...จู่ๆ พายุก็มา ดอกไม้ทั้งมวลถูกทึ้งทำลาย
(พายุ, 110)
***
แม้จะซื้อหนังสือ ในดินแดนวิปลาส: บันทึกบาดแผลสามัญชนบนโลกคู่ขนาน มาตั้งแต่เดือนพฤษภาและอ่านจบทันทีภายในคืนนั้น ฉันใช้เวลาอ้อยอิ่งอยู่กับเรื่องเล่าในหนังสือนานกว่าเวลาหลายเท่าตัว ตัวบทอื่นผุดขึ้นมาล้อกับหนังสือที่เพิ่งจบไป หนึ่งในนั้นคือเรื่องเล่าจากแผ่นดินที่พาดยาวตามชายฝั่งทะเลแปซิฟิก เผด็จการเห็นประชาชนเป็นศัตรูแต่ไม่คิดเข่นฆ่า ความอำมหิต ‘สร้างสรรค์’ นวัตกรรมบดทลายมนุษย์ด้วยกันเองได้เสมอมา คนแล้วคนเล่าถูกจับไปทรมาน ทุบตีร่างกายจนบอบช้ำ ข่มเหงจิตใจจนแหลกสลาย
— จากนั้นก็โยนร่างกายว่างเปล่ากลับเข้าสู่สังคมให้เป็น ‘อุทาหรณ์’ แก่ประชาชนที่เหลือ
ใบหน้าสามัญชนเป็นภาพซ้ำข้ามพาดขอบเขตรัฐชาติ ล้ำหน้าประวัติศาสตร์วีรบุรุษดักดาน และแผดเสียงผ่านรอยปริแตกของข้อเขียนที่ยึดกุมไว้โดยคนกลุ่มเดียว ความทรงจำอื่นอีกมหาศาลหาทางไปต่อผ่านลมแผ่วเบาของการเล่าเรื่อง จากร่างสู่ร่าง รุ่นสู่รุ่น จากคนสู่ผีและผีสู่คน หรือบางทีอาจเป็นบทบันทึกเจืออัตตาที่ผู้เขียนแอบหวังให้มันยืนยงกว่าร่างกายตนเอง แต่งานเขียนชิ้นไหนก็ไม่ได้ยิ่งใหญ่ไปกว่าเป็นรอยสะกิดหรือรอยข่วน คนอ่านล้วนแต่มีเงื่อนไขชีวิตซับซ้อนเกินกว่าที่ตัวบทโดดๆ ชิ้นไหนจะเปลี่ยนโลกของใครได้อย่างที่นิยมพูด และต่อให้เป็นความคิดฉลาดล้ำก็เสี่ยงสึกหรอจนทื่อด้านเมื่อเสียดทานกับเวลา ขณะที่อีกเสี้ยวสำนึกอาจกระเสือกกระสนหนีความตายที่เห็นรำไร…
1
‘ขอแสดงความเสียใจแก่เหล่านักเขียน’
รัชโพสต์ข้อความนี้บนเฟซบุ๊กตั้งแต่ช่วงปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา จากนั้นก็สาธยายเหตุการณ์ที่ทนายต้องรับมือรายวันในเวลาที่สิทธิของประชาชนไทยต่ำเตี้ยเรี่ยดิน เธอมองว่านักเขียนอาจต้องทึ้งหัวตัวเองแรงๆ ว่าจะเอาประสบการณ์อะไรมาเขียน ‘ให้กัดกินใจ อึดอัดใจไปได้มากกว่านั้น’
ต้องขอบคุณรัชที่เตือน ‘อัตตา’ ของนักเขียนที่หลงมโนไปง่ายๆ ว่าข้ารู้ข้าเข้าใจโลก (พวกเอ็งจงฟัง) สิ่งที่ยังต้องถามต่อคือ ประสบการณ์แบบไหนที่เรียกว่า ‘เห็น’ แล้วเห็นแค่ไหนถึงจะเรียกว่า ‘เข้าใจ’? แต่ไม่ว่าจะเห็นทิพย์หรือเห็นตำตา ความทุกข์ระกำก็ไม่ควรถูกมองว่าเป็นเพียงแรงบันดาลใจให้งานสร้างสรรค์ ชะตากรรมของผู้คนไม่ใช่ทางปูพรมให้ใครดื่มด่ำความฉิบหายเพื่อสร้างทฤษฎีอันไร้มลทิน โรคร้ายก็ไม่ใช่โอกาสให้ใครใช้เป็นเวทีขับเบ่งอัตตาเพียงเพื่อผลิตความเย็นชาในคราบบทวิเคราะห์
