ตื่นตาตรึงใจซ้ำเล่า บนพังผืดความเจ็บปวดร่วมอันแตกระแหง

Written By

เจนจิรา จินตนาเลิศ | Janjira Chintanalert

พื้นที่ทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าสีขาว

ฉันมองเห็นเก้าอี้สีใสหนึ่งตัวตั้งเด่นสง่าบนยอดกองของวัตถุเม็ดเล็กละเอียดคล้ายเม็ดทรายสีขาวสะอาด กองพะเนินเป็นลักษณะคล้ายภูเขาลูกเล็กๆ ตั้งอยู่กลางพื้นที่คล้ายห้องสีเหลี่ยมผืนผ้าสีขาว ก่อนที่ตัวอักษร B O R R O W จะปรากฎขึ้นกลางหน้าจอ เป็นสัญญาณว่าการแสดงนี้กำลังจะเริ่มต้นขึ้นแล้ว กล้องตัดสลับนักแสดงสี่คนเดินเข้าสู่พื้นที่ทีละคน โดยบนพื้นที่จะมีคนเพียงหนึ่งคนที่ผู้รับชมได้เห็น ตัดสลับกันไปกันมา พร้อมๆกันกับที่กล้องหมุนให้ได้เห็นศิลปินเจ้าของผลงาน ดุจดาว วัฒนปกรณ์ ยืนอยู่หลังจอมอนิเตอร์ด้านนอกบริเวณกรอบห้องสีขาว บนอาณาบริเวณเหมือนสตูดิโอถ่ายทำ เธอหันหน้าเข้าสู่พื้นที่ ให้ความรู้สึกถึงบทบาทของผู้กำกับที่ในมือมีกระดาษอันเป็นชุดคำถามสำหรับกระบวนการแสดงนี้

ผู้กำกับกล่าวเตรียมพร้อมนักแสดงทั้งสี่โดยการบอกให้ ‘เข้าครองพื้นที่’ และวางตัวเองลงบนบริเวณที่รู้สึกโอเค นักแสดงแต่ละคนเริ่มเยื้องย่างร่างกาย นักแสดงสามคนจบการเตรียมพร้อมของตัวเองด้วยการนั่งลงบนเก้าอี้ใสที่ยอดกองทราย ขณะที่คนหนึ่งเลือกนั่งลงปะทะกับพื้นผิวของกองภูเขาทรายใกล้ๆเก้าอี้ 

B O R R O W คืองานศิลปะการแสดงเชิงทดลอง (Experimental Performance) ที่ตั้งคำถามต่อสภาวะ  ‘ความเป็นเจ้าของ’ และ ‘การหยิบยืมจากคนอื่น’ บนร่างกายของบุคคลที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกัน 2 คู่ (แม่กับลูก และ พี่น้องฝาแฝด) ผ่านการโยนคำถามจากบทที่อ่านโดยศิลปินเจ้าของผลงาน ซึ่งทุกการตอบคำถาม นักแสดงแต่ละคนจะเริ่มปลดเปลือยความในใจหรือความเปราะบางภายในร่างกายของตนเอง 

งานทดลองนี้ถูกถ่ายทอดผ่านพื้นที่เทศกาลศิลปะการแสดงแบบออนไลน์ในเดือนกันยายน ค.ศ. 2021 ช่วงปีที่สองของวิกฤตการณ์การระบาดของไวรัสโควิด19 ให้บรรยากาศการรับชมการแสดงที่ถูกตัดต่อไว้ล่วงหน้าแล้วจากการถ่ายทำกับนักแสดงครั้งละ 1 คนบนพื้นที่ สิ่งที่ถูกถ่ายทอดต่อสายตาผู้รับชมจึงคือภาพตัดสลับกันไปกันมาของการปลดเปลื้องผัสสาอารมณ์ของนักแสดงทั้งสี่คนพร้อมๆกับการโยนคำถามเซตเดียวกันโดยผู้กำกับ ในระยะเวลาประมาณหนึ่งชั่วโมงกว่าๆ   

หลังจากที่นักแสดงทั้งสี่คนวางร่างกายลงสู่พื้นที่ ชุดคำถามก็เริ่มกระทำการ โดยช่วงแรกยังเป็นเพียงการถามทั่วๆไปเพื่อได้บริบทของแต่ละบุคคล — คนหนึ่งเป็นแม่ที่เป็นครูและเจ้าของโรงเรียนสอนเต้นแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ 

(ต้อย) อีกคนเป็นลูกสาวของแม่ต้อยและประกอบอาชีพเป็นนักแสดงกับนักเต้น (หลอดไฟ) อีกคนประกอบอาชีพเป็นทหาร (สตางค์) ส่วนคนสุดท้ายเป็นพี่น้องฝาแฝดของคนที่เป็นทหารแต่ทำอาชีพในวงการสร้างสรรค์(สแตมป์)


“สตางค์กลัวคนจะมองสตางค์ไม่ดีไหมคะ?”

“อันนี้เป็นบทบาทหรือเป็นความพยายามคะ?” 

