Editorial Workshop #1

Written By

ซอย สควอด | soi squad

ทีมซอยขอเปิดตัวเวิร์คช็อปบรรณาธิการโดยชวนคนทำงานหนังสือมาร่วมพูดคุยเกี่ยวกับ *กระบวนการบรรณาธิการ* ในระหว่างวันที่ 6-7 สิงหาคม 2022 เวลา 12:00-18:00 — ผู้ที่สนใจเข้าร่วมโปรดกรอก google form ตามลิ้งค์นี้ https://forms.gle/Uu6m7B8vUyk6NKiW6

วิทยากรที่เราเชิญชวนมาได้แก่ นิชานันท์ นันทศิริศรณ์ จาก สำนักพิมพ์ Anthill Archive, ชนมน วังทิพย์ จากสำนักพิมพ์มติชน, ภาคิน นิมมานนรวงศ์ บรรณาธิการและนักแปลอิสระ, และไทเรล ฮาเบอร์คอน นักวิชาการและนักแปลอิสระ, พร้อมด้วยทีมบก. จากสนพ.ซอย

ตารางเวิร์คช็อป: 

วันที่ 6 สค. — ทีมบก.ซอย และไทเรลจะร่วมแชร์โครงการบรรณาธิการที่กำลังปลุกปั้นร่วมกัน แล้วชวนมองย้อนกลับไปยังประวัติศาสตร์และการเมืองของการนิยามคุณค่าเพื่อนำมาคัดเลือกตัวบทเพื่อแปลและตีพิมพ์ นั่นก็คือกระบวนการบรรณาธิการที่ไม่ใช่เป็นการทำงานไล่หลังแต่คือการสร้าง initiative สำหรับอ่านตัวบทเพื่อเป้าหมายหนึ่ง หลังจากนั้นภาคินจะชวนผู้เข้าร่วมเวิร์คช็อปลองตรวจตัวบทแปลไทย (บางส่วน) จากบทความชื่อ *Situated Knowledges: The Science Question in Feminism and the Privilege of Partial Perspective* ของ Donna Haraway เพื่อลองสำรวจดูว่าการแปลและการบรรณาธิการที่ทำ ‘ร่วมกัน’ นั้นเป็นไปได้จริงแค่ไหน และเผยให้เราเห็นอะไรบ้าง

วันที่ 7 สค. — นิชานันท์และชนมนจะร่วมกันแลกเปลี่ยนประสบการณ์ จนไปถึงข้อจำกัดและเงื่อนไขสารพัดในกระบวนการทำงานบรรณาธิการที่แต่ละฝ่ายได้เรียนรู้มาจากสนามจริงคนละสนาม ขณะที่นิชานันท์ผู้เรียนหลักสูตรบรรณาธิการรุ่นแรก ฝึกหัดงานบรรณาธิการในสำนักพิมพ์อื่น กระทั่งตัดสินใจทำงานลุยเดี่ยวผ่าน Anthill Archive ที่เธอก่อตั้งขึ้น จนสะสมบทเรียนจากการล้มเองและเจ็บเองตามประสาสำนักพิมพ์ขนาดเล็ก ในสนามของระบบสำนักพิมพ์ใหญ่ที่ชนมนรับตำแหน่งบรรณาธิการอยู่ ทำให้เธอได้รู้ว่างานบรรณาธิการคือการระดมสกิลสารพัดแบบ งานบรรณาธิการไม่ใช่การรวบรวมต้นฉบับเพื่อกลับมาทำงานกับตัวเองเงียบๆ คนเดียวอย่างที่เคยเข้าใจ การหาที่ทางให้กับตัวบทแต่ละประเภทคือศาสตร์ของกระบวนการบรรณาธิการที่เลยพ้นจากพื้นที่หน้ากระดาษไปสู่ความโยงใยอื่นๆ ที่บรรณาธิการไม่อาจละเลยได้