เหนือกว่านั้น เราควรช่วยกันสลัดมายาความสูงส่งล้ำลึกของการเขียน (และนักเขียน) เสียที หลายครั้งที่พลังข้อเขียนปะทุขึ้นจาก ‘ภาวะรองบ่อน’ บ่มจากความรู้สึกกระจอกงอกง่อยในระบบจัญไรค้างศตวรรษ อ็อคเตเวีย บัทเลอร์ นักเขียนนิยาย sci-fi เคยบอกว่าเธอเริ่มตั้งหน้าตั้งตาเขียนถึงอำนาจเพราะเธอรู้สึกว่าตัวเองมีมันอยู่เพียงน้อยนิด หรือบางทีการแสดงความเสียใจแก่นักเขียนของรัชไม่ได้ส่งถึงนักเขียนคนไหนเท่ากับเป็นโน้ตติดผนังเตือนความรู้สึกสำหรับตัวเองก็ได้? แต่ไม่ว่ารัชจะมองอย่างสื่อมวลชน นักเขียน พยาน มิตรสหาย หรือไม่เป็นอะไรเลยก็ช่าง หนังสือ ในดินแดนวิปลาส ก็เป็นมากกว่าเรื่องเล่าของ ‘ภาวะ’ และ ‘อัตตา’ ของใครเพียงคนหนึ่ง ความคั่งแค้นที่ตีคู่อยู่กับความรู้สึกไร้อำนาจของ ‘สามัญชนนิรนาม’ ได้เกี่ยวกระหวัด ‘ผู้อ่าน’ เข้าไปในตัวบทด้วย แล้วชี้ไปยัง ‘ชะตากรรมร่วม’ ของผู้คนในดินแดนที่ผู้อ้างอำนาจเหนือหัวกำลังดิ้นรนเพื่อฝืนความตาย…ในทั้งความหมายทางชีวภาพและสัญลักษณ์
2
ในบทสัมภาษณ์ “อุเบกขากลางสนามข่าวออนไลน์” โดยอิทธิพล โคตะมี รัชเล่าถึงจดหมายจากเรือนจำที่ ‘โดยกฎ มันจำเป็นต้องพับให้เล็กที่สุด […] พับได้เล็กมาก พับได้เล็กมากจนน่าประทับใจ’ พาลคิดไปว่ารัชอาจจัดการอารมณ์ตัวเองเหมือนกับจดหมายจากเรือนจำด้วยหรือเปล่า (?) พับให้ลีบเล็กและซุกมันไว้ในที่ที่ไม่ต้องกลับไปเผชิญ ซ่อนในหลืบ ‘กระเป๋า’ ที่นานๆ เข้าก็อาจลืม… แต่ถึงจะลืมก็ไม่เคยสลาย แถมผ่านไปนานวันเข้า สารในจดหมายเริ่มคั่งค้างอยู่ในร่างกายตัวเอง ไม่มีใครอื่นรับรู้ เว้นแต่จะเล่าออกมา:
เมื่อผู้พิพากษายังไม่มา เจ้าหน้าที่ยอมละเมิดกฎให้ลูกชายได้มานั่งข้างพ่อ เขาน้ำตารื้น หอมหัวหอมหูลูกชายไม่หยุด เป็นท่วงท่าแสดงความรักที่เงอะงะพอสมควร เพราะมีกุญแจมือเป็นประจักษ์พยานใกล้ชิด เพื่อนๆ ในห้องพากันปาดน้ำตา แต่ไม่ใช่นักข่าวผู้พบภาพแบบนั้นมานับไม่ถ้วน… (พ่อ, 21)
แม้รัชจะปฏิเสธว่าภาพตรงหน้านั้นสั่นสะเทือนอะไร นักข่าวผู้สวม ‘อุเบกขา’ กลางสนามรบก็ยังรู้สึกรู้สาอยู่ดี ตัวบทบอกชัดว่า ขณะรัชใช้หูฟังคำพิพากษา ตายังเห็นจำเลยที่ ‘เอาแต่หอมหัวลูก กอดลูกเป็นระยะ ราวกับเสียงที่ดังต่อเนื่องอยู่หน้าห้องไม่มีความหมายใดๆ กับเขา’ น่าสนใจว่า แล้วเสียงอะไรที่ก้องอยู่ข้างในชายคนนั้นจนกลบเสียง ‘คำพิพากษา’ ที่ดังอยู่ในห้องพิจารณาคดี? คงไม่มีใครล่วงรู้ แต่ที่รู้ได้คือ ใน ‘กลางสนามข่าว’ นั้น รัชแกว่งไกวระหว่างระยะการมองของนักข่าวที่สอดส่ายหา ‘ข้อเท็จจริง’ ไม่กระโจนลงสนามอารมณ์ของเหตุการณ์ (ไม่ว่าจะเป็นเพราะเคยชินหรือวางตัวไม่ให้เกี่ยวข้องตั้งแต่แรก) กับความสั่นไหวต่อเลือดเนื้อและความรู้สึกจริงๆ ของ ‘แหล่งข่าว’ ที่ไม่อาจมองอย่างเย็นชาโดยกันบุคคลนั้นไว้เพียงในฝั่งของความ[อ]ยุติธรรม
แต่โลกคู่ขนานก็ไม่ใช่แค่โลกรอบตัว มันยังหมายถึงโลกที่ปั่นป่วนอยู่ในร่างกายตัวเองด้วย คำว่า ‘อุเบกขา’ จึงเป็นคำที่ชวนสับสนว่าเมื่อไหร่ที่คำนี้คือกระบวนการจัดภาวะคลุ้มคลั่งในสังคมเพื่อตัวเองไม่ให้เสียสติกับความบัดซบตรงหน้าไปเสียก่อนที่จะได้ลงมือทำอะไร? แล้วตอนไหนที่มันเป็นเพียง defence mechanism ของตัวเองโดยล้วน? แค่ไหนคือการรักษา ‘ระยะ’ ขณะที่รู้อยู่เต็มอกว่าหัวจิตหัวใจมนุษย์ทำงานเหมือนประตูเขื่อนตลอดเวลาไม่ได้หรอก?