ให้ตอบตรงกันข้ามกับสิ่งที่คิด, ให้ยิ้มขณะตอบ, ให้ตอบด้วยการตะโกนให้ดัง  

ระหว่างที่การทดลองดำเนินไป ตัวบทในมือของผู้กำกับไม่เพียงก้าวย่างอย่างแน่บเนียนล้ำเส้นขอบของการเป็นเพียงชุดคำถาม แต่รวมไปถึงการมีอำนาจนำ รับบทเป็นร่างกายหลักอันไร้ร่างอยู่ตรงกลางของชิ้นงาน ผ่านการผันตนเป็นคำถามที่ถามต่อจากคำตอบ และเป็นคำสั่งการเพื่อจัดแจงร่างกาย

นำมาซึ่งบรรยากาศอันคล้ายการยิงกระสุนคำถามและคำสั่งการเพื่อได้คำตอบอันมากไปกว่าเสียงที่เปร่งออกเป็นคำตอบ แต่เพื่อปลดพันธนาการเกราะที่กำบังสภาวะเปราะบางอันฝังลึกอยู่ในจิตใจของนักแสดงแต่ละคนให้เฉิดฉายลงบนพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นน้ำเสียงที่เปลี่ยนไปหลังจากถูกผู้กำกับยิงคำถามที่กระเทาะเปลือกจิตใจ, ร้องไห้ออกมาเมื่อถูกจี้จุดปมส่วนตัวในใจ, หรือท่าทีของการเคลื่อนไหวร่างกายที่เปลี่ยนไปหลังจากที่ตัวบทสร้างเงื่อนไขกำหนดการแสดงออกของร่างกายเอาไว้

การแสดงให้บรรยากาศคล้ายการบำบัดหน้ากล้อง บนฉากจัดวางทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าสีขาว ที่ผู้กำกับหรือเรียกอีกอย่างว่าผู้ทดลองกระบวนการกำลังกุมอำนาจเบ็ดเสร็จในการยิงคำถาม และผู้รับชมสามารถเฝ้าดูความรู้สึกอันเปราะบางของนักแสดงแต่ละคนที่ก็รู้ว่ามีกล้องถ่ายอยู่ ค่อยๆถูกคลี่ออกได้อย่างละเอียดถี่ถ้วน

1

ดินแดน ‘ระหว่าง’

“คุณกำลังรู้สึกโกรธ”

“คุณกำลังรู้สึกผิดหวัง” 

ผู้กำกับกล่าวสะท้อนความรู้สึกของนักแสดงบนพื้นที่

และหลังจากตอบคำถามหนึ่งที่ฉันจำใจความไม่ได้ สแตมป์ก็เริ่มร้องไห้ออกมาพร้อมกับสีหน้าเจ็บปวด ส่วนหลอดไฟก็เริ่มแผดตะโกนออกด้วยน้ำเสียงที่เต็มไปด้วยความคับแค้นขุ่นเคืองผ่านใบหน้าเปือนยิ้มตามคำสั่งการ ก่อนที่กล้องจะตัดสลับให้ผู้รับชมได้เห็นผู้กำกับหลังจอมอนิเตอร์ที่ไม่ได้แสดงอารมณ์ใดๆมากนักและยิงกระสุนคำถามต่อไป 

บรรยากาศคละคลุ้งไปด้วยสภาวะทางอารมณ์อันแตกต่างอย่างสิ้นเชิงระหว่างผู้ทดลองและผู้ถูกทดลอง อำนาจของบทในมือผู้กำกับมอบหมายให้เธอกลายเป็นผู้ปลดเปลื้องอารมณ์ที่มีเกราะกำบังแข็งแกร่ง ท่าทีไร้ความรู้สึกขณะยิงคำถามและกล่าวนิยามความรู้สึกของนักแสดงนั้นทำให้เธอดูเป็นต่อและแข็งแรงเหนือกว่า ขณะเดียวกันกับที่นักแสดงทั้งสี่ที่เป็นผู้ถูกปลดเปลี้องความเปราะบางโดยชุดคำถามนั้นเร่ิมค่อยๆดูอ่อนยวบเปราะบางลงเรื่อยๆราวกับโดนกระสุนกระหน่ำใส่ร่างซ้ำๆ

การที่ผู้รับชมสามารถมองเห็นได้ถึงเส้นแบ่งระหว่างพื้นที่อันซ้อนทับของบริเวณฉากห้องสีขาวที่ตั้งอยู่บนบริเวณที่มีลักษณะคล้ายสตูดิโอถ่ายทำอีกที สำหรับฉันมันคือตำแหน่งแห่งที่ของการมองเห็นเส้นแบ่งที่ไม่เพียงเน้นย้ำระหว่างอำนาจในการควบคุมที่ไม่เท่าเทียมกันของบทบาทของนักแสดงกับผู้กำกับ แต่มันยังทำให้สงสัยว่าผู้กำกับหลังจอมอนิเตอร์นั้นกำลังแสดงตามบทบาทหรือกำลังกำกับอยู่จริงๆ? และผัสสาอารมณ์ที่แห่แหนออกจากร่างกายของนักแสดงแต่ละคนที่เหมือนจะใช้ตัวตนจริงๆในการแสดงนี้ถูกซักซ้อมมาก่อนแล้วหรือคือความรู้สึกที่เกิดขึ้นจริง ณ ขณะที่ถ่ายทำ? 

การจะหาคำตอบคงไม่สำคัญไปกว่าสิ่งที่ตกกระทบสู่สายตาผู้รับชมแล้ว นั่นต่างหากที่สะกิดให้ฉันสนใจตั้งข้อสังเกตต่อ เพราะชัดเจนว่าผู้รับชมกำลังถูกทำให้เชื่อว่าสิ่งที่เห็นอยู่นั้นคือสภาวะทางอารมณ์ที่แท้จริง บนบรรยากาศที่คล้ายกับกำลังรับชมเบื้องหลังเทปบันทึกรายการ Reality Show 

บรรยากาศคล้ายการรับชม Reality Show นี้กำลังสร้างพื้นที่ ‘ระหว่าง’ ที่ฉันหมายถึง — ระหว่าง สภาวะที่ผู้รับชมไม่สามารถเข้าใกล้เพื่อรู้สึกร่วมไปกับความเปราะบางของนักแสดงได้มากพอ เพราะการที่มองเห็นการจัดฉากของบริเวณพื้นที่สีขาวให้ความรู้สึกไกลตัว ที่ผัสสาอารมณ์ของนักแสดงนั้นดูปรุงแต่งไม่สมจริง กับ สภาวะของความรู้สึกใกล้ชิดสนิทสนม (intimacy) ที่ตัวบทหยิบยื่นให้คนดูผ่านการชำแหละให้เห็นถึงความเปราะบางภายในที่มีความเป็นเรื่องส่วนตัวมากๆของนักแสดงจากการตอบชุดคำถาม 