*เวิร์คช็อปนี้รับจำนวนจำกัด*

*สถานที่เวิร์คช็อปคือ Bangkok 1899 

เกี่ยวกับวิทยากร

นิชานันท์ นันทศิริศรณ์ เริ่มลากเส้นต่อจุดงานบรรณาธิการด้วยการเป็นบรรณาธิการฝึกหัดในสนพ.ผีเสื้อ หลังจากรับงานบรรณาธิการและพิสูจน์อักษรอิสระกับสนพ.ต่างๆ อยู่พักหนึ่ง จึงลุกมาก่อตั้ง Anthill Archive เพราะยังเชื่อในวรรณกรรมไทยและต้องการให้ต้นฉบับทุกชิ้นได้รับความคิดเห็นหลังการอ่านอย่างจริงจัง ผลงานที่ Anthill Archive จัดพิมพ์แล้ว ได้แก่ กวีนิพนธ์ *ระบำจักรวาล* ของชินรัตน์ สายอุ่นใจ (2019)  รวมเรื่องสั้น *โอ้แม่มหากวีศรีศตวรรษที่21* ของนันดานี (2020)  และนวนิยาย *พรุ่งนี้ไม่เศร้า* ของนิรันดร์ รักสำราญ (2021)

ชนมน วังทิพย์ บรรณาธิการจากสำนักพิมพ์มติชน ที่ผ่านมาได้เป็นบรรณาธิการนวนิยาย *24-7/1* ของ ภู กระดาษ และ *สามฤดูเป็นหนึ่งใจ* ของ อุรุดา โควินท์ รวมถึงหนังสือ *เขียนชนบทให้เป็นชาติ* โดย เก่งกิจ กิติเรียงลาภ, *รักนวลสงวนสิทธิ์* โดย ภาวิณี บุนนาค, *No Hurry, No Worry*  โดย พิชญา โชนะโต, *Livable Japan* โดย ปริพนธ์ นำพบสันต และ *สงครามเย็น (ใน) ระหว่าง โบว์ขาว* โดย กนกรัตน์ เลิศชูสกุล

​​ภาคิน นิมมานนรวงศ์ ทำงานแปล บรรณาธิการ และสอนหนังสืออยู่ที่จังหวัดระยอง ผลงานบรรณาธิการแปลที่ผ่านมาคือ *อเทวนิยม ฉบับกระชับ* โดย Julian Baggini (สนพ. Illuminations Editions), *มานุษยวิทยา: ความรู้ฉบับพกพา* โดย John Monaghan and Peter Just (สนพ Bookscape), และ *ความหมายของชีวิต* โดย Susan R. Wolf (สนพ. Illuminations Editions) 

ไทเรล ฮาเบอร์คอน เป็นนักวิชาการและอาจารย์สอนอยู่ที่ภาควิชา Asian Languages and Cultures ที่มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน นอกจากนั้นไทเรลยังเป็นนักแปลที่ขยันขันแข็งและผลิตงานออกมาอย่างสม่ำเสมอ (แม้หลายครั้งเธอจะไม่ยอมบอกใครก็ตาม) และเป็นผู้ประสานงานโครงการ Justice in Translation (https://seasia.wisc.edu/sjsea-project/jsealab/justice-in-translation/) ผลงานแปลจากไทยเป็นอังกฤษของไทเรลมีตั้งแต่หนังสือ *มันทำร้ายเราได้เท่านี้แหละ* ของพรทิพย์ มั่นคง และ *ในดินแดนวิปลาส* ของ รัช รวมไปถึงข้อเขียนกึ่งประวัติศาสตร์กึ่งฟิคชั่น ไทเรลกำลังร่วมทำโครงการบรรณาธิการกับสำนักพิมพ์ซอย เพื่อคัดสรรข้อเขียนภาษาไทยเพื่อตีพิมพ์ในสองภาษาในอนาคต

ซอย สควอด |
soi squad

ซอย | soi or ‘soi squad’ accounts the practices of writing, translating, and publishing for its transformative power in giving an access to knowledge. This stance has driven us to explore these practices through multiple facets.

ซอย | soi or ‘soi squad’ accounts the practices of writing, translating, and publishing for its transformative power in giving an access to knowledge. This stance has driven us to explore these practices through multiple facets.