เพื่อนรอบตัวที่ยังไยดีต่อการเขียนมีความเห็นต่อระยะและการลงหลักของตัวเองที่แตกต่างกันไป — บางคนมองว่าการเขียนคือการ ‘make time’ ที่คนเขียนไม่อาจร่วมมะรุมมะตุ้มอยู่ในสนามได้ตลอดเวลา บางคนถมเวลาลงในพื้นที่เพื่อการรายงานสถานการณ์ตามจังหวะชีพจร บ้างก็บอกว่าเขียนให้เยอะเข้าไว้ บ้างก็บอกตัวเองว่าจะเขียนให้น้อยเท่าที่จำเป็น — แต่สิ่งที่ฉันเห็นคือ สองฝั่งเขียนไม่เคยแยกออกจากกันอย่างเด็ดขาด นอก-ในและใกล้-ไกลของแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน แถมมนุษย์บางจำพวกก็รักการแหย่ตีนจนพลัดหลงเข้าไปในดินแดนสารพัด เป็นแขกรับเชิญบ้าง เป็นผู้บุกรุกบางที เผลอเหยียบตีนเจ้าที่บ้าง แต่บางครั้งก็เจอเพียงที่รกร้างไร้คนเหลียวแล ถ้าวัดจากการอ่าน ในดินแดนวิปลาส รัชก็ถือเป็นนักเขียนที่ยื้อยุดอยู่ระหว่างพรมแดนเหล่านี้ เธอบอกไว้ว่าตัวเองอยู่ระหว่างกลางโลกสองใบที่ขนานกัน ฝั่งหนึ่งนั้นปกติ สว่างไสว ส่วนอีกฝั่งมืดมิด โหดเหี้ยม และ ‘ผู้อยู่ระหว่างโลกสองใบนี้จึงรักษาความปรกติสุขแห่งจิตได้ยากยิ่ง’ แต่จะมีตำแหน่งแห่งที่แบบไหนทรงพลังไปกว่าการอยู่ ‘ระหว่าง’ โลกสองใบหรือโลกผสมสารพัดใบแบบนี้อีก?
3
เรื่องราวทั้งหมดในหนังสือเล่มนี้เกิดจากเนื้อดินแห่งความสอดรู้สอดเห็นโดยแท้ ดอกผลครึ่งหนึ่งแปลงเป็นข่าวสารข้อมูลอันจริงจังในช่วงที่ประกอบอาชีพนักข่าว ณ สำนักข่าวเล็กๆ แต่ใจใหญ่แห่งหนึ่ง ซึ่งโดยมากคืออารมณ์ — ความรู้สึกที่ถูกเก็บซ่อนไว้ในกระเป๋า ไม่รู้จะเอาไปไหน (บทนำ, 11)
ฉันมองโลกสองใบของรัชว่าเป็น ‘สองฝั่งเขียน’ (ไม่ต้องสงสัย ฉันอุปโลกน์คำนี้ขึ้นมาเอง) คือเขียนทั้งจากฝั่งวิชาชีพนักข่าวและจากมนุษย์คนหนึ่งที่มีอารมณ์วูบไหวร้อนหนาว บ้างเขียนในดินแดนที่ฉับไว บ้างก็เขียนในเวลาไหลเอื่อย ในดินแดนวิปลาส ถูกวางให้อยู่อีกฝั่งของ ‘รายงานข่าว’ ห่างไกลจากการเป็น ‘ประเด็นร้อน’ ที่มีเวลาเป็นเงื่อนไขสำคัญ ประเด็นว่าอะไรจะ ‘เป็นข่าว’ ได้หรือไม่ ชวนให้นึกถึงบทสนทนากับอรุณธตี รอย ที่บอกว่าการเขียนของเธอข้ามไปมาระหว่าง ‘urgency’ และ ‘eternity’ นั่นคือระหว่างการเขียนอย่างนักข่าว/นักเคลื่อนไหว กับการผลิตเรื่องเล่าอย่างนักเขียนนิยาย ไม่มีฝั่งไหนดีงามย่อหย่อนไปกว่ากัน เพราะขณะที่ข่าวรายงานประเด็นรายวันและความเรียงส่งเสียงป่าวร้องสถานการณ์อย่างทันท่วงที ยังมีเรื่องราวตรงชายขอบของคุณค่า ภาษาและความหมาย มันอาจซุกซ่อนและสะสมอยู่ในร่างกายตรงไหนซักแห่ง อาจจ่อรอตรงคอหอยหรือเกาะแน่นอยู่ตรงท้ายทอย ประสบการณ์เทือกนี้อาจกลายเป็นคราบ เป็นรอยสลัก หรือเป็น ‘น้ำหนัก’ แบบหนึ่งแบบใด มันไม่สามารถแปลงเป็นรายงานหรือคำสอบสวนเพื่อ ‘ตีแผ่’ ได้อย่างทันทีทันใด …หรืออาจจะไม่มีทางทำอย่างนั้นได้เลย