เมื่อผู้รับชมถูกทิ้งเคว้งให้ยืนอยู่บนพื้นที่ก้ำกึง เป็นลูกผสม เป็นสองแง่สองง่าม ระหว่างความห่างไกลกับความใกล้ชิด พร้อมประสบการณ์ของการเฝ้าดูอันรู้สึกอึดอัดไม่สบายตัว  ฉันที่รับรู้ตนว่ากำลังอยู่ในบทบาทของผู้รับชมจึงไม่จำเป็นต้องทำอะไรมากไปกว่าการเฝ้าดูต่ออย่างสอดรู้สอดเห็น บนดินแดงระหว่าง ที่มองเห็นนักแสดงแต่ละคนถูกหยิบยืมร่างกายไปเพื่อปลดเปลื้องอารมณ์ โมโห โกรธจจนร้องไห้ เสียใจ ผิดหวัง คับแค้น ฯลฯ และนำมาจัดวางให้รับชมบนพื้นที่ทรงสี่เหลี่ยมสีขาว

ดินแดนระหว่างนี้ยังทำให้สงสัยถึงความสมจริงของผัสสาอารมณ์กับการจัดฉาก หากการแสดงนี้คือภาพยนตร์ที่นักแสดงทั้งสี่รวมถึงผู้กำกับคือตัวละคร การจัดพื้นที่ให้กลายเป็นฉาก (Mise-en-Scene) คงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรเพราะภาษาภาพยนตร์จะสร้างนัยยะของเรื่องสมมุติที่ทำให้เข้าใจว่าอำนาจเหนือของผู้กำกับบนพื้นที่เองก็เป็นบทบาทที่วางไว้แล้วอย่างโปร่งใส แต่ถ้าหากรับชมในมุมของศิลปะการแสดงเชิงทดลอง และอินตามไปกับการถามตอบของบทสนทนาอันสนิทชิดเชื้อที่นำกระบวนการโดยตัวบท ก็ปฏิเสธได้ยากว่าเรากำลังดูการบำบัดจิตใจหน้ากล้องกันอยู่จริงๆ และถ้าหากเป็นเช่นนั้นแล้ว ประเด็นการยินยอมให้รับชมการบำบัดจิตใจก็จะเป็นเรื่องที่ต้องนำมาพิจารณาต่ออย่างตรงไปตรงมา 

แต่ในเมื่อศิลปินกล่าวไว้ในช่วงของการเสวนาออนไลน์หลังการแสดงไว้แล้วว่า แม้มีอาชีพเป็นนักจิตบำบัด เธออยู่บนพื้นที่นี้ในฐานะศิลปินเต็มตัว สิ่งที่ฉันอยากชวนพิจารณาต่อไปจากศิลปะการแสดงเชิงทดลองนี้จึงคือประเด็นการจัดวางความเปราะบางออกกล้อง เพราะอย่างไรก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่ากระบวนการที่ปรากฎต่อผู้รับชมแล้วนั้นยังคงให้กลิ่นอายของการกะเทาะเปลือกจิตใจนักแสดงต่อหน้าสาธารณชน ซึ่งเป็นคนละกระบวนการกันอย่างสิ้นเชิงกับการบำบัดจิตใจที่มีจุดประสงค์ชัดเจนเพื่อการเยียวยาในระดับส่วนตนบนที่ทางที่สามารถควบคุมขอบเขตของพื้นที่ปลอดภัยไว้ได้ 

2

ดวงตาทั่วทิศในเทปบันทึก 

อำนาจเบ็ดเสร็จของมุมกล้องเผยตนอย่างกล้าหาญที่สุดเมื่อสตางค์กล่าวว่า “ผมขอหันไปด้านข้างแล้วค่อยตอบได้ไหมครับ?”  ก่อนที่จะต้องตอบคำถามหนึ่งที่จะกระทบกระเทือนจิตใจ 

มันเป็นจังหวะที่น่าติดตามต่อ เพราะนี่เป็นครั้งแรกและครั้งเดียวที่นักแสดงเผยอากับอาการขัดขืนและขอประณีประณอมต่ออำนาจของชุดคำถาม แต่ก็ต้องผิดหวังเมื่อผู้กำกับกล่าวอนุญาตและสตางค์หมุนเก้าอี้ไปทางด้านขวาของคนดู ฉันกลับยังซึมซับผัสสาอารมณ์ของเขาได้ชัดเจนเพราะกล้องถ่ายทำยังคงหมุนตามไปรับหน้าของเขา 

ซูมเข้า ซูมออก โฟกัสไปที่มือ ตัดกลับไปที่ใบหน้าด้านหน้า โฟกัสไปที่ใบหน้าด้านข้าง สำรวจส่วนต่างๆของร่างกายนักแสดงได้ตามอำเภอใจ อีกครั้งที่ความชอบธรรมของมุมกล้องทั่วสารทิศให้บรรยากาศของการรับชมภาพยนตร์

“คนที่ Disarmed ที่สุดในพื้นที่นั้นคือดาวเอง”

ดุจดาว วัฒนปกรณ์กล่าวในช่วงของการเสวนาออนไลน์ผ่านโปรแกรม Zoom ที่ฉันมีโอกาสได้รับชมจากทางเทปบันทึกภายหลัง เธอเล่าถึงกระบวนการตัดต่องานว่าหลังจากได้ดูเทปบันทึกการแสดงหลังการตัดต่อก็พบตัวเองถูกถ่ายจากหลากหลายมุมกล้องโดยที่ไม่รู้ตัวเลย  พร้อมกล่าวเสริมว่ากระบวนการหลังการผลิตนั้นเป็นการทำงานร่วมกันเป็นทีมกับกลุ่มคนที่ไว้วางใจให้ตัดต่อถ่ายทำ

