soi squad
ซอย | soi or ‘soi squad’ accounts the practices of writing, translating, and publishing for its transformative power in giving an access to knowledge. This stance has driven us to explore these practices through multiple facets.
ซอย | soi or ‘soi squad’ accounts the practices of writing, translating, and publishing for its transformative power in giving an access to knowledge. This stance has driven us to explore these practices through multiple facets.