เกิดการประท้วงมากมายหลายจุดของเมืองในกรุงนิวเดลีช่วงก่อนวิกฤตโควิดเพียงนิดเดียว ท่ามกลางเสียงอื้ออึงและเรียกร้องของผู้ประท้วงชาวอินเดียนั้น อรุณธตีชวนคุยถึงความรุนแรงบางประเภทที่ไม่ใช่สารสาระสำหรับการเขียนข่าว ไม่อาจจาระไนออกมาเป็นข้อเรียกร้องทางการเมืองที่ตะโกนก้องต่อสาธารณะได้ เธอยกเหตุการณ์ทหารเดินเท้าเข้าหมู่บ้านแห่งหนึ่ง แล้วยกปืนยิงไก่ของประชาชนได้ไม่เลือกตัวอย่างสนุกสนาน ความบันเทิงบนความตายของสัตว์เดรัจฉานเลยกลายเป็นแค่ ‘เรื่องกระจ้อยร่อย’ รายวัน ทั้งที่การกระทำนั้นยังเป็นสัญญาณความรุนแรงที่ทหารกลุ่มหนึ่งแสดงว่า ‘กูจะทำเหี้ยห่าอะไรกับพวกมึง (หรือทรัพย์สินของพวกมึง) ก็ได้’ ซีนทำนองนี้ที่เป็นเนื้อดินให้นิยายของเธอ เพื่อว่าผู้อ่านจะเห็นใบหน้าของความรุนแรงที่ถือสิทธิทำอะไรได้ตามอำเภอใจ โดยไม่มองอย่างชินชาว่าเหตุการณ์ทำนองนี้เป็นเรื่องแสนสามัญ
หลักฐานของความรุนแรงจึงไม่ใช่แค่เพียงตัวเลขของคนตายหรือการฉายภาพเหยื่อของความรุนแรงนั้นซ้ำๆ เรายังมีความรุนแรงอีแอบอย่าง ‘symbolic violence’ ที่เป็นเหมือนเงาตะคุ่มในภาษา ร่างกาย สัญลักษณ์ และคุณค่าความหมายที่ยึดถือกัน อรุณธตีเคยถูกนักเขียนชายไล่ให้ ‘กลับไปเขียนนิยาย’ เพียงเพราะงานความเรียงและเรื่องแต่งของเธอพัวพันกันจนทำให้ความจริงแลดูฟั่นเฟือนจนขัดใจตำรวจของวงการ แต่สำหรับเธอ การเล่าเรื่องที่โน้มไปทางวรรณกรรมช่วยให้ความรุนแรงที่เหมือนจะขี้ปะติ๋วถูกมองเห็น อย่างที่บอกว่าการประเมินพิษภัยหรือหายนะไม่อาจมองอย่างเย็นชาผ่านเพียงตัวเลขว่ามีคนโดนฆ่าตายไปแล้วกี่คนและโดนทารุณกรรมไปอีกเท่าไหร่ แต่ยังหมายถึงความรุนแรงแฝงเร้นที่ไม่มีรายงานด้านสิทธิมนุษยชนเล่มไหนเคยระบุไว้:
เค้กวันเกิดยังตั้งอยู่กลางวงล้อม เทียนสามแท่งถูกจุด แต่เพลงที่ร้องกลับไปไม่ใช่เพลงแฮปปี้เบิร์ธเดย์ มันเป็นเพลงที่เพื่อนนักดนตรีแต่งให้เขา และอีกหลายคนที่หายไประหว่างการเดินทางสู่ ‘ดวงดาว’ แห่งอุดมการณ์ (พายุ, 112-113)
ในดินแดนวิปลาส ไม่ละเลยความรุนแรงอันอ้อยอิ่ง ฝังลึก ไม่ผลักไสภาวะสับสนที่ไม่อาจอยู่ในร่องในรอยของภาษา สุ้มเสียง และสัญลักษณ์ได้อย่างหมดจด ส่วนสิ่งที่รัชเรียกว่า ‘โลกคู่ขนาน’ ในความจริงแล้วมันได้ตวัดไขว้หากัน แถมบางจุดก็ติดหล่ม เป็นปมจนสางไม่ออก หรือบางครั้ง โลกวิปริตก็ชวนให้ ‘โหมอารมณ์กรีดร้องโดยไม่ต้องอธิบายเหี้ยห่าอะไรอีก’ อย่างที่นักวิจารณ์พรรณนาเสียงแซ็กโซโฟนช่วงสุดท้ายในเพลง Alabama ที่จอห์น โคลเทรนแต่งขึ้นภายหลังเหตุระเบิดโดยกลุ่มเหยียดสีผิวในเมืองเบอร์มิ่งแฮมจนมีเด็กผู้หญิงผิวดำเสียชีวิตทันทีสี่คน เขาจนใจที่จะหาตรรกะชุดไหนมาอธิบายโลกที่ ‘ไม่ดูดำดูดี’ ชีวิตของผู้อื่น จึงปล่อยความคั่งแค้นออกไปเป็นเสียงต่อต้านทุกตรรกะวิปริตที่ร่วมสถาปนาและหล่อเลี้ยงสำนึกเหยียดสีผิว — แล้วระหว่างแถลงการณ์ต่อต้านความรุนแรงอย่างสุขุมลุ่มลึกกับเสียงกรีดร้องของแซ็กโซโฟน ใครจะตัดสินได้หรือว่าสิ่งไหนทำงานได้สมควรค่ากว่ากัน?