ถ้าหากการถ่ายทำที่มีมุมกล้องราวกับดวงตาทั่วทิศนี้จะต้องหมายถึงการจำยอมให้อำนาจในการควบคุมกำกับผลงานลอยเคว้งอยู่บนอณูอากาศ เมื่อผู้รับผิดชอบผลงานกลายเปลี่ยนเป็นหมู่คณะมากกว่าเพียงตัวศิลปินเอง รูปแบบและวิธีการที่จะใช้ในการเคลื่อนย้ายศิลปะการแสดงสดสู่ที่ทางออนไลน์จึงเป็นอีกประเด็นที่สมควรพิจารณาอย่างละเอียดถี่ถ้วน เพราะในแง่มุมหนึ่ง ความเป็นออนไลน์ที่จำเป็นต้องตัดขาดจากการเชื่อมโยงสัมพันธ์กันของผู้แสดงและผู้รับชม ไม่ว่าจะเป็นการพบปะกันบนพื้นที่การแสดงสด, หรือการพูดคุยสนทนากันต่อหน้าหลังรับชม กลับยิ่งมอบอภิสิทธิ์ให้กับการตัดต่อถ่ายทำให้ลอยตัวอยู่เหนือกว่าในการควบคุม และในกรณีของ B O R R O W ที่ไม่ใช่การแสดงสด การตัดต่อยิ่งลอยตัวสูงกว่าเดิมจากการไม่จำเป็นต้องเชื่อมโยงสัมพันธ์กับผู้รับชมบนพื้นที่ของเวลา เพราะสิ่งที่ผู้รับชมได้ปะทะคือผลงานลอยตัวที่ปลายสายพานการผลิต นั่นก็คือเทปบันทึกภาพการแสดงที่ถูกตัดต่อ, คัดเลือก, และคัดสรรมาก่อนแล้ว

มากไปกว่าประเด็นที่ชัดเจนว่าผู้รับชมได้รับสารสำเร็จรูปที่ถูกออกแบบและจัดวางมาเสร็จสรรพแล้วนั้น ที่น่าตั้งคำถามต่อคือกระบวนการถ่ายโอนงานศิลปะการแสดงสู่ภาษาทางภาพยนตร์นั้นได้มอบอำนาจในการเป็นผู้กำหนดภาพที่จะปรากฎต่อสายตาผู้รับชมไปสู่ใครบ้าง? หากศิลปินผู้เป็นเจ้าของผลงานที่ผู้รับชมเห็นอยู่ว่ายืนกำกับอยู่หลังจอมอนิเตอร์นั้นไม่สามารถมีส่วนรับผิดชอบในการควบคุมกระบวนการหลังการผลิตได้ ความเป็นผู้กำกับของเธออาจเป็นบทบาทของนักแสดงที่ถูกกำกับและจัดวางโดยผู้กำกับตัวจริงหลังฉากอีกที ถ้าเช่นนั้นแล้ว ใครเป็นเจ้าของผลงาน B O R R O W

3

ความเปราะบางอันน่าตื่นตาตื่นใจ

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้อิทธิพลเหนือของมุมกล้องและการตัดต่อถ่ายทำจะมีส่วนช่วยในการเน้นย้ำและแสดงให้เห็นถึงการพยายามจัดวางผัสสาอารมณ์เพื่อนำมาเป็นจุดดึงดูดความสนใจของการแสดง ก็ยังเห็นได้ชัดว่าสิ่งที่มีอำนาจควบคุมมากกว่าต่อการเผยความเปราะบางที่แอบซ่อนในแต่ละร่างกายนั้นยังคงเป็นชุดคำถามบนผืนกระดาษอันประกาศก้องของตัวบท ที่แม้การแสดงจะถูกจัดขึ้นบนที่ทางการแสดงสด ตัวบทก็ยังคงสามารถทำงานเป็นตัวบีบเค้นอารมณ์นักแสดงและผู้รับชมได้อย่างมีประสิทธิภาพอยู่ดี 

“ชีวิตเป็นของคุณกี่เปอร์เซ็นต์?”

หลังจากผู้กำกับประกาศคำถามนี้จากกระดาษในมือ กล้องตัดไปที่ใบหน้าของหลอดไฟ และต่อด้วยใบหน้าของแม่ต้อยที่กำลังตอบคำถาม ในวินาทีนั้น เสียงของคำตอบถูกตัดออกให้เงียบหายไป เหลือเพียงภาพเคลื่อนไหวของใบหน้านักแสดงกับปากที่ขยับพรั่งพรูไร้เสียง (ในความเงียบงันนั้น ฉันได้ยินเสียงของตัวเองดังกึกก้อง ความโกรธเกลียดกับความผิดหวังประทุขึ้นจากความไม่พอใจต่อปัจจัยทางสังคมและรากวัฒนธรรมการปกครอง บางความสัมพันธ์ในชีวิต, บทบาทความเป็นแม่, เป็นลูกสาว กำลังบงการชีวิตฉันบางส่วนอยู่จริงๆ) 

ฉันกลับมารับรู้ตัวว่าหลุดออกจากการรับชมการแสดงและเคลื่อนตัวเข้าสำรวจความเปราะบางในใจตัวเองไปเสี้ยวนาที ก็เมื่อได้ยินเสียงที่ถูกเซนเซอร์ให้เงียบไปตอนแรกหลั่งไหลกลับมาอีกครั้ง (เศษแก้วที่แตกเกลื่อนกลาดอยู่แล้วในร่างกายฉันเองเพิ่งถูกสะกิด นี่ฉันกำลังถูกทดลองอยู่ด้วยรึเปล่า?) 