4
น้ำเสียงของรัช ในดินแดนวิปลาส ไม่ตั้งหน้าเปิดเปลือย ‘แหล่งข่าว’ ไม่ฝืนสาธยาย ‘dehiscence’ (ขอเรียกตรงนี้ว่า ‘แผลกึ่งเป็นกึ่งตาย’) ไม่ผลักไสประสบการณ์ที่ไม่ลงรอย รัชไม่โอ่ว่ารู้เห็นและเข้าใจมันมาอย่างถ่องแท้กว่าใคร เธอปล่อยให้ตัวบทหยุดตรงตะเข็บของชุดคำที่ถมเติมไม่ทันประสบการณ์อยู่เสมอ เผลอๆ คำถามนั้นอาจสร้างภาวะแทรกซ้อนขึ้นในตัวผู้อ่านตามมา…
แม้หนังสือเล่มนี้มีแนวโน้มจะถูกมองผ่าน ‘สายสะพายการเมือง’ แต่มันก็ห่างไกลจากการเป็นบทวิจารณ์ปากจัดหรือคำประกาศศึกที่สาแก่ใจลูกหาบ ไม่ได้วางท่ามาดมั่นว่าจะเทศนาสั่งสอนหรือชี้ทางสว่างสาวกตนไหน ไม่ได้รายงานเปิดโปงเรื่องฉาวโฉ่ประหนึ่งมุดอยู่ใต้เตียงแหล่งข่าวคนใด และไม่ได้ประกาศตัวเป็นงานวรรณกรรมโอ่อ่าบนราชบัลลังก์ รัชสางตาข่ายข้อเท็จจริงในงานข่าวสารให้กว้างพอที่กลวิธีทางวรรณกรรมจะแทรกตัวเข้าไปได้ ไม่ว่าการละชื่อจริงในหนังสือเล่มนี้มาจากเหตุผลเชิงกฎหมายหรือไม่ ภาวะ ‘นิรนาม’ ของสามัญชนไม่ได้ทำให้ตัวบทเจือจางลงเลยสักนิด จริงอยู่ว่านักอ่านบางกลุ่มพอจะเดาชื่อของบุคคลในหนังสือได้โดยไม่ต้องพยายามอะไร แต่นี่ก็ไม่ใช่เกมใบ้คำที่รอใครมาไข เพราะปริศนาอะไรก็ไม่สำคัญต่อตัวบทในหนังสือเล่มนี้อยู่ดี
นอกจาก ‘ชื่อจริง’ ไม่เป็นสาระในดินแดนวิปลาส ‘ตัวบทต้นตอ’ ของความวิปริตก็ไม่ถูกเอ่ยถึงเช่นกัน อาจเป็นเพราะ ‘ใครที่ไหนก็เดาได้’ ใช่หรือเปล่า? แง่หนึ่งก็คงใช่ เพราะต้นตอความฉิบหายในประเทศนี้มันเดายากซะที่ไหน แต่สิ่งสำคัญกว่านั้นคือ รัชกรีดแผลตายจากกฎหมายอัปลักษณ์ให้ ‘เป็น’ ขึ้นมาด้วยการสลัดหลุดจากการเป็นเพียง ‘สัญลักษณ์’ ที่เบ็ดเสร็จในตัวมันเอง — จาก ‘ตัวบทต้นตอที่ทุกคนรู้ว่าคืออะไร’ ขยายไปเป็น ‘ตัวบทใดๆ’ ที่ยอมให้ผู้อ่านได้เข้าแทรกแทนที่จะรวบรัดการอ่านให้เป็นประหนึ่งแผลตาย หรือล้อมความหมายไว้ในคำขวัญเชิงต่อต้านหรือปลุกใจที่พูดอีกก็ถูกอีก รัชเขียนถึงสามัญชนอย่างมีเลือดมีเนื้อ มีสายใยซับซ้อน