เมื่อกลับมาโฟกัสกับการแสดงที่รับชมอยู่ตรงหน้า ฉันพบว่าความเจ็บปวดภายในร่างกายตัวฉันเองที่แม้เอ่อขึ้นมาอย่างใกล้ชิดสนิทสนมเมื่อสักครู่ มันกลับทาบประทับไม่สนิทกับเรื่องราวที่กำลังรับชมอยู่ ความเปราะบางในตัวฉันเองถูกดึงขึ้นผิดที่ผิดเวลา มันอาจกำลังถูกกระบวนการที่มีตัวบทเป็นแก่นกลางนำมาจัดแสดงบทพื้นที่สีขาว คำถามจากตัวบทอาจกำลังชวนฉันให้ไปนั่งลงบนเก้าอี้สีใสชั่วครู่ในดินแดนทางความคิดและจิตใจของตัวเอง

ฉันหวนรำลึกถึงตอนที่รับชมงาน HUMANIMAL หรือ สัตว์มนุษย์ (2019) ของดุจดาว วัฒนปกรณ์ ที่มีลักษณะคล้ายกันกับงานนี้ หากแต่จัดแสดงการทดลองบนพื้นที่การแสดงสด ที่ผู้ถูกทดลองหนึ่งคนจะเข้าไปอยู่ในตู้ใสทรงสี่เหลี่ยม และผู้ทดลองนั่งอยู่ด้านนอก หันหน้าประจันกับกล่องใส อ่านชุดคำถามจากกระดาษในมือ  พร้อมกับมีผู้รับชมนั่งอยู่ขนาบข้างซ้ายและขวา การทดลองแบ่งออกเป็น 16 รอบ กับผู้ถูกทดลองที่แตกต่างกันไป รอบที่ฉันได้รับชมคือรอบที่ศิลปินเจ้าของผลงานสลับบทบาทเป็นผู้ถูกทดลองในตู้กระจกใส และมีผู้ทดลองรับเชิญซึ่งมีภูมิหลังเป็นนักบำบัดเป็นผู้อ่านชุดคำถาม ตู้กระจกใสทำให้ได้ยินเสียงของสัตว์มนุษย์ในตู้ไม่ชัดเจนนัก จึงมีจอเล็กๆฉายซับไตเติ้ลสำหรับให้ผู้รับชมอ่านวางอยู่ด้านข้าง 

“อะไรคือบาดแผลของคุณ?” หรือ “ประเทศที่คุณอยู่เป็นแบบไหนคะ?” เป็นคำถามจากปากผู้ทดลองที่ฉันหวนจำได้ เพราะเขตแดนของ ‘ดินแดนระหว่าง’ สำแดงตน ณ จังหวะนั้นเช่นกัน ในห้วงขณะของการจ้องมองความเปราะบางในตู้กระจกที่ให้ความรู้สึกห่างอันไกลโพ้น (ศิลปินในตู้ใส เคลื่อนไหว สีหน้าเจ็บปวด แผดตะโกนไร้เสียง) ความเปราะบางที่ผุดขึ้นจากภายในร่างกายของฉันเองก็สำแดงตนให้ฉันได้รู้สึก ผ่านการตอบคำถามอันใกล้ชิดสนิทสนมเหล่านั้นด้วยตัวฉันเอง  

ผ่านการจัดองค์ประกอบฉากการแสดงให้ดูเหนือจริง ความเจ็บปวดของสัตว์มนุษย์ภายในกล่องใสที่โอดครวญเงียบสงัดตรงหน้าแสดงตนบนพื้นที่ที่ให้ความรู้สึกห่างไกล แม้อยู่บนพื้นที่การแสดงสด จุดนี้ต่างกันกับการรับชม B O R R O W ตรงที่แม้ดูผ่านพื้นที่ออนไลน์ แต่มุมกล้องอันสอดส่องกลับบีบเค้นให้รู้สึกสงสารนักแสดงได้มากกว่า รวมถึงคำถามจากตัวบทที่เกี่ยวข้องกับบทบาทและความสัมพันธ์ทางสังคม — ความเป็นแม่, เป็นลูกสาว, เป็นพี่, เป็นน้อง กระโจนตัวเข้าใกล้ผู้รับชมได้ง่ายกว่าการจัดวางให้นักแสดงเป็นเหมือนสัตว์ทดลองในการแสดงสัตว์มนุษย์ ที่พอมีพื้นที่ให้เว้นระยะระหว่างอัตลักษณ์ของผู้รับชมกับนักแสดง

B O R R O W จึงมอบบรรยากาศของการพยายามทำให้ดูสมจริงเพื่อเชื่อมโยงผัสสาอารมณ์ที่ถูกจัดวางกับเรื่องของร่างกายทางสังคม

แต่กระบวนการจัดวางความเปราะบางให้ได้ชื่นชมจะพาประชาชนในระดับสังคมไปทางไหนต่อ? ขณะที่อำนาจนำของตัวบทสามารถกระทำการเบ็ดเสร็จในการนำความเปราะบางมาจัดวางให้ผู้ชมได้ดูอย่างตื่นตาตื่นใจ และฉันที่เป็นผู้รับชมก็รู้สึกตื่นเต้นประหลาดใจที่ผัสสาอารมณ์ภายในของตัวเองสามารถถูกขุดคุ้ยขึ้นมาจัดวางให้ตัวเองได้รับรู้ผ่านประสบการณ์ร่วมในการรับชมงานศิลปะไปพร้อมๆกัน การรับชมความเจ็บปวดในระดับส่วนตัวของคนอื่นนั้นสร้างความตระหนักรู้ถึงความเปราะบางทางสังคมอย่างไร? 

ฉันนึกถึงกระบวนการจัดวางความเปราะบางลักษณะที่คล้ายกันนี้ ทั้งในที่ทางศิลปะ รวมไปถึงงานสร้างสรรค์เชิงพาณิชย์ที่จัดวางโดยสื่อสารมวลชน อันมักหยิบยืมความเปราะบางของมนุษย์มาเป็นเครื่องมือในการสร้างภาพชีวิตในอุดมคติ สร้างความตื่นตาตื่นใจ ซึ้งกินใจ ประทับใจ น่าสงสารเวทนาจับใจ และส่งท้ายด้วยการผลักความรับผิดชอบในการเยียวยาบาดแผลจากความสัมพันธ์และโครงสร้างทางสังคมให้เป็นเรื่องของปัจเจกบุคคล 

คำถามอย่าง ชีวิตเป็นของคุณกี่เปอร์เซ็นต์? ใน B O R R O W ให้ความรู้สึกคล้ายกับบรรยากาศการรับชมรายการข่าวโต๊ะสัมภาษณ์เพื่อความบันเทิง ที่มักเกาะกระแสเหตุการณ์ทั่วไปทางสังคมอย่าง เหตุการณ์อุบัติเหตุ ฆาตกรรม ความเคลื่อนไหวของบุคคลที่ทำงานในพรรคการเมือง ฯลฯ ในจังหวะที่พิธีกรเค้นผู้ถูกสัมภาษณ์ด้วยคำถามอย่าง คุณรู้สึกอย่างไร? เพื่อให้ได้ภาพของผัสสาอารมณ์นำมาจัดวางเด่นสง่าน่าตื่นตาตื่นใจกว่าแก่นสารของเนื้อความ หรือในจังหวะที่เสียงพากย์ในโมษณาประกันชีวิตหลากหลายชิ้นที่มักใช้ภาพเล่าเรื่องราวการมีความสุขแบบปัจเจกที่สามารถเริ่มได้ด้วยตัวเอง กำลังตั้งคำถามซึ่งก้ำกึ่งว่าถามตัวละครหรือถามผู้รับชม กับคำถามอย่างเช่น ในชีวิตคุณ อะไรคือสิ่งที่คุณต้องการมากที่สุด? (Unsung Hero, Thai life Insurance, 2014) หรือ  ถามตัวเองว่าเราคือใคร ควรจะทำอะไร? (Life Purpose, Thai life Insurance, 2020) ราวกับประชาชนในสังคมที่มีปัจจัยในชีวิตอันแตกต่างหลากหลายไม่เท่าเทียมกันจากสภาวะอันเหลื่อมล้ำทางอำนาจ ทั้งในระดับเศรษฐกิจ วัฒนธรรม สังคม รวมถึงความเหลื่อมล้ำทางอำนาจในระดับอัตลักษณ์ จะสามารถก้าวเข้าสู่การมีชีวิตที่มีความสุขทางอุดมคติได้จากการตอบคำถามเหล่านี้ไปพร้อมๆกัน 

มากไปกว่านั้น นอกจากกระบวนการตั้งคำถามเพื่อสนับสนุนส่งเสริมให้สำรวจความเปราะบางภายในของตัวเองนั้นจะแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์เชิงอำนาจอันไม่เท่าเทียมผ่านบทบาทอันชัดเจนของการเป็นผู้ถามและผู้ตอบคำถามแล้ว ยังแสดงให้เห็นถึงการกดขี่ผ่านการจัดการยักย้ายโดยกระบวนการ ที่สนันบสนุนให้ผู้ตอบซึมซับอย่างฝังใจ (internalise) สู่ทัศนคติทางสังคมที่เหมารวมว่าความเปราะบางภายในนั้นเป็นเรื่องส่วนตัวทั้งหมด เป็นของใครของมันไปซะทุกเรื่อง และการแก้ไขนั้นอยู่ในความรับผิดชอบระดับส่วนตนเสมอๆ ราวกับปัจเจกทุกคนมีต้นทุนอย่างเท่าเทียมกันในการเริ่มต้นโอบกอดความเปราะบางภายในของตัวเอง ละไว้ซึ่งความจริงที่ว่าความเปราะบางทางจิตใจหลากหลายเรื่องนั้นก็มีรากมาจากการกดขี่เชิงอำนาจในระดับโครงสร้าง 

การใช้ความต่างของอำนาจในการกดขี่ผ่านกระบวนการลักษณะนี้ใน B O R R O W สมควรถูกยอมรับได้มากกว่าเพียงเพราะอยู่ในรูปแบบของการบำบัดออกกล้องบนพื้นที่ของศิลปะการแสดงหรือ? เมื่อการผลิตซ้ำกระบวนการจัดวางความเปราะบางเพื่อความตื่นตาตื่นใจนี้ที่มักถูกผลิตซ้ำๆจนกลายเป็นความปกติทางสังคม นอกจากจะไม่ได้ช่วยบ่อนเซาะความเหลื่อมล้ำเชิงอำนาจระหว่างบทบาทอันหลากหลายทางสังคมแล้ว ในเวลาเดียวกันอาจทำหน้าที่เป็นเมฆหมอกที่บดบังการมองเห็นรากแก้วของปัญหาความเปราะบางทางเศรษฐกิจและการตั้งคำถามอย่างตรงไปตรงมาต่ออำนาจเชิงโครงสร้างผ่านการนำเสนอความเปราะบางให้เป็นเรื่องของปัจเจกบุคคล

4

ความเปราะบางเพื่อคานอำนาจ บนพังผืดความเจ็บปวดร่วม

“ตรงไหนของชีวิตบ้างที่เป็นของคุณ?” B O R R O W สิ้นสุดลงด้วยวลีสั้นๆนี้ ฉายขึ้นกึ่งกลางหน้าจอทับภาพของพื้นที่สีขาวที่ค่อยๆจางลง