แบกภาระหนักอึ้งในชีวิต หรือพลาดท่าเพียงเพราะเมา บุคคลทั้งหลายเหล่านี้มีตัวตน ในดินแดนวิปลาส ผ่านคำบรรยายความรู้สึกนึกคิดของพวกเขา และคำคุณศัพท์แทนชื่อเฉพาะ: หนุ่มตี๋ ตัวเล็ก ขาวซีด, เกย์ผู้มีชีวิตชีวา, ป้าสลอธแสนเชื่องช้า, เด็กหนุ่มที่มีรอยยิ้มน่าประทับใจ ฯลฯ
เมื่อในดินแดนวิปลาส ไม่ได้พยายามให้ภาพอย่างแจ่มแจ้งแดงแจ๋ หนังสือเล่มนี้ไม่ควรถูกรวบรัดด้วยฉลาก ‘ภาพแทนเรื่องราวของเหยื่อทางการเมืองภายใต้กฎหมายอาญามาตรา 112’ จนผู้อ่านไม่อาจเห็นเป็นอื่นหรือเห็นพ้นไปจากกรอบการมองนั้นได้อีก เพราะถ้าการอ่านจะมีคำตอบเบ็ดเสร็จชัดเจนเสียปานนั้น ถ้างานรีวิวเป็นได้แค่การพยักหน้าหงึกๆ ว่าเราเป็นพวกเดียวกัน หรืองานวิจารณ์เป็นเพียงการอำนวยอวยธงคำตอบหรือทฤษฎีที่ปักรอไว้ เรายังเขียนและอ่านกันต่อไปทำไม?
ลองมองกฎหมายอาญามาตรา 112 ว่าเป็นตัวบทหนึ่ง มันก็คือตัวบทวิปลาสที่เขียนเพื่อกดข่มไพร่ฟ้า บงการว่าอะไรคือสิ่งที่ ‘พูดได้-เขียนได้’ อะไรที่ ‘ถูกต้อง’ และอะไรที่ ‘ยอมรับไม่ได้’ (คำสัมพันธ์ระหว่าง ‘author’ และ ‘authority’ ไม่ใช่เรื่องบังเอิญแน่นอน) ในเงื่อนไขนี้ เราควรอ่านอย่างไรเพื่อย้อนเกล็ดตัวบทที่หวังจะล่ามจินตนาการทางการเมืองไว้แต่ในกฎเกณฑ์วิปริต? การอ่านเพียงทวนซ้ำเรื่องเล่าที่เคยชินนั้นมีจุดบอดเสมอ และ paradox จะเกิดตรงนี้: ต่อให้ตัวบททางประวัติศาสตร์และการเมืองจะห้อยท้ายว่า ‘ต่อต้าน’ หรือ ‘ขบถ’ ที่แชร์ทีไรสหายก็ชมว่าแสนจะราดิคั่ลนั้นก็อาจจะจบตรงเรื่องเล่าที่กักขังพลังทางการเมืองมากกว่าจะปลดแอก อย่าลืมว่าการแข็งข้อต้องนับรวมการอ่านเข้าไปด้วย การอ่านที่มีพลังหลอกหลอนหรือหนุนเสริมจินตนาการต่อโลกที่เป็นไปได้นอกเหนือกฎเกณฑ์ไวยากรณ์ของผู้มีอำนาจ ตัวบทจึงไม่เคย (และไม่ควร) ลงรอยกับหลักการทางเมืองและทฤษฎีใดๆ อย่างเรียบกริบจนไม่เหลือพื้นที่ไหนให้ผู้คนได้มีสิทธิย้อนถามกลับไปยังระบบคุณค่าที่มันชูขึ้นมาเป็นคำตัดสินไม่ใช่หรือ?