หลังเสพสันต์งานศิลปะออนไลน์ ฉันก็กลับมาเผชิญหน้าความเจ็บปวดในระดับส่วนตนอีกครั้งเมื่อเปิดข้อมูลตัวเลขของยอดผู้ปวดโควิดภายในประเทศไทยสะสมประจำวันที่ 3 กันยายน ค.ศ. 2021 รวมอยู่กว่าหนึ่งล้านห้าแสนราย กับรายงานข่าวการจัดเตรียมโรงพยาบาลสนามท้องถิ่นแห่งหนึ่งที่จะใช้ศาลาประชาคมของตัวอำเภอเป็นจุดพักผู้ป่วย ฉายพร้อมภาพประกอบของผู้ป่วยโควิดระดับสีเหลืองนอนบนเตียงชั่วคราวที่ทำจากกระดาษลังเรียงเป็นตับ 

บางทีความเจ็บปวดเปราะบางอาจสามารถถูกทำให้ดูตื่นตาตื่นใจได้ง่ายดายผ่านการมองว่ามันเป็นเรื่องของคนอื่นในพื้นที่ไกลตัว แต่สิ่งที่ฉันจะชวนพิจารณาคือความเปราะบางนอกพื้นที่การทดลอง — ความเปราะบางอันเป็นต้นตอของความเจ็บปวดร่วมในชีวิตจริงที่เป็นเรื่องปกติธรรมดาของสังคมปัจจุบัน ที่มีต้นเหตุอันโยงใยจากความสัมพันธ์ทางระบบเศรษฐกิจและปกครองที่พัวพันกันไกลกว่าความสัมพันธ์อันใกล้ชิดและครองพื้นที่ในร่างกาย ที่แม้ถูกคลี่ออกและแสดงให้เห็นแล้ว ก็อาจไม่สามารถจะยึดคืนเป็นเจ้าของได้ด้วยการสำรวจพินิจพิจารณาผ่านการตอบชุดคำถามทางจิตวิทยา

ความเจ็บปวดเปราะบางเหล่านี้นั้นใกล้ตัว แต่แตกระแหงกระจัดกระจายอยู่ตามท้องถนนหนแห่ง ไม่ว่าจะเป็นการเข้าถึงทรัพยากรทางการแพทย์ได้อย่างไม่เท่าเทียมกันของประชาชนไทยในช่วงวิกฤตการณ์โควิด19 หรือการที่ชาวนาไทยที่ทำนาข้าว อาหารหลักของชาวไทย ตามรูปแบบนโยบายของรัฐแต่กลับมีหนี้สินส่วนตนเพิ่มขึ้นจนต้องออกมาประท้วงกลางกรุงเทพฯเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลโอบอุ้ม  (ความโกรธ, ความทุกข์ใจ, ความปล่าวเปลี่ยวโดดเดี่ยว ความรู้สึกไม่ถูกโอบอุ้มค้ำจุน ประกาศก้องเต็มท้องถนน) (ม๊อบชาวนา, กรุงเทพฯ, มีนาคม ค.ศ.2022) ความเปราะบางเหล่านี้เชื่อมโยงกันเป็นพังผืดความเจ็บปวดร่วมของคนในสังคมอยู่เป็นปกติธรรมดา หากแต่มักถูกนำเสนออย่างกระจัดกระจาย รวมทั้งยังถูกจัดวางให้เป็นเรื่องของปัจเจกผ่านกระบวนการลักษณะที่กล่าวไปข้างต้น จนบดบังการมองเห็นถึงความเหลื่อมล้ำกดทับอันเชื่อมโยงสัมพันธ์ต่อกันและกันของคนในสังคม

‘จน เครียด กินเหล้า’ วลียอดฮิตจากสื่อโฆษณาสร้างสรรค์เพื่อการรณรงค์ลดการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (2005) มีอิทธิพลอย่างมากในการสร้างมายาคติที่ตีตราปัญหาความยากจนในสังคมไทยว่าปัจจัยหลักหนึ่งคือการดื่มเหล้า ตลอดเกือบ 20 ปีที่ผ่านมาแม้มีการเปลี่ยนแปลงทางกระบวนทัศน์ไปมากแล้ว ภาพจำและนัยยะของวลีนี้ยังคงเป็นที่เข้าใจได้ตรงกันของสาธารณชนไทย 

วิดิโอโฆษณาสร้างภาพ ‘ความจน’ ที่มีความหมายเชื่อมโยงไปถึง ‘ความเปราะบางทางสังคม’ นำเสนอผ่านผู้ชายคนหนึ่งนั่งอยู่ในบ้านลักษณะเก่าๆโทรมๆ พร้อมกับเสียงบรรเลงแบบดนตรีชนบทไทยเป็นเสียงประกอบฉาก ชายคนนั้นกระดกน้ำเมาจากขวดเหล้าเข้าปากทุกครั้งหลังพูดว่า ‘จน! เครียด! กินเหล้า!’ วนซ้ำแล้วซ้ำเล่า 8 รอบ และตั้งแต่รอบที่ 6 เป็นต้นไปก็มีเสียงพากย์ทับพูดดังกว่าเสียงของตัวละครหลัก อธิบายประมานว่า ‘ถ้าเลิกเหล้าก็จะไม่จน’ พร้อมปิดท้ายด้วยการขึ้นภาพกราฟฟิกชื่อแคมเปญว่า เลิกเหล้า เลิกจน 

เห็นได้ชัดว่านอกจากงานสร้างสรรค์นี้นำความเปราะบางทางเศรษฐกิจที่เป็นปัญหาแบบร่วมมาจัดวางเพื่อเป็นเครื่องมือในการสื่อสารเพื่อตีตราความจนว่าเป็นเรื่องของปัจเจกบุคคลแล้ว ยังเสนอต่อด้วยว่าความจนนั้นสามารถแก้ไขได้ง่ายดายด้วยการเลิกซื้อเหล้า ความเจ็บปวดร่วมถูกนำมาจัดวางให้เห็นเพื่อผลักไส ให้กลืนเก็บสู่ร่างกายกลายเป็นปัญหาความเปราะบางภายในของตัวบุคคล หาใช่เพื่อโอบอุ้มเผชิญหน้าเพื่อแก้ปัญหาร่วมกัน ตามที่โฆษณากำลังเสนอว่าความจนควรถูกผลักไสออกไปให้ไกลตัว และปัจเจกสามารถเริ่มได้ด้วยตัวเองเพื่อหนีห่างมัน 

ค่านิยมการสร้างภาพความเปราะบางเพื่อกระตุ้นความรู้สึกสงสารต่อผู้อื่น และตั้งคำถามถึงความแข็งแกร่งยืนหยัดได้ในความสัมพันธ์กับผู้คนบนสังคมแห่งตลาดเสรีของตัวปัจเจกเองเพื่อเยียวยาผู้เสพให้รู้สึกแข็งแรงมีกำลังใจ ผ่านการจัดวางองค์ประกอบฉากให้มีผู้มีอำนาจเหนือกว่าเป็นผู้กำหนดภาพความจริงของเรื่องราว อย่างที่ใน B O R R O W คือผู้ทดลอง และในแคมเปญโฆษณา ‘จน เครียด กินเหล้า’ คือเสียงพากย์ทับ ยังคงถูกผลิตซ้ำอย่างต่อเนื่องในงานสร้างสรรค์รูปแบบต่างๆ ในปัจจุบันของสังคมไทย ที่เจตนารมณ์หลักของการนำเสนอมักถูกบดบังด้วยการจัดการยักย้ายผ่านความน่าตื่นตาตื่นใจของผัสสาอารมณ์ที่กลายเป็นใจความหลักซะเอง แต่การป้อนผู้รับชมด้วยผัสสาอารมณ์เพื่อบีบเค้นผัสสาอารมณ์นี้อาจเป็นการเยียวยาแบบชั่วคราวไม่ต่างกับการเสพสันต์เพื่อความบันเทิง 

บนที่ทางของแวดวงศิลปะ เราจัดวางความเปราะบางแบบปัจเจกไปเพื่ออะไร? การที่ผู้รับชมก้าวล้ำเข้าไปเห็นบาดแผลส่วนบุคคลของคนอื่นจะสามารถแสดงให้เห็นถึงความเจ็บปวดร่วมเพื่อเพิ่มอำนาจแบบกลุ่มให้ประชาชนได้อย่างไรบ้าง? ซาร่าห์ อาห์เมด เสนอในหนังสือ Complaint! (Sarah Ahmed, 2021) ว่าผัสสาอารมณ์อย่าง ความโกรธ ความคับแค้นใจ การบ่นก่นด่าถึงสภาวะของความเป็นเหยื่อจากการถูกกดขี่ ของปัจเจกบุคคลนั้นแทนที่จะถูกปิดประตูใส่ให้กู่ก้องอยู่หลังประตูอย่างที่มักเป็นเสมอมาเพียงเพราะผู้บ่นใช้อารมณ์มากกว่าเหตุผลนั้น หากถูกปลดปล่อยให้การบ่นยังคงอยู่ เปิดประตูรับฟัง และนำมานำเสนอเพื่อถักทอความเจ็บปวดร่วมอันแตกระแหงให้ถูกเห็นอย่างเป็นปึกแผ่น อารมณ์อันเปราะบางเหล่านี้จะสามารถสร้างพลังร่วมเพื่อคานอำนาจนำได้ 

การจัดวางอารมณ์ใน B O R R O W สำหรับฉันจึงเป็นการจุดประเด็นให้ตั้งคำถามถึงการคลี่ออกและถ่างดึงให้เห็นถึงต้นตอของพังผืดความเจ็บปวดร่วมอันโยงใยทางสังคมผ่านงานศิลปะ ว่าน่าสนใจหารือต่อไปเพื่อสรรค์สร้างวิธีการนำเสนอ หากการสร้างสรรค์นั้นๆมีเจตนารมณ์ในการเยียวยาสังคมแบบกลุ่ม เพราะความเจ็บปวดร่วมที่หลบซ่อนอยู่ตามร่างกายของแต่ละบุคคลนั้นคือเรื่องจริงธรรมดาที่ต้องการการถูกเห็นอย่างตรงไปตรงมา ต้องการการเยียวยาอย่างเร่งด่วนและยั่งยืนกว่าเพียงการหยุดไว้ที่แค่การบรรเทาชั่วคราว และมันก็น่าเศร้าเกินไปที่ความจริงอันเป็นต้นตอของความเจ็บปวดร่วมเหล่านี้จะถูกวางทิ้งไว้ให้หล่นหาย ลอกมาเพียงเปลือกผิวของผัสสาความรู้สึก นำมาผลิตซ้ำเพียงเพื่อความตื่นตาตื่นใจ และผลักกลับคืนสู่ร่างกายให้เป็นปัญหาของปัจเจกบุคคลดังเดิม.

เจนจิรา จินตนาเลิศ |
Janjira Chintanalert

เจนจิรา จินตนาเลิศ นักเขียนผู้สนใจการเขียนแบบไร้รูปแบบและการเขียนเพื่อระบายอารมณ์ เธอเชื่อว่าการเขียนเป็นเครื่องมือสำรวจชั้นดีในการปลดพันธนาการเสียงที่ซ่อนอยู่ภายในร่างกาย

Janjira Chintanalert is a writer interested in free-form and expressive writing. She finds writing as an explorative tool for a body to liberate its authentic voice.

เจนจิรา จินตนาเลิศ นักเขียนผู้สนใจการเขียนแบบไร้รูปแบบและการเขียนเพื่อระบายอารมณ์ เธอเชื่อว่าการเขียนเป็นเครื่องมือสำรวจชั้นดีในการปลดพันธนาการเสียงที่ซ่อนอยู่ภายในร่างกาย

Janjira Chintanalert is a writer interested in free-form and expressive writing. She finds writing as an explorative tool for a body to liberate its authentic voice.