ใครบางคนเคยพูดกับฉันว่า คำพิพากษาจำนวนไม่น้อยทำให้เขาสับสนกับบทอาเศียรวาท ฉันบอกทริคไปว่า เมื่อสติเริ่มหลุดลอยให้คอยจับคำว่า “พิเคราะห์แล้วเห็นว่า” จะทำให้สามารถหาทางกลับมาห้องพิจารณาได้ (ไพล่, 55)
ลองคิดดูว่านี่เป็นตลกร้ายเบอร์ไหน — กฎหมายที่คอยบงการชีวิตประชาชนมีอำนาจตีความตัวบทอย่างล้นเกินจนเข้าขั้นวิกลจริต ยังไม่นับหลักการวางกล้ามและผู้บังคับใช้ที่หมายจะกดหัวผู้อื่นตามลำดับชั้นแบบไทยๆ ประชาชนผู้ไม่สามารถใช้เครื่องมืออย่างเจนจัดจึงไร้อำนาจ ‘แก้ต่าง’ หรือ ‘ตีความสวนทาง’ ในพื้นที่นั้น (กรณีนี้คือ ‘ศาล’) ที่วางความสัมพันธ์ของอีกฝ่ายให้อยู่ตำแหน่งบอดใบ้ไร้ภาษาตั้งแต่แรก ในบทความชื่อ “On Writing and Rights” โฮมิ บาบา วิจารณ์ข้อจำกัดในแนวทางรณรงค์สิทธิมนุษย์ที่สนใจเพียงภาษากฎหมายและนโยบาย ครั้นจะใช้แรงหนุนทางภาษาอย่างกวีและวรรณกรรม นักรณรงค์กลับมองว่ามันเป็นเพียง ‘เครื่องมือ’ หรือ ‘ภาพแทน’ บันทึกความโหดร้ายในประวัติศาสตร์ ความทรงจำ ความอยุติธรรม ความสัมพันธ์ทางเดียวเช่นนี้ไม่เปิดให้ตัวบท ‘พูดกลับ’ ผ่านการเมืองภายในเครื่องมือที่ใช้ได้เลย การมองตัวบทเช่นนี้จะต่างอะไรกับความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนกับบทอาเศียรวาทยาวเหยียดของศาล ตัวบทกฎหมายเจ้าปัญหา ไปจนถึงการถือสิทธิการพูดอยู่บนบัลลังก์เพียงฝ่ายเดียวของผู้เชี่ยวชาญที่ผลักไสการดิ้นรนภายในทั้งที่เป็นภาวะทางอารมณ์ความรู้สึกของมนุษย์และหลุมโพรงของภาษาที่ไม่อาจชี้ชัดด้วยหลักฐานตามเกณฑ์และเกมที่อำนาจออกแบบไว้:
“ผมรับสารภาพทั้งน้ำตา ผมไม่ได้พูดว่ารับสารภาพเลย เพราะมันพูดไม่ได้ น้ำตามันไหลสะอึกจุกที่อก ผมได้แต่พยักหน้า” (ไพล่, น. 49)
ในห้องพิจารณาคดี ในพื้นที่ที่ตัวบทอาเศียรวาทและคำพิพากษาถือสิทธิใหญ่สุด รัชเขียนถึง ‘เขา’ ที่ใช้ร่างกายพูดค้านตัวบทกดหัวคน แม้ว่าศาลจะไม่สนใจ (หรือไม่สามารถมองเห็น) ตัวบทบนร่างกายนั้นก็ตาม คำถามต่อมาคือ แล้วการ ‘สวนกลับ’ ที่ว่ามันเป็นอะไรได้บ้าง? ขอย้อนไปหาโฮมิ บาบาที่มองว่าการรณรงค์สิทธิมนุษยชนมีข้อจำกัดเพราะมัวแต่ใช้ไวยากรณ์และวาทศิลป์ที่ชี้วัดคุณค่าโดยอำนาจสถาบันเพียงอย่างเดียว ถ้าจะเปิดให้ประชาชนสวนกลับได้จริง เขามองว่าภาษาสิทธิมนุษยชนต้องไม่ติดแหง็กอยู่เพียงการร้องขอเชิงนโยบาย แต่คือการเปิดให้ตัวบทเชิงอารมณ์ความรู้สึก เรื่องเล่าปรัมปรา จังหวะกระท่อนกระท่อน ภาษาของความตายที่ไม่ว่าจะเป็นการปล่อยให้ตายหรือบังคับสูญหาย ได้มีพื้นที่อยู่ยืนเคียงข้างการเรียกร้องทางนโยบายไปพร้อมกัน:
คนทรงบางคนบอกว่าเขายังมีชีวิตอยู่ บางคนบอกติดต่อไม่ได้ บางคนบอกเขาตายไปแล้วและไปสู่สุขคติไม่ได้เนื่องจากไม่ได้ทำพิธีเผาร่าง… [...] “ผมถามหมอที่ชันสูตรแล้ว ที่พ่อโดนทุบหน้าจนและ มันเกิดจากที่เขาตายแล้ว อย่างน้อยเขาก็ไม่ทรมาน” (ไพล่, 66-67) แม่คิดอยู่เสมอว่าเขายังอยู่ หมอดูบอกว่าอีก 3 ปีเขาจะกลับมา (พายุ, 104)
สามัญชนในตัวบทของรัชพูดถึงโลกที่ไม่มีคนไหนหรือกลุ่มใดวางท่าอยู่บนราชบัลลังก์ โปรดอย่าลืมว่าการมองจากมุมสูงที่ว่าไม่ได้หมายถึงแค่อำนาจของสถาบันอย่างกษัตริย์ ศาล รัฐบาล ศาสนา ฯลฯ แต่ควรนับรวมอำนาจทางความรู้อันผูกอยู่กับภาษาของผู้เชี่ยวชาญที่หมายจะตรวจจับความแปร่งประหลาดเข้าไปด้วย
5
หนังสือ ในดินแดนวิปลาส ออกมาในจังหวะพอดิบพอดี มันไม่ใช่ ‘สิ่งสะสมล่วงเวลา’ ไม่ล้าสมัยอย่างที่รัชออกตัวไว้ในบทนำเลยสักนิด มันคือการยืนยันและยืนหยัดพื้นที่ของเรื่องเล่าสามัญชน เพื่อว่าผู้คนในประวัติศาสตร์ที่ถูกผลักให้อยู่ในภาวะรองบ่อนจะได้หลั่งน้ำตาในเรื่องเล่าของตนเองที่ไม่ต้องมีใครมาคอยกำกับว่าควรรักใคร พอใจกับอะไร และชีวิตที่ดีคือแบบไหน แต่ไม่ว่าจะแรงประทุครั้งนี้จะมีหน้าตาเป็นความหวังหรือความคั่งแค้น ไม่ว่าจะเรื่องราวของ ‘สามัญชน’ ที่ส่งต่อถึงรัชที่เป็น ‘นักข่าว’ หรือเรื่องเล่าจะเกิดจากการปะติดปะต่อส่วนโหว่แหว่งด้วยกลวิธีแบบวรรณกรรมโดยรัชที่เป็น ‘นักเขียน’ มันก็ต่างหวังลึกๆ ว่าจะเกิดใหม่ได้อีกครั้งผ่านการอ่านและการเล่าต่อ… คล้ายกับท่อนหนึ่งในบทวีของแอนท์จี คร็อก:
To breathe to breathe yes to breathe Language has never been useless or fake.
ตอนเธออ่านบทกวีชิ้นนี้ ฟังราวกับประโยคเหล่านั้นหลอมไปกับลิ้นและลมหายใจตัวเอง เสียงที่ออกมาแทบไม่ได้ยินถ้าไม่ตั้งใจฟัง แผ่วเบาจนกระทั่งยักษ์โง่แถมโอหังจับความอะไรไม่ได้ถ้าไม่เดินลงมาจากราชบัลลังก์ — เสียใจด้วย ไม่มีใครสนใจชะเง้อคอคุยกับคุณแล้วล่ะ ใครจะเสียเวลาสาธยายความอัปลักษณ์ของยักษ์ใจทรามในเมื่อเราต่างเห็นกันอยู่ตำตา? — หรือเพราะเหตุผลนี้ ในดินแดนวิปลาส จึงไม่ใช่ข้อเขียนที่จับจ้องเพื่อพิสูจน์ความอำมหิตของอีกฝั่ง ไม่ใช่ภาษาของการอ้อนวอนผู้ทรงอำนาจให้ลองเงี่ยหูฟัง ไม่ใช่ภาษาของการสารภาพเพื่อให้ใครไถ่ถอนบาปที่เราไม่ได้ก่อ แต่รัชเขียนจากลมหายใจรวยรินที่พูดสวนกลับเรื่องเล่าทางการที่วางท่าสยายปีกมานานเหลือเกิน คือเสียงไต่ถามความยุติธรรมที่ได้ทอดทิ้งผู้คนประเทศนี้ไปนานแล้ว:
...มีใครเสนอหนทางแก้แค้นเล็กๆ ให้กับเขา (พายุ, น. 88)
…จะเกินไปไหมถ้าฉันพูดว่า รัชได้หาทางระบายน้ำหนักกระเป๋าผ่านกลไกของการเขียนเพื่อให้ ‘สามัญชน’ บุคคลไร้นามเหล่านี้หาทางแก้แค้นผ่าน ‘ตัวบทลูกผสม’ อันเกิดจากสนามของสื่อมวลชนและงานวรรณกรรม ร่างกายที่เคยถูกผลักไสพูดกลับมาด้วยลมหายใจรวยรินว่า “Nothing will protect you, not even your bloody law; the people will win, not today, not tomorrow, but we surely will.” [ขอแปลไทยดังนี้: “ไม่มีอะไรคุ้มกะลาหัวมึงได้ กฎหมายระยำเสื่อมค่า ประชาชนจะมีชัย ไม่ใช่วันนี้หรือพรุ่งนี้ แต่ชัยชนะจะมาถึงแน่นอน”]
อย่าถามเลยว่านี่คือความหวังหรือความคั่งแค้น ใครจะแยกได้ และจะแยกไปทำไมกัน — ลองถามรัชดีกว่าว่าตกลง “ป้าคนนั้นเขาโพสต์ว่าอะไร?”.
.
.
.
**ขอบคุณภาพประกอบบทความจาก Paragraph Publishing**
จุฑา |
judha
judha is a writer, editor, and grave gazer.
judha is a writer, editor, and grave gazer.
judha is a writer, editor, and grave gazer.
judha is a writer, editor, and grave